DELTA แจงปี 50 กำไรโต 60% เหตุต้นทุนขายลดลง ขณะที่กำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้น

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday February 19, 2008 09:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นางสาวนิรมล ตันติพูนธรรม กรรมการ บมจ.เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) (DELTA) ชี้แจงผลการดำเนินงานประจำปี 2550 สำหรับงบการเงินรวม (ฉบับตรวจสอบแล้ว) สิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค. 2550 โดยยอดขายรวมของบริษัทฯ และบริษัทย่อยในปี 2550 ลดลงประมาณร้อยละ 22.5 จากจำนวน 43,554 ล้านบาท (หรือประมาณ 1,155 ล้านเหรียญสหรัฐ) ในปี 2549 ลงเหลือ 33,766 ล้านบาท (หรือประมาณ 975 ล้านเหรียญสหรัฐ) ซึ่งการลดลงมีสาเหตุหลักจากการเพิ่มค่าของเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินดอลล่าร์สหรัฐที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปีก่อน 
ประกอบกับการที่บริษัทฯได้ทำการปรับกลยุทธ์ด้วยการหันมาให้ความสำคัญทางด้านธุรกิจในกลุ่มผลิตภัณฑ์ DES ซึ่งรวมถึงผลิตภัณฑ์เพาเวอร์ซัพพลายสำหรับธุรกิจโทรคมนาคม (Telecom Power Supplies) และเพาเวอร์ซิสเต็ม (Power System) ซึ่งเป็นกลุ่มเพาเวอร์ซัพพลายที่มีระดับเทคโนโลยีสูง และลดการผลิตสินค้าที่มีอัตรากำไรค่อนข้างต่ำ ได้แก่ ทีวีแอลซีดีและผลิตภัณฑ์อื่นๆในกลุ่มจอแสดงภาพลง ทำให้ในปีนี้ผลิตภัณฑ์ในกลุ่ม DES มีอัตราการขายเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 13.9 (หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.8 หากเป็นยอดขายเงินสกุลดอลล่าร์สหรัฐ)
ในขณะที่กลุ่มผลิตภัณฑ์แสดงภาพลดลงถึงประมาณร้อยละ 70 ส่วนผลิตภัณฑ์ในกลุ่มสวิตช์ชิ่งเพาเวอร์ซัพพลายลดลงประมาณร้อยละ 15.5 (หรือลดลงเพียงร้อยละ 6.5 หากเป็นยอดขายเงินสกุลดอลล่าร์สหรัฐ) และกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ลดลงประมาณร้อยละ 6.4 (แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.9 หากเป็นยอดขายเงินสกุลดอลล่าร์สหรัฐ)
ดังนั้น สัดส่วนการขายในเงินสกุลดอลล่าร์สหรัฐส่วนใหญ่ในปี 2550 จึงมาจากกลุ่ม DES ซึ่งมีสัดส่วนการขายเพิ่มขึ้นค่อนข้าง
มากจากร้อยละ 32 ของยอดขายรวมในปี 2549 เป็นร้อยละ 47 ในปี 2550 ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่มีอัตราการเติบโตสูงสุดในกลุ่มนี้คือ เพาเวอร์ซิสเต็มสำหรับอุตสาหกรรมโทรคมนาคมซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึงร้อยละ 33 รองลงมาได้แก่ผลิตภัณฑ์ในกลุ่ม OEM และกลุ่ม Custom Design (CD) ซึ่งเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ19และ16ตามลำดับ
ต้นทุนการขายในปี 2550 ลดลงค่อนข้างมากจากอัตราร้อยละ 81.4 ของยอดขายในปี 2549 เป็นร้อยละ77.7 ของยอดขายในปี 2550 เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนการขายของผลิตภัณฑ์ที่มีระดับเทคโนโลยีสูงให้มีสัดส่วนสูงขึ้นตามที่ได้กล่าวข้างต้น ดังนั้น อัตรากำไรขั้นต้นโดยรวมจึงได้เพิ่มขึ้นอย่างน่าพอใจจากอัตรา ร้อยละ18.6 ของยอดขายในปี 2549 เป็นร้อยละ 22.3 ในปี 2550
ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารในปี 2550 ลดลงร้อยละ 19.9 จากจำนวน 5,821 ล้านบาทในปี 2549 ลงเหลือ 4,662 ล้านบาท แต่เนื่องจากยอดขายลดลงในอัตราที่สูงกว่า จึงทำให้อัตราค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารต่อยอดขายในปี 2550 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากอัตราร้อยละ 13.4 ของยอดขายในปีก่อนขึ้นเป็นร้อยละ 13.8 และจากการที่อัตรากำไรขั้นต้นที่ได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญนั้น ทำให้อัตรากำไรจากการดำเนินงานสามารถปรับตัวสูงขึ้นจากร้อยละ 5.2 ของยอดขายในปี 2549 เป็นร้อยละ 8.5 ของยอดขายในปี 2550 และเมื่อรวมกับรายได้อื่นๆที่ได้เพิ่มสูงขึ้นซึ่งส่วนใหญ่มาจากกำไรจากการแลกเปลี่ยนจำนวน 274 ล้านบาทและดอกเบี้ยรับสุทธิ (หลังหักดอกเบี้ยจ่าย) จำนวน 83 ล้านบาท จึงทำให้กำไรสุทธิรวมเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 60.8 จากจำนวน 1,962 ล้านบาทหรือคิดเป็นกำไรต่อหุ้น 1.58 บาทในปีก่อนเป็น 3,155 ล้านบาทหรือคิดเป็นกำไรต่อหุ้น 2.53 บาทในปี 2550

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ