(เพิ่มเติม) ECF จะลงทุน 57.52% ใน"KPN Academy" มูลค่า 460.18 ลบ. พร้อมเพิ่มทุนแลกหุ้นหนุน"ณพ"เข้าถือหุ้นใหญ่ 15.06%

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday September 23, 2019 10:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.อีสต์โคสท์เฟอร์นิเทค (ECF) แจ้งว่าที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทเมื่อวันที่ 20 ก.ย. อนุมัติให้นำเสนอต่อที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2562 พิจารณาอนุมัติให้บริษัทเข้าลงทุนซื้อหุ้นสามัญของ บริษัท เคพีเอ็น อะคาเดมี จำกัด (KPN Academy) ในสัดส่วนไม่น้อยกว่า 57.52% คิดเป็นมูลค่าไม่น้อยกว่า 460.18 ล้านบาท โดยเป็นซื้อจากกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิม ประกอบด้วย นายณพ ณรงค์เดช , โกลเด้น ไทเกอร์ แอสโซซิเอทส์ แอลทีดี , นายณัฐวุฒิ เภาโบรมย์ และนางแสงเดือน อิ่วบำรุง ซึ่งบริษัทจะชำระค่าหุ้น KPN Academy ด้วยหุ้นเพิ่มทุนของบริษัท ส่งผลให้นายณพ ณรงค์เดช เข้ามาถือหุ้นใหญ่ในบริษัททั้งทางตรงและทางอ้อมด้วยสัดส่วน 15.06% ซึ่งคาดว่าจะมีการโอนหุ้น KPN Academy แล้วเสร็จภายในไตรมาส 1/63

นอกจากนี้บริษัทอยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อขอซื้อหุ้นทั้งหมดใน KPN Academy จากผู้ถือหุ้นรายอื่นเพิ่มเติมภายใต้เงื่อนไขเดียวกันกับกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิม ดังนั้น ในกรณีมีการเปลี่ยนแปลงการจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนเพื่อเป็นค่าตอบแทนสำหรับการซื้อขายหุ้นสามัญที่เพิ่มขึ้น บริษัทจะดำเนินการประชุมคณะกรรมการบริษัทเพื่อปรับแก้รายละเอียดการจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุน (หากมี) ต่อไป

ทั้งนี้ บริษัทจะเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 350.17 ล้านบาท จากเดิมที่ 299.11 ล้านบาท โดยออกหุ้นเพิ่มทุนจำนวน 204.24 ล้านหุ้น พาร์หุ้นละ 0.25 บาท โดยจะจัดสรรหุ้นเพิ่มทุน 191.74 ล้านหุ้น ให้กับนักลงทุนในวงจำกัด (PP) ในราคาไม่ต่ำกว่าขั้นต่ำที่ 2.40 บาท/หุ้น เพื่อเป็นการชำระค่าตอบแทนให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของ KPN Academy จำนวน 4 ราย ที่เสนอขายหุ้นให้กับบริษัท ส่วนที่เหลืออีก 12.5 ล้านหุ้น รองรับการปรับสิทธิใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญของบริษัท (วอร์แรนต์)

ภายหลังการเพิ่มทุนเพื่อชำระและเข้าลงทุนในหุ้นสามัญของ KPN Academy ครั้งนี้ ส่งผลให้โครงสร้างการถือหุ้นของบริษัทเปลี่ยนแปลง โดยนายณพ ณรงค์เดช ถือหุ้น 13.61% ,โกลเด้น ไทเกอร์ แอสโซซิเอทส์ แอลทีดี ถือหุ้น 1.45% ขณะที่นายณพ เป็นผู้รับประโยชน์ของโกลเด้น ไทเกอร์ แอสโซซิเอทส์ แอลทีดีด้วย ดังนั้น โกลเด้น ไทเกอร์ แอสโซซิเอทส์ แอลทีดี จึงเข้าข่ายเป็นบุคคลตามมาตรา 258 แห่งพ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 จึงทำให้นายณพ และบุคคลตามมาตรา 258 ถือหุ้นของบริษัทรวมสัดส่วน 15.06% , นายณัฐวุฒิ เภาโบรมย์ ถือหุ้น 1.16% และนางแสงเดือน อิ่วบำรุง ถือหุ้น 0.44%

ขณะเดียวกันบริษัทถือหุ้นสามัญของ KPN Academy ในสัดส่วนไม่น้อยกว่า 57.52% ซึ่งทำให้บริษัทสามารถขยายการลงทุนไปยังธุรกิจการศึกษาเพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้และกำไรให้กับบริษัทในอนาคต อีกทั้ง ยังสามารถลดความเสี่ยงจากการพึ่งพารายได้หลักจากธุรกิจเฟอร์นิเจอร์

เนื่องจาก KPN Academy และบริษัทย่อย ประกอบธุรกิจที่หลากหลายและมีศักยภาพในการเติบโต กล่าวคือ KPN Academy ประกอบธุรกิจสื่อการสอนออนไลน์ และ ธุรกิจแนะแนวการศึกษาเพื่อเตรียมสอบและเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา ภายใต้ชื่อ "U-Sierra" เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของนักเรียนระดับมัธยมศึกษาที่ต้องการพัฒนาศักยภาพของตนเองเพิ่มเติม รวมถึงการขอคำแนะนำเพื่อเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาของประเทศไทย ซึ่งในอนาคต KPN Academy ยังสามารถนำแพลทฟอร์มดังกล่าวไปประยุกต์สำหรับกลุ่มเป้าหมายอื่น ๆ เพื่อเพิ่มโอกาสในการเติบโตของรายได้ นอกจากนี้ KPN Academy ยังมีธุรกิจฝึกอบรมพัฒนาบุคลากร ซึ่งให้บริการแก่องค์กรต่าง ๆ

นอกจากนี้ KPN Academy และบริษัทย่อยยังมีโอกาสเข้าประมูลงานโครงการภาครัฐเกี่ยวกับการจำหน่ายดนตรีและการพัฒนาทักษะทางดนตรีตามที่ KPN Music เคยชนะการประมูลในช่วงปี 51-60 แต่เนื่องจากช่วงที่ผ่านมามีความไม่แน่นอนทางการเมือง จึงทำให้โครงการดังกล่าวถูกชะลอออกไป ดังนั้น ในกรณีที่โครงการภาครัฐกลับมาเปิดประมูลอีกครั้งในอนาคต จะทำให้บริษัทมีโอกาสรับรู้มูลค่าส่วนเพิ่มจากการเข้ารับงานดังกล่าว อย่างไรก็ตามมูลค่านอกจากนี้บริษัทยังคงมีส่วนเพิ่มยังไม่ได้ถูกรวมอยู่ในการประเมินมูลค่ายุติธรรมของ KPN Academy และบริษัทย่อย

อย่างไรก็ตามบริษัยังคงมีธุรกิจหลัก คือ ธุรกิจผลิตและจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์ที่สามารถสร้างรายได้และผลกำไรอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งจะสามารถช่วยบรรเทาผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นต่อบริษัทได้

ECF ระบุในเอกสารเผยแพร่เพิ่มเติมว่า การลงทุนใน KPN Academy นับเป็นการแตกไลน์สู่ธุรกิจโรงเรียนสอนดนตรีสากล ภายใต้แบรนด์ "KPN Music"โรงเรียนสอนภาษาจีน "KPN Chinese" และการเป็นผู้ให้บริการระบบกวดวิชา U-Sierra platform & AD’TID ทั้งนี้ KPN Music คือโรงเรียนสอนดนตรีสากลทุกประเภท รวมถึงบัลเล่ต์และแดนซ์ เป็นแบรนด์ที่รู้จักอย่างกว้างขวางในประเทศไทยมาเป็นเวลายาวนานกว่า 20 ปี ปัจจุบันมีสาขาที่เปิดให้บริการกว่า 48 สาขา ทั่วประเทศ สำหรับ KPN Chinese โรงเรียนสอนภาษาจีน ปัจจุบันมีสาขาเปิดให้บริการรวม 7 สาขา

ส่วนประโยชน์ที่ได้รับจากการลงทุนครั้งนี้ เพื่อเป็นการขยายและแตกไลน์ไปสู่ธุรกิจใหม่ที่มีโอกาสเติบโตในอนาคตภายใต้แบรนด์โรงเรียนสอนดนตรีที่เก่าแก่เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในประเทศไทย ทั้งนี้การเข้าลงทุนดังกล่าว จะเป็นไปตามเงื่อนไขบังคับก่อนที่มีข้อตกลงร่วมกัน โดยผู้ขายจะต้องดำเนินการตามเงื่อนไขให้แล้วเสร็จและครบถ้วนก่อนการเข้าทำรายการ คาดว่าการเข้าลงทุนจะแล้วเสร็จภายในไม่เกินเดือนม.ค.63

KPN Music ในฐานะธุรกิจหลักที่ทาง KPN Academy เป็นผู้เข้าลงทุน ก่อตั้งเมื่อปี 2543 โดยคุณหญิงพรทิพย์ ณรงค์เดช และบุตรชาย คือนายณพ ณรงค์เดช โดยได้สืบสานต่อเจตนารมณ์ของครอบครัว โดยเชื่อว่าดนตรีสามารถส่งเสริม และจรรโลงสังคมได้และดนตรียังมีบทบาทในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและจิตใจของเยาวชน นอกจากนี้คุณครูสอนดนตรีของ KPN Music จะต้องผ่านการ audition ตามระบบก่อน ประกอบกับในโลกยุคปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปจากเมื่อก่อน โดยผู้ปกครองล้วนหันมาให้ความสำคัญกับการเพิ่มทักษะทางด้านดนตรีให้กับบุตรหลาน เพื่อประโยชน์ด้านการพัฒนาทางด้านสมอง การเข้าสังคม ความมั่นใจในตัวเอง รวมถึงสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดทางด้านอาชีพได้ในอนาคต

นอกจากจะมีธุรกิจของ KPN Music แล้วยังมี KPN Chinese ซึ่งเป็นโรงเรียนสอนภาษาจีน ก็เป็นแบรนด์ที่เป็นที่รู้จักในตลาด รวมถึงการเป็นผู้ให้บริการระบบกวดวิชา U-Sierra platform & AD’TID นอกจากนี้ยังมีโอกาสด้านการประมูลงานจากภาครัฐ ซึ่งในอดีตที่ผ่านมา ทาง KPN Academy ก็มีโอกาสสร้างรายได้ผ่านช่องทางการประมูลงานโครงการให้ความรู้ทางด้านดนตรีให้กับโรงเรียนของรัฐบาลที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นโอกาสที่จะสามารถสร้างรายได้อีกช่องทางหนึ่งของ KPN Academy เช่นกัน ซึ่งจากการประเมินมูลค่ากิจการของ KPN Academy ในปัจจุบันมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 800 ล้านบาท โดยไม่รวมรายได้จากงานภาครัฐที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ