บนโลกธุรกิจในยุคที่ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว หากขาดแรงบันดาลใจหรือหยุดนิ่งไม่เรียนรู้เพื่อต่อยอดในสิ่งต่างๆ ก็ยากที่จะประสบความสำเร็จนำพาองค์กรให้เติบโตในก้าวต่อไป แต่ไม่ใช่กับนักธุรกิจที่มากด้วยประสบการณ์ "ยุทธ ชินสุภัคกุล" ประธานกรรมการ บมจ.โรงพิมพ์ตะวันออก (EPCO) ผู้คว่ำวอดในวงการทำธุรกิจมายาวนาน
จนวันนี้เขาก้าวเข้าสู่วัย 75 ปี พร้อมภารกิจนำพา EPCO สร้างความมั่งคั่งด้วยธุรกิจพลังงานทดแทน นอกจากนั้น ยังเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการรายใหญ่ในอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์เพียงไม่กี่รายที่สามารถ"ทรานส์ฟอร์ม"องค์กรรอดพ้นจากวิกฤตสื่อสิ่งพิมพ์ที่กำลังอยู่ในยุคขาลง
*ริ้วรอยประสบการณ์
นายยุทธ กล่าวให้สัมภาษณ์กับ"อินโฟเควสท์"ว่า จากจุดเริ่มต้นชีวิตวันทำงานตั้งแต่อายุ 27 ปี พกดีกรีปริญญาโทด้านวิศวกรรมจากประเทศสหรัฐอเมริกาก้าวเข้ามาในบริษัทน้ำมันคาลเท็กซ์เป็นแห่งแรก ก่อนจะโยกย้ายไปทำงานให้กับบริษัทต่างชาติแห่งอื่นอีกราว 2-3 ปี จากนั้นก็เริ่มทำธุรกิจของตัวเองเป็นกิจการโรงกลั่นน้ำมันปาล์มทางภาคใต้ภายใต้แบรนด์"มรกต"ก่อนจะขยายกิจการให้กับผู้ถือหุ้นรายอื่น
หลังจากนั้นได้จัดตั้งธุรกิจนำเข้าสินค้า แต่ก็เผชิญกับพิษค่าเงินบาท ทำให้ล้มลุกคลุกคลานพักใหญ่ จนกระทั่งในช่วงปี 2530 นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งและเจ้าของหนังสือพิมพ์ในเครือผู้จัดการ ซึ่งเป็นเพื่อนได้ชักชวนมาประกอบธุรกิจโรงพิมพ์เพื่อพิมพ์หนังสือให้กับค่ายผู้จัดการ จึงเป็นที่มาของการเข้าสู่วงการธุรกิจโรงพิมพ์ในนาม"โรงพิมพ์ตะวันออก"นับตั้งแต่นั้นมา
นายยุทธ เล่าย้อนไปว่า เมื่อ 10 ปีที่แล้วเริ่มเห็นสัญญาณของอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์กำลังเข้าสู่ขาลง ทำให้ช่วง 4 ปีก่อนได้เข้าไปศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน ขณะเดียวกับที่ช่วงนั้นมีเงินสดเหลือเพียงพอกับการลงทุน จึงได้เข้าซื้อโรงไฟฟ้า 2 แห่งรวมขนาดกำลังผลิต 10 เมกะวัตต์ในจังหวัดกาญจนบุรีและลพบุรี ทำให้เห็นโอกาสการเติบโตของธุรกิจพลังงานทดแทนในอนาคต เพราะไฟฟ้าเป็นสิ่งจำเป็นและยังมีความต้องการต่อเนื่อง
แต่ช่วงนั้นโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนในประเทศจะค่อนข้างนิ่งจากผลของนโยบายรัฐบาล บริษัทจึงได้เริ่มหันไปศึกษาการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนในประเทศญี่ปุ่นแทน เนื่องจากทางการญี่ปุ่นเริ่มมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนโครงการพลังงานทดแทน โดยให้อัตรารับซื้อไฟฟ้าสูงถึง 40 เยนต่อหน่วย แตกต่างจากวันนี้ที่อัตราการรับซื้อไฟฟ้าลดลงไปมาก จนกระทั่งถึงวันนี้บริษัทมีกำลังการผลิตในญี่ปุ่นราว 45 เมกะวัตต์ ส่วนในประเทศไทยมี 20 เมกะวัตต์
นายยุทธ ให้มุมมองว่า ปัจจุบันประเทศที่มีโอกาสเติบโตในธุรกิจผลิตไฟฟ้า และประชากรมีความต้องการใช้ไฟฟ้าในปริมาณสูง ประกอบด้วย ประเทศในโซนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะเวียดนาม และเมียนมา เพราะมีประชากรจำนวนมาก ส่วนอินเดียและอาฟริกายอมรับว่าเป็นตลาดค่อนข้างใหญ่ แต่หากจะเลือกลงทุนก็จะคงมุ่งเน้นประเทศแถบอาเซียนก่อนเป็นอันดับแรก
"ถ้าพูดถึง mindset ในการทำธุรกิจ โดยส่วนตัวแล้วชอบสิ่งท้าทายและมองทุกครั้งในครั้งแรกต้องเป็น positive ก่อนแล้วหลังจากนั้นค่อยมากรองจนเห็นว่าถ้ามีความเสี่ยงมากเกินไปก็ไม่ทำเลย อย่าไปมอง negative กับทุกอย่างที่เสนอมา เพราะถ้ามองไม่ดีตั้งแต่ในครั้งแรกก็จะไม่สามารถเกิดโครงการอะไรได้เลย แม้จะเป็นโครงการที่ดีก็ตาม
ด้วยประสบการณ์ในการทำธุรกิจ ทุกวันนี้ผมจะไม่กระจายความสนใจหลายๆ อย่างพร้อมกัน หรือมากเกินไป ควรโฟกัสไปที่เป้าหมายหลัก ปัจจุบันผมก็โฟกัสขยายธุรกิจบรรจุภัณฑ์และโรงไฟฟ้า ซึ่งมองเห็นถึงการเติบโตอีกมากในอนาคต"นายยุทธ กล่าว
*คิดใหญ่กว่าเดิมหลังขายโซลาร์ฟาร์มในเวียดนามให้กลุ่ม BGC
นายยุทธ กล่าวว่า บริษัทได้ตัดสินใจขายโครงการโซลาร์ฟาร์มในเวียดนามกำลังผลิต 99.2 เมกะวัตต์ที่เริ่ม COD ไปเมื่อ มิ.ย.62 ให้กับ บมจ.บีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส (BGC) มูลค่า 1.25 พันล้านบาท ซึ่งเตรียมบันทึกำไรเข้ามาในไตรมาส 3/62 ราว 500 ล้านบาท เหตุผลที่ขายโครงการดังกล่าวออกไป เพราะผู้ซื้อมีความสนใจและบริษัทได้รับกำไรเหมาะสม
หลังจากนี้ บริษัทอยู่ระหว่างศึกษาการลงทุนในโครงการพลังงานทดแทนในเวีดยนามที่มีขนาดกำลังการผลิตใหญ่กว่าโครงการเดิมที่ขายออกไป ซึ่งมีโอกาสที่ BGC อาจจะสนใจมาร่วมลงทุนในโครงการใหม่ด้วย
"บริษัทเราเป็นบริษัทเล็ก การที่จะไปลงทุนในโครงการที่มีขนาดใหญ่กว่าเดิม ต้องมีเงินทุนรองรับการเติบโต เราไม่อยากเพิ่มทุนให้เป็นภาระกับผู้ถือหุ้น รวมถึงเรายังได้พันธมิตรรายใหม่ๆ เพื่อขยายกิจการเพิ่ม เช่น กรณี BGC ที่ซื้อหุ้นโรงไฟฟ้าในเวียดนามของเราไป ถ้าเรามีการลงทุนในโครงการอื่นๆ ทาง BGC ที่มีเงินลงทุนค่อนข้างสูงก็อาจจะพิจารณาร่วมลงทุนกับเราได้ในอนาคต"นายยุทธ กล่าว
นายยุทธ กล่าวว่า แนวทางการลงทุนโครงการพลังงานทดแทนในอนาคต ยังคงมองโอกาสเข้าซื้อกิจการในประเทศ และขยายลงทุนในเวียดนาม แม้ว่าปัจจุบันโซลาร์ฟาร์มในเวียดนามมีอัตราการซื้อไฟฟ้าลดลงเมื่อเทียบกับในอดีต แต่ยังคงรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมในอัตราสูงไปจนถึงปี ค.ศ.2021 หรือปี 64
นอกจากนั้น บริษัทยังมองโอกาสโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติเพิ่มเติมเช่นกัน เพราะหากเทียบกับกำลังผลิตโซลาร์ฟาร์ม 555 เมกกะวัตต์ จะสามารถสร้างรายได้เท่ากับโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติเพียง 120 เมกะวัตต์เท่านั้น ดังนั้น แนวทางการขยายกิจการจึงมุ่งเน้นเรื่องของรายได้และกำไรมากกว่าการเพิ่มจำนวนเมกะวัตต์ในมือ
ขณะนี้การดำเนินธุรกิจโรงไฟฟ้าของ EPCO ประกอบด้วย โครงการในประเทศกำลังการผลิตรวม 30 เมกะวัตต์ ล่าสุดอยู่ระหว่างเข้าประมูลโซลาร์ลอยน้ำเขื่อนสิรินธรของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กำลังการผลิต 45 เมกะวัตต์ ซึ่งยังต้องรอความชัดเจนว่าจะได้รับโอกาสนี้หรือไม่ เพราะมีคู่แข่งหลายราย ขณะที่นโยบายภาครัฐยังไม่มีการเปิดประมูลโซลาร์ฟาร์มโครงการอื่นเพิ่มเติม ทำให้บริษัทยังคงมองหาโอกาสขยายกลุ่มเอกชนแทน
นอกจากนี้ ยังมีโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซ กำลังการผลิต 360 เมกะวัตต์ ตั้งในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมลาดกะบังและบางปู
สำหรับโครงการโซลาร์ฟาร์มในประเทศญี่ปุ่นที่มีขนาดรวม 45 เมกะวัตต์นั้น ล่าสุด COD ไปแล้ว 22 เมกะวัตต์ คาดว่าในเดือย พ.ย.นี้จะ COD เฟสสองขนาด 17 เมกะวัตต์ ทำให้ภายในสิ้นปีนี้จะมีกำลังผลิตที่ COD แล้วรวมเกือบ 40 เมกะวัตต์ และอีก 2 เมกะวัตต์ที่เหลือคาดว่าจะเริ่ม COD ได้ในปี 63
"แนวทางการลงทุนแต่ละโครงการ มีนโยบายต้องมีผลตอบแทนจากการลงทุน (IRR) ขั้นต่ำเฉลี่ย 10-12% นอกเหนือจากต้องเลือกโครงการที่ลงทุนแล้ว ต้องพิจารณาต้นทุนการเงินที่เป็นดอกเบี้ยด้วย เช่น ปัจจุบันดอกเบี้ยอยู่ที่ประมาณ 2% ต้องเลือกโครงการที่มี IRR ไม่รวมต้นทุนดอกเบี้ยให้ได้เฉลี่ย 12% หรือถ้าดอกเบี้ยขึ้นไป 5% IRR ที่เหมาะสมก็ควรจะไม่น้อยกว่า 15% เพราะแต่ละโครงการลงทุนส่วนใหญ่ใช้เงินกู้ถึง 80% ดังนั้น ถ้าในกรณีดอกเบี้ยกำลังเป็นขาลง น่าจะส่งผลบวกกับ IRR ที่จะเพิ่มขึ้นได้ในอนาคต"
*Transform โรงพิมพ์เข้าสู่การเป็นผู้ผลิตแพ็คเกจจิ้ง
นายยุทธ กล่าวว่า ธุรกิจโรงพิมพ์เป็นขาลงมาตลอด ในอดีตโรงพิมพ์ของบริษัทเคยผลิตให้กับ Magazine มากถึง 50 หัวหนังสือ แต่ปัจจุบันเหลือแค่ 5 หัวหนังหสือ ทำให้บริษัทต้องปรับเปลี่ยนธุรกิจโรงพิมพ์เข้าสู่การเพิ่มผลิตภัณฑ์แพคเกจจิ้งมากขึ้น อาทิ กล่องลูกฟูก และบรรจุภัณฑ์อื่นๆ ทั้งนี้ คาดว่าสัดส่วนรายได้จากธุรกิจแพ็คเกจจิ้งต่อรายได้รวมจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในปี 63 เพราะมองเห็นเทรนด์การเติบโตของอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซในไทย
ทั้งนี้ ปัจจุบันธุรกิจโรงพิมพ์ยังคงเป็นธุรกิจหลักที่มีสัดส่วนรายได้ 55% ของรายได้รวม ส่วนอีก 45% มาจากธุรกิจโรงไฟฟ้า แต่หากพิจารณาตามสัดส่วนของอัตรากำไรขั้นต้นจะพบว่าธุรกิจโรงไฟฟ้ามีสัดส่วนสูงกว่า 85% ของกำไรขั้นต้นโดยรวม และอีก 15% มาจากธุรกิจโรงพิมพ์ ซึ่งภายหลังจากนี้ธุรกิจโรงไฟฟ้าจะเข้ามาเป็นทั้งรายได้และกำไรหลักของบริษัทในอนาคต
*ผลงานปีนี้ลุ้นทุบสถิติสูงสุดใหม่
นายยุทธ เปิดเผยว่า ทิศทางผลประกอบการปีนี้เชื่อว่าจะเติบโตทำสถิติสูงสุดใหม่ โดยคาดรายได้รวมจะเติบโตราว 50% จากปีก่อนที่มีรายได้ 1,425 ล้านบาท ขณะที่กำไรมีแนวโน้มจะเติบโตมากกว่ารายได้ แม้ว่าเดิมบริษัทตั้งเป้าจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าในมือสิ้นปีอยู่ที่ 553 เมกะวัตต์ แต่ล่าสุดบริษัทเพิ่งขายโซลาร์ฟาร์มในเวียดนามออกไป 99.2 เมกะวัตต์ อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่เหลือของปีนี้ยังมีแผนเข้าซื้อกิจการโรงไฟฟ้าใหม่เข้ามาเสริมพอร์ต แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ในเวลานี้
"ถ้านิยามหุ้น EPCO เราก็เปรียบเป็น Growth stock บางคนบอกว่าเราขายโรงไฟฟ้าเวียดนามออกไปทำไม แต่ก็อยากให้มองว่าผมเองก็มีแผนอะไรที่ดีกว่านั้น ผมกำลังทำอะไรบางอย่างอยู่ การที่เราได้ขายโรงไฟฟ้าเวียดนามให้ BGC ก็มีพันธมิตรก็โทรเข้ามาหาผมหลายรายว่ามีโครงการอะไรดีๆบ้าง อยากขอร่วมลงทุน สะท้อนว่าโครงการที่บริษัทกำลังทำมีคุณค่าและเป็นของดี"นายยุทธ กล่าว
https://youtu.be/be1zaWsmbBA