บมจ.คอปเปอร์ ไวร์ด (CPW) ก้าวย่างเข้าสู่ปีที่ 20 จากจุดเริ่มต้นธุรกิจสตาร์ทอัพของกลุ่มวัยรุ่น 3-4 คนที่มีความหลงไหลแบรนด์ Apple จนถึงวันนี้กลายเป็นหนึ่งในผู้นำธุรกิจค้าปลีกและค้าส่งสินค้าดิจิทัลไลฟ์สไตล์ที่มีสินค้าครบวงจรรายใหญ่ของไทย ล่าสุดจะเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย 18 ต.ค.นี้ หลังเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) จำนวน 160 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) 0.50 บาท คิดเป็น 26.67% ของจำนวนหุ้นสำมัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัท
สำหรับ IPO ของ CPW กำหนดจองซื้อระหว่างวันที่ 8-10 ต.ค.62 ที่ราคา IPO หุ้นละ 2.38 บาท อ้างอิงอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิ (P/E Ratio) ที่ 19.83 เท่า คำนวนกำไรสุทธิต่อหุ้นจากผลการดำเนินงานในช่วง 4 ไตรมาสล่าสุด เทียบกับอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิ (P/E Ratio) เฉลี่ยของบริษัทในกลุ่มเดียวกัน คือ COM7 และ SPVI มีค่าเท่ากับ 20.47 เท่า
*"สตาร์ทอัพ"ทะยานสู่"บริษัทมหาชน"
นายปรเมศร์ เหรียญเจริญสุข ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร CPW เปิดเผยกับ"อินโฟเควสท์"ว่า เริ่มต้นจากความหลงไหลสินค้าของ Apple ตั้งแต่สมัยเรียนอยู่ต่างประเทศ เมื่อจบการศึกษาช่วงอายุ 24-25 ปีก็เข้ามาช่วยกิจการนำเข้า-ส่งออกของที่บ้าน ช่วงนั้นได้นำสินค้าแบรนด์ Apple เข้ามาใช้ในการดำเนินธุรกิจ ก่อนจะเริ่มผันตัวเข้าสู่วงการของ Apple และเริ่มชักชวนเพื่อน 3-4 คนมาเปิดร้านขายปลีกสินค้าไอทีสาขาแรกในศูนย์การค้าสยามดิสคัฟเวอรี่ ซึ่งเป็น Shopping mall แตกต่างกับร้านขายปลีกสินค้าไอทีในสมัยนั้นที่นิยมไปเปิดใน IT Shopping mall อย่าง พันธุ์ทิพย์พลาซ่า
แม้ว่าช่วงที่เปิดร้านในปีแรกที่มีพื้นที่ 50 ตารางเมตรจะค่อนข้างยากลำบาก เพราะผู้บริโภคยังไม่เข้าใจแบรนด์ Apple เหมือนกับในปัจจุบัน แต่โดยส่วนตัวมีความเชื่อมั่นในแบรนด์ Apple รวมทั้งมีมุมมองว่าผู้บริโภคในอนาคตจะต้องหันมาใช้และเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในที่สุด จากนั้น 1-2 ปีลูกค้าเริ่มเข้ามาซื้อสินค้าในร้านมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้บริษัทเริ่มเห็นสัญญาณเติบโต จึงมีแนวคิดประกอบธุรกิจนำเข้าสินค้าไอทีเข้ามาจำหน่าย และขายให้กับผู้ประกอบการรายอื่นในอุตสาหกรรมเดียวกัน จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการก่อตั้งบริษัท โคแอน จำกัด (KOAN) ทำธุรกิจค้าส่งสินค้ากลุ่มดิจิทัลไลฟ์สไตล์ที่ส่วนใหญ่นำเข้าจากต่างประเทศ เน้นกลุ่มลูกค้าผู้ค้าปลีกที่นำไปจำหน่ายต่อให้แก่รายย่อย เช่น ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล ห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ พาวเวอร์บาย ร้านค้าปลอดภาษี คิง พาวเวอร์ เป็นต้น
"แน่นอนว่าเราเป็นกลุ่มสตาร์ทอัพ รุ่นเดอะเลย เราเกิดขึ้นจากไม่มีอะไร เป็นแค่คนกลุ่มหนึ่งที่มี passion กับสินค้าของ Apple และสินค้าที่เป็นดิจิทัลไลฟ์สไตล์ที่ต้องมีดีไซด์ สวย ล้ำ และดี เราไม่ได้พูดถึงของแพง แต่เรากำลังพูดถึงของดี โดยในช่วง 10 ปีแรก เป็นช่วงที่บริษัทขยายตัวได้โดดเด่น เพราะเราผูกติดกับการเป็น Apple Retail เป็นส่วนใหญ่
และในช่วง 10 ปีหลัง เราก็เริ่มมาเปิดร้านดอทไลฟ์ มุ่งตอบโจทย์ผู้บริโภคเน้นขยายสินค้า IoT (Internet of Things) ที่เป็นประเภท Accessory เยอะมากๆ เพราะเล็งเห็นว่าการใช้สมาร์ทโฟนจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก และมาเปลี่ยนแปลงการใช้ชีวิตของคนในอนาคต ทำให้ร้านดอทไลฟ์จึงเป็นรูปแบบของดิจิทัลไลฟ์สไตล์ ขายสินค้าที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป ซึ่งในธุรกิจนี้บริษัทถือเป็นผู้นำในไทย มีความแตกต่างกับร้านขายสินค้าและธุรกิจไอทีโดยสิ้นเชิง"
*ระดมทุน 360 ลบ. ปรับปรุง-ขยายสาขา เจาะตลาดดิจิทัลไลฟ์สไตล์
นายปรเมศร์ กล่าวว่า สำหรับเงินระดมทุนในครั้งนี้หลังหักค่าธรรมเนียมต่างๆจำนวน 360 ล้านบาท ในเฟสแรกนำไปขยายสาขาค้าปลีก 70 ล้านบาท เพราะยังมีอีกหลายจุดยุทธศาสตร์ที่มองเห็นว่าจะช่วยเพิ่มยอดขาย และนำไปปรับปรุง (renovate) สาขาเดิมอีกประมาณ 18 ล้านบาท เพื่อให้บรรยากาศและการตกแต่งภายในเป็นรูปแบบเดียวกันทั้งหมด และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน นอกจากนั้น ยังมีแผนเข้าไปซื้อสินค้าไอทีจากต่างประเทศเข้ามาขายในไทยเพิ่มเติม โดยเน้นสินค้าดิจิทัลไลฟ์สไตล์ และสินค้า IoT
ทั้งนี้ ในปี 63 มีเป้าหมายขยายสาขาเพิ่ม 5-6 สาขา และมีเป้าหมาย renovate อีกราว 3-4 สาขา
"แผนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ประโยชน์อันดับแรกที่ได้รับคือการระดมทุนเพื่อนำมาขยายกิจการ เพิ่มความแข็งแกร่งให้กับองค์กร อันดับถัดมาคือช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับคู่ค้าและพันธมิตรต่างชาติ ซึ่งมีความจำเป็นอย่างมาก แม้ว่ากระบวนการเริ่มเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ใช้เวลาแค่เพียง 1 ปี แต่ที่ผ่านมามีความตั้งใจและปรับโครงสร้างกันมาโดยตลอด เพราะเล็งเห็นถึงศักยภาพแล้วว่าบริษัทมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก"
ปัจจุบัน CPW มีร้านค้าปลีกภายใต้การบริหารงานของบริษัท 40 สาขา ได้แก่ ร้าน.life (ดอทไลฟ์) 20 สาขา ซึ่งรวมร้านดอทไลฟ์สาขาใหม่ล่าสุดที่เซ็นทรัลแจ้งวัฒนะ จะเปิดดำเนินการในวันที่ 17 ต.ค.62 ร้าน iStudio by copperwired 13 สาขา ร้าน Ai_ สยามดิสคัฟเวอรี่ 1 สาขา ร้าน iServe 5 สาขา U-Store by copperwired 1 สาขา
"ดิจิทัลไลฟ์สไตล์"ตลาดขาขึ้น เน้นขยายสินค้าไฮมาร์จิ้น
นายปรเมศวร์ เปิดเผยอีกว่า สินค้าของบริษัทแบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรก เป็น สินค้าที่มีรายได้สูงแต่มาร์จิ้นต่ำ คือ ฮาร์ดแวร์ เช่น คอมพิวเตอร์ แท็ปเล็ต สมาร์ทโฟน และ กลุ่มที่ 2 คือ สินค้ารายได้ต่ำแต่มาร์จิ้นสูง ซึ่งเป็นสินค้าประเภทดิจิทัลไลฟ์สไตล์ในร้านดอทไลฟ์ อาทิ Accessory ต่างๆ และสินค้า IoT ตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่ โดยตลาดดังกล่าวเป็น Blue Ocean ผู้เล่นในตลาดยังไม่มาก ยิ่งกว่านั้นสินค้า IoT กำลังเข้าสู่ขาขึ้นอย่างชัดเจน ช่วยสร้างการเติบโตให้กับบริษัทอย่างมากในอนาคต
"ที่ผ่านมาธุรกิจ Retail ของกลุ่มฯเติบโตเฉลี่ย 10-15% ต่อปี ในปีนี้ก็ยังเชื่อมั่นว่าจะเติบโตได้เช่นเดิม และในปี 63 ก็ยังมองไม่เห็นอุปสรรคที่จะมาขัดขวางการเติบโตของเรา แม้ว่าภาพรวมเศรษฐกิจกำลังแย่ หรือทุกคนมองว่ากำลังชะลอตัว แต่ในบาง sector ก็กำลังอยู่ในช่วงเติบโต ไม่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ ธุรกิจของบริษัทก็ถือเป็นหนึ่งในกลุ่มฯที่ไม่ค่อยได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจ ดังนั้นมีความมั่นใจว่าผลประกอบการของบริษัทจะเติบโตได้อย่างมั่นคงในระยะยาวอย่างแน่นอน"
สำหรับผลประกอบการล่าสุดงวด 6 เดือนแรกปี 62 กลุ่ม CPW มีรายได้รวม 1,577.80 ล้านบาท เติบโต 5.90% กำไรขั้นต้นอยู่ที่ 236.98 ล้านบาท เติบโต 8.56% กำไรสุทธิ 26.48 ล้านบาท ลดลง 33.33% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน
นายปรเมศวร์ ระบุว่า กำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นสะท้อนการบริหารจัดการของบริษัทฯและสินค้ากลุ่มที่มีอัตรากำไรเติบโต ขณะที่กำไรสุทธิปรับลดลง มีสาเหตุหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายในการขาย เนื่องจากมีการปิดปรับปรุงร้าน .life สาขาสยามพารากอน ในช่วงเดือน ก.พ.- ต้นเดือน เม.ย.62 อีกทั้งยังมีการเปิดสาขาใหม่ เพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจในอนาคต
ขณะที่สัดส่วนรายได้หลัก 6 เดือนแรกปี 62 มาจากกลุ่มสินค้าดิจิทัลไลฟ์สไตล์ (Digital lifestyle) 46.33% กลุ่มโทรศัพท์มือถือ (Smartphone) 22.94% กลุ่มคอมพิวเตอร์และแท็บเล็ต (Computer & Tablet) 27.72% กลุ่มบริการซ่อมแซม และรับประกัน 2.43% ของรายได้รวม
https://youtu.be/C7HP0TWY8fE