บมจ.เอ็นพีพีจี (ประเทศไทย) (NPPG) แจ้งว่าที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทเมื่อวานนี้ (14 ส.ค.) อนุมัติให้นำเสนอที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2562 ที่จะมีขึ้นในวันที่ 27 ก.ย.62 เพื่อพิจารณาอนุมัติการเปลี่ยนแปลงชื่อและตราประทับของบริษัท และการเปลี่ยนแปลงชื่อย่อหลักทรัพย์ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนชื่อบริษัท จากเดิมบม.เอ็นพีพีจี (ประเทศไทย) เป็น บมจ.โกลบอล คอนซูเมอร์ และเปลี่ยนชื่อย่อหลักทรัพย์ จากเดิม "NPPG" เป็น "GLOCON" เพื่อสะท้อนกลยุทธ์การเติบโตแบบใหม่ในตลาดโลกและขยายตลาดเข้าสู่กลุ่มผู้บริโภคมากขึ้น
NPPG ชี้แจงเพิ่มเติมว่า การเปลี่ยนชื่อเป็น Global Consumer Public Company Limited เพื่อสะท้อนให้เห็นการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ธุรกิจ (Business Strategy) เข้าสู่ตลาดผู้บริโภค (Consumer Market) เต็มรูปแบบทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตามผลประกอบการไตรมาส 2/62 ที่บริษัทมีรายได้ 299.5 ล้านบาท เปรียบเทียบกับ 282.2 ล้านบาทในงวดเดียวกันของปีที่แล้ว เติบโตขึ้น 6.1%
ขณะที่บริษัทมีกำไรจากการดำเนินการ 3.3 ล้านบาท ขาดทุนจากเงินลงทุนชั่วคราว 6.3 ล้านบาท สามารถลดการขาดทุนได้อย่างชัดเจนเป็นกำไรเล็กน้อยจากธุรกิจหลัก โดยปรับการบริหารจัดการแบบ Turnaround เช่น ลดสาขา QSR ที่ขาดทุน เพิ่มการขายสินค้าในส่วนที่มีกำไรขั้นต้นสูงขึ้น บริหารการจัดซื้อลดค่าใช้จ่ายต้นทุนวัตถุดิบ เพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต ลดค่าใช้จ่ายการจัดการ และส่วนกลาง เป็นต้น
ส่วนงวด 6 เดือนแรกของปี 62 มีรายได้สะสมรวม 578.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.2% รายได้ธุรกิจ Packaging ทั้งหมดเป็น 288.9 ล้านบาท ลดลง 8.6% เปรียบเทียบกับรายได้ 6 เดือนของปีก่อน ส่วนธุรกิจขายอาหาร ธุรกิจ Food Service เพิ่มขึ้น 19.6% เป็น 184.5 ล้านบาท ส่วนธุรกิจร้านอาหาร QSR มีรายได้ 105.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณ 10%
บริษัทเล็งเห็นโอกาสของการเติบโตในธุรกิจ Personal health and care products จึงตั้งบริษัทใหม่ Angel Global เพื่อขยายธุรกิจในส่วนนี้และเสริมธุรกิจในเครือด้าน Packaging และอาหาร และเตรียมขยายธุรกิจอาหารในรูปแบบใหม่ที่เข้าถึงผู้บริโภคจำนวนมาก (Mass Market) เพื่อเสริมสร้างธุรกิจเตรียมอาหารให้เพิ่มรายได้และสร้างมูลค่าเพิ่มจากฐานธุรกิจเดิมในธุรกิจ Packaging (55%) ธุรกิจผลิตอาหารที่เป็นวัตถุดิบ (Frozen Seafood) สู่ตลาดส่งออกและอาหารพร้อมรับประทาน (Ready – to - Eat Food) (28%) เข้าสู่ช่องทางจำหน่ายในร้านสะดวกซื้อขนาดใหญ่ (Convenience Store) และธุรกิจร้านอาหารแบบ Quick Service Restaurant (17%)
จากผลประกอบการที่กลับมาเสมอตัวบริษัทฯมีแผนธุรกิจที่จะสร้างการเติบโตและผลกำไรเพิ่ม (Growth) ด้วยการปรับ Business Strategy ใหม่ ซึ่งคาดว่าจะเกิดผลดังนี้
1. เพิ่มกำไรขั้นต้นและเพิ่มรายได้ (Growth) จากธุรกิจใหม่
2. เพิ่มส่วนแบ่งการตลาดและเพิ่มสินค้าที่เข้าสู่ธุรกิจผู้บริโภค (Consumer Sector)
3. สร้างฐานลูกค้าใหม่ในการสร้างมูลค่าเพิ่มและแบรนด์ของบริษัทฯอย่างยั่งยืน
4. ปรับสัดส่วนของรายได้และกำไรให้มาจากธุรกิจอาหาร และธุรกิจ Consumer Health and Care Product มากขึ้น