บมจ.บี-52 แคปปิตอล (B52) แจ้งว่าที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทเมื่อวานนี้ (15 ส.ค.) อนุมัติยกเลิกมติที่ประชุมคณะกรรมการเมื่อวันที่ 27 มิ.ย.62 ที่อนุมัติแผนเพิ่มทุน เนื่องจากมีความจำเป็นต้องใช้เวลาในการจัดเตรียมข้อมูลสารสนเทศและเอกสารที่เกี่ยวข้อง และยกเลิกมติที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทเมื่อวันที่ 26 ก.ค.62 เรื่องการได้มาซึ่งสินทรัพย์เพื่อดำเนินธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์ (E-Commerce Business) โดยการปรับปรุงและพัฒนาแพลตฟอร์ม พร้อมทั้งอนุมัติแผนเพิ่มทุน และการได้มาซึ่งสินทรัพย์ดังกล่าวใหม่ ซึ่งรวมถึงการกำหนดวันประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2562 เพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าวด้วย
ทั้งนี้ คณะกรรมการบริษัทอนุมัติให้เสนอต่อที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2562 ในวันที่ 23 ก.ย.62 พิจารณาลดทุนจดทะเบียนโดยตัดหุ้นที่ยังไม่นำออกจำหน่าย หลังจากนั้นให้เพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 1.48 พันล้านบาท จากเดิม 1.17 พันล้านบาท โดยออกหุ้นเพิ่มทุนใหม่ไม่เกิน 626.2 ล้านหุ้น พาร์หุ้นละ 0.50 บาท แบ่งจัดสรรไม่เกิน 351.2 ล้านหุ้น ให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วน (RO) จำนวน 9 หุ้นเดิมต่อ 2 หุ้นใหม่ เสนอขายหุ้นละ 0.20 บาท คิดเป็นเงินไม่เกิน 70.24 ล้านบาท
ส่วนหุ้นเพิ่มทุนที่เหลือไม่เกิน 275 ล้านหุ้น เสนอขายให้แก่นักลงทุนในวงจำกัด (PP) ได้แก่ บริษัท ทีเจดี จำกัด ในราคาหุ้นละ 0.20 บาท คิดเป็นมูลค่าไม่เกิน 55 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้ทีเจดี ซึ่งมีกลุ่มผู้ถือหุ้นเป็นบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถในธุรกิจค้าปลีก-ส่ง แบบครบวงจร และเป็นผู้ที่มีความสัมพันธ์ทางการค้าทั้งทางตรงหรือทางอ้อมกับร้านค้าชำ-ปลีก ที่ตั้งกระจายอยู่ในทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ เข้ามาถือหุ้นในบริษัทสัดส่วน 12.46%
นอกจากนี้คณะกรรมการยังอนุมัติการเข้าทำรายการได้มาซึ่งสินทรัพย์ ประกอบด้วย 1.การปรับปรุงและพัฒนาแพลตฟอร์ม abc Point และ abc Shopping เป็นแพลตฟอร์ม ทันใจพอยท์ (Tanjai Point) และทันใจช็อปปิ้ง (Tanjai Shopping) 2.ลงทุนในการสร้างแพลตฟอร์ม "ทันใจ เซอร์วิส" (Tanjai Service) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มในการให้บริการทางการเงินเพื่อจ่ายบิลค่าสินค้าและบริการ 3.ลงทุนในการทำสมุดแจ้งสินค้า (Sales Catalog) และสมุดแจ้งรายการสินค้าในระบบออนไลน์ (E-Catalog)
4.ลงทุนในแพลตฟอร์มและซอฟท์แวร์ "ทันใจดิสทริ บิวชั่น" ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มใหม่ที่ใช้เป็นแพลตฟอร์มในการรับออร์เดอร์การสั่งสินค้า บริหารจัดการสต็อกสินค้าของร้านค้าซึ่งเป็นลูกค้าของบริษัท 5.ลงทุนระบบซอฟท์แวร์สำหรับบริหารจัดการเส้นทางขนส่ง (Optimal Routing Management Software) เพื่อสนับสนุนกิจกรรมบริการขนส่งสินค้าให้กับธุรกิจซื้อขายสินค้าอุปโภคบริโภคของบริษัท โดยเมื่อรวมกับเงินทุนหมุนเวียนที่ใช้สำหรับดำเนินโครงการจำนวน 32.5 ล้านบาท จะทำให้มีมูลค่าการลงทุนรวม 70 ล้านบาท
ปัจจุบัน บริษัทประกอบธุรกิจหลัก 3 ประเภท ได้แก่ 1.) ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ 2.) ธุรกิจบริการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ และ 3.) ธุรกิจเป็นศูนย์รวมเครดิตพ้อยท์ และ E-Commerce ทั้งนี้ บริษัทมีแผนที่จะปรับปรุงเทคโนโลยีเดิมและลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ที่จำเป็นต่อการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานและการแข่งขันในธุรกิจที่บริษัทดำเนินงานอยู่ รวมไปถึงการเริ่มดำเนินธุรกิจใหม่เพื่อขยายและต่อยอดการดำเนินธุรกิจเดิม เช่น เพิ่มเติมธุรกิจด้านการขนส่งและกระจายสินค้าเพื่อให้ครอบคลุมการดำเนินธุรกิจของบริษัทอย่างครบวงจรและสามารถตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการได้อย่างรวดเร็วเป็นไปตามรูปแบบตลาดและเทคโนโลยีสมัยใหม่
ดั้งนั้น มีความจำเป็นต้องจัดหาแหล่งเงินลงทุนเพื่อใช้พัฒนาระบบและบริหารจัดการเครือข่ายของร้านค้าปลีก ด้วยออกหุ้นเพิ่มทุนดังกล่าว เพื่อใช้ลงทุนขยายและต่อยอดธุรกิจเดิม ได้แก่ ธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์หรือธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (E-Commerce Business) โดยการปรับปรุงและพัฒนาแพลตฟอร์ม abc Point และ abc Shopping เป็นแพลตฟอร์ม ทันใจพอยท์ (Tanjai Point) และ ทันใจช็อปปิ้ง (Tanjai Shopping) ซึ่งคือแพลตฟอร์มที่ใช้โอนสะสมพ้อยท์จากบัตรเครดิตและพ้อยท์จากการซื้อของอุปโภคบริโภคด้วยเงินสดให้มีมูลค่าสามารถนำไปซื้อ / แลกของทางออนไลน์ โดยมีงบประมาณที่จะใช้ในการพัฒนาแพลตฟอร์ม ทำการโฆษณาและการตลาดให้ลูกค้าจดจำแพลตฟอร์มในชื่อใหม่ คือ Tanjai Point และ Tanjai Shopping เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้นไม่เกิน 5 ล้านบาท
รวมถึงจะใช้เงินลงทุนในการสร้างแพลตฟอร์ม "Tanjai Service" ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มในการให้บริการทางการเงินเพื่อจ่ายบิล เช่น บิลค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า เติมเงินโทรศัพท์มือถือ บิลค่าสินค้า รวมถึงชำระบิลค่าบริการอื่น ๆ เช่น ค่าเบี้ยประกัน ค่าผ่อนชำระสินค้ารายงวด เป็นต้น โครงการนี้มีงบประมาณที่ต้องใช้ในการพัฒนาประมาณ 10 ล้านบาท
ตลอดจนจะใช้ลงทุนในการทำสมุดแจ้งสินค้า (Sales Catalog) และสมุดแจ้งรายการสินค้าในระบบออนไลน์ (E-Catalog) โครงการนี้จะใช้งบประมาณ 2.5 ล้านบาท , เพื่อใช้ลงทุนในแพลตฟอร์มและซอฟท์แวร์ "ทันใจดิสทริบิวชั่น" ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มใหม่ที่ใช้ในการรับออร์เดอร์การสั่งสินค้า บริหารจัดการสต็อกสินค้าของร้านโชว์ห่วยกว่า 120,000 ร้านค้า โดยบริษัทมีงบประมาณลงทุนในแพลตฟอร์มและซอฟท์แวร์ทันใจดิสทริบิวชั่นเป็นจานวนเงินไม่เกิน 10 ล้านบาท โดยจะพัฒนาภายใต้บริษัท หรือ บริษัท ทันใจ ดิสทริบิวชั่น จำกัด
บริษัทมีแผนที่จะใช้เงินประมาณ 27.5 ล้านบาท มาลงทุนในการทำธุรกิจขนส่งและกระจายสินค้าโดยมีเป้าประสงค์ที่จะให้บริการขนส่งสินค้าให้กับธุรกิจซื้อขายสินค้าอุปโภคบริโภคของ บริษัท ทันใจดิสทริบิวชั่น จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่จะจัดตั้งใหม่ ขณะเดียวกันจะใช้เงินเพิ่มทุนอีกไม่เกิน 70.24 ล้านบาทเพื่อรองรับเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการลงทุน และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่าง ๆ
นอกจากนี้คณะกรรมการอนุมัติการออกหุ้นกู้ในวงเงินไม่เกิน 300 ล้านบาท สำหรับหุ้นกู้ระยะสั้นไม่เกิน 270 วัน และสำหรับหุ้นกู้ระยะยาวไม่เกิน 5 ปี เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนและใช้ในการดำเนินธุรกิจและขยายธุรกิจของบริษัทรวมถึงการชำระหนี้คืน (Refinancing)