แม้ว่าดัชนีตลาดหุ้นไทยในช่วงปลายปีจะผันผวน จากปัจจัยลบทั้งในและต่างประเทศ ถาโถมกระทบความเชื่อมั่นของผู้ลงทุนให้เกิดความสั่นคลอนกันไม่เว้นแต่ละสัปดาห์ แต่ในมุมของตลาด IPO ยังได้รับความสนใจอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะบรรดานักธุรกิจตระกูลใหญ่ระดับประเทศนำเข้าบริษัทในเครือมาระดมทุนผ่านตลาดหุ้นไทยกันอย่างคึกคัก
รายล่าสุด บมจ.เอส โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท (SHR) ในเครือ บมจ.สิงห์ เอสเตท (S) เป็นสินทรัพย์ประเภทโรงแรมและรีสอร์ทหรูระดับโลกของตระกูล "ภิรมย์ภักดี" เตรียมความพร้อมเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศ (SET) วันที่ 12 พ.ย.62 ด้วยการเสนอขายหุ้นให้ประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) จำนวนไม่เกิน 1,437,456,000 หุ้น ในราคา IPO หุ้นละ 5.20 บาท จากมูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) 5 บาท
SHR เข้าจดทะเบียนด้วยเกณฑ์ "Market Capitalization" เนื่องจากผลประกอบการในงวด 6 เดือนแรกของปี 62 มีผลขาดทุนสุทธิ 201 ล้านบาท และยังคาดว่าผลประกอบการ 9 เดือนแรกของปี 62 ยังจะขาดทุนสุทธิอย่างต่อเนื่อง สาเหตุหลักเกิดจากค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ระยะสั้น (Bridge Loan) ที่เกิดจากการเข้าซื้อกิจการของ Outrigger ต้นทุนการเปิดโครงการใหม่ และรายจ่ายเกี่ยวกับการเตรียมตัวเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ
ตลอด 3 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 59-61 บริษัทมีกำไรสุทธิเติบโตต่อเนื่อง โดยปี 59 มีกำไรสุทธิ 191 ล้านบาท ,ปี 60 กำไรสุทธิ 305 ล้านบาท ,และปี 61 มีกำไรสุทธิ 450 ล้านบาท ทั้งนี้ หากคำนวนจากผลกำไรสุทธิ 12 เดือนย้อนหลัง (มิ.ย.61 – มิ.ย.62) การกำหนดราคาไอพีโอ SHR คิดจากช่วงราคาในกรอบเบื้องต้น 5.10-5.50 บาทต่อหุ้น จะมีค่าเฉลี่ย P/E สูงถึง 162.21-174.94 เท่า และคำนวนเป็น P/BV จะเฉลี่ยอยู่ที่ 0.99-1.03 เท่า เมื่อนำมาเปรียบเทียบ P/E Ratio บริษัทอื่นในอุตสาหกรรมเดียวกันจะเฉลี่ยอยู่ที่ 29.33 เท่า
สำหรับ SHR มี บล.เคที ซีมิโก้ บล.ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) และบล.เครดิตสวิส ประเทศไทย เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย และผู้ร่วมจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายอีก 4 แห่ง ได้แก่ บล.โนมูระ พัฒนสิน บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) และบล.เอเซีย พลัส โดยมีธนาคารกรุงไทย และธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เป็นตัวแทนจำหน่ายหุ้น
นอกจากนั้น มีหนึ่งข้อมูลสำคัญคือผู้มีส่วนร่วมบริหารถือหุ้นที่ไม่ติด silent period จำนวน 179.68 ล้านหุ้น คิดเป็น 5% ของจำนวนหุ้นที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ภายหลังการเสนอขายหุ้น IPO ในครั้งนี้ (ไม่รวมจำนวนหุ้นของผู้มีส่วนร่วมในการบริหารที่เป็นผู้ถือหุ้นเดิมและมีสิทธิได้รับการจัดสรรหุ้น)
*ระดมทุน SET หวังลด D/E ต่ำกว่า 0.5 เท่า กองทุนสนใจ IPO แน่น
นายชัยรัตน์ ศิวะพรพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน SHR เปิดเผยกับ "อินโฟเควสท์"ว่า บริษัทมีความมั่นใจว่าจะได้รับการตอบรับจากนักลงทุนเป็นอย่างดีในการเสนอขายหุ้น IPO หลังจากที่เดินสายนำเสนอข้อมูลให้กับนักลงทุน (Roadshow) เสร็จสิ้นไปแล้ว โดยเฉพาะกลุ่มนักลงทุนสถาบันที่มีนโยบายลงทุนระยะยาวให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก ซึ่งจุดเด่นของบริษัทคือปัจจัยพื้นฐานของธุรกิจที่มีความแข็งแกร่ง เริ่มจากการที่โครงสร้างของผู้ถือหุ้นที่แข็งแกร่ง จากการสนับสนุนของกลุ่มสิงห์ ทั้งเครือบุญรอดฯ และสิงห์ เอสเตท รวมไปถึงกรรมการและผู้บริหารที่มีความเชี่ยวชาญในการดำเนินธุรกิจ ที่จะช่วยในการเสริมศักยภาพซึ่งกันและกัน
สำหรับฐานะทางการเงินของบริษัทจากการเสนอขาย IPO ในครั้งนี้ นอกจากจะนำเงินมาไว้ใช้รองรับการลงทุนแล้ว บริษัทจะยังไปใช้ชำระคืนหนี้เพื่อทำให้ภาระหนี้สินลดลง ซึ่งจะทำให้อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) ลดลงต่ำกว่า 0.5 เท่า จากครึ่งปีแรกที่ผ่านมาอยู่ที่ 1.1 เท่า ซึ่งจะทำให้บริษัทมีความสามารถในการกู้ยืมเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับในการลงทุนได้มากขึ้น และทำให้ภาระดอกเบี้ยจ่ายของบริษัทลดลง หลังจากคืนเงินกู้ยืมไป 5 พันล้านบาทที่มีอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 4% ต่อปี ซึ่งจะช่วยสนับสนุนอผลการดำเนินงานในภาพรวมให้เพิ่มขึ้นราว 200 ล้านบาท พร้อมกับการเดินหน้าสร้างการเติบโตของผลการดำเนินงานให้เพิ่มขึ้นอย่างยั่งยืน สร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับบริษัทและผู้ถือหุ้น ทั้งนี้ บริษัทมีนโยบายการจ่ายเงินปันผลไม่ต่ำกว่า 40% ของกำไรสุทธิ
*เส้นทางสู่ "Growth Stock" พอร์ตโรงแรมโต 2 เท่าภายในปี 68
นายชัยรัตน์ กล่าวว่า เป้าหมายของ SHR หลังจากที่เสนอขาย IPO และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ แล้วนั้น บริษัทตั้งเป้าเดินหน้าขยายพอร์ตโรงแรมเพิ่มเป็น 2 เท่า หรือมีจำนวนห้องพักเพิ่มขึ้นมาเป็น 8,000-9,000 ห้อง ภายในปี 68 โดยที่จะเน้นไปที่การเข้าซื้อโรงแรมที่สามารถสร้างผลตอบแทนให้กับบริษัทได้ทันที่ทั้งในไทยและต่างประเทศ ซึ่งบริษัทวางเป้าสัดส่วนของพอร์ตโรงแรมในประเทศและต่างประเทศเป็น 25-30% : 65-70% จากปัจจุบันพอร์ตโรงแรมในประเทศอยู่ที่ 40%
บริษัทมีแผนขยายโรงแรมในประเทศไทยที่เป็น Hub สำคัญ โดยจะเน้นไปที่หัวเมืองท่องเที่ยวหลัก เช่น กรุงเทพฯ เชียงใหม่ เชียงราย และบุรีรัมย์ เป็นต้น ขณะที่เห็นว่ายังมีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจอีกหลายเกาะ ขณะที่ภูมิภาคที่บริษัทสนใจที่เป็นปลายทางของนักท่องเที่ยว ได้แก่ ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เช่น เกาะบาหลีของอินโดนีเซีย และเวียดนาม
ส่วนในภูมิภาคอื่นๆที่สนใจ ได้แก่ แถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ซึ่งถือเป็นจังหวะที่ดีของภาคธุรกิจไทยในการมองหาโอกาสซื้อโรงแรมท่ามกลางสภาวะเงินบาทแข็งค่าเมื่อเทียบกับค่าเงินยูโร และดอลลาร์สหรัฐฯ โดยประเทศที่สนใจ อาทิ อิตาลี เสปน โปรตุเกส กรีซ และตุรกี รวมถึงยังมองหาการลงทุนในบริเวณคาบสมุทรอินเดียเพิ่มเติมหลังจากที่มีโรงแรมมอริเชียสและมัลดีฟส์แล้ว รวมถึงแถบแอฟฟริกาใต้
"แนวโน้มการเติบโตของผลการดำเนินงานในอนาคตบริษัทยังมั่นใจว่าจะเติบโตอย่างต่อเนื่องและมั่นคง จากการลงทุนขยายพอร์ตโรงแรมเพิ่มขึ้นหลังจากที่เข้าตลาดหลักทรัพย์แล้วเฉลี่ย 15% ต่อปี ทำให้มีรายได้จากโรงแรมใหม่ๆ เข้ามาสนับสนุนการเติบโต และการปรับปรุงโรงแรมในพอร์ตให้สามารถสร้างรายได้และกำไรให้เพิ่มขึ้น รวมไปถึงการเดินหน้ารับบริหารโรงแรมอื่นๆ ที่จะเป็นปัจจัยหนุนให้กับผลการดำเนินงาน ตอกย้ำกับความมุ่งมั่นของบริษัทที่ต้องการเป็น Growth Company และ Growth Stock ที่สร้างผลตอบแทนให้กับนักลงทุนที่มองหาการลงทุนในระยะกลาง-ยาวอย่างคุ้มค่า และมีความแตกต่างจากหุ้นอื่นที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ในกลุ่มตสาหกรรมเดียวกัน"นายชัยวัฒน์ กล่าว
ทั้งนี้ สัดส่วนรายได้ของบริษัทในอนาคตนั้น 70% จะมาจากรายได้ค่าห้องพักจากธุรกิจโรงแรม และอีก 30% รายได้จากธุรกิจอาหารที่เป็นเชนในโรงแรม รวมถึงรายได้อื่นๆ
นายชัยวัฒน์ กล่าวอีกว่า โครงการ Crossroads มัลดีฟส์ เป็นอีกหนึ่งโครงการหลักที่จะสร้างการเติบโตอย่างก้าวกระโดดตั้งแต่ปี 63 เป็นต้นไป โดยโครงการนี้เกิดจากแนวคิดที่ต้องการสร้างความแตกต่างให้กับกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เดินทางมายังมัลดีฟส์ โดยส่วนใหญ่มักเป็นคู่รักที่มาฮันนีมูน เพื่อให้เปลี่ยนมาจับกลุ่มนักท่องเที่ยวครอบครัว เพื่อนฝูง และ กลุ่มประชุมสัมนาของบริษัทต่างๆ ที่มีจำนวนมากกว่ากลุ่มคู่รัก
"ถือเป็น Games Changer ของการทำธุรกิจโรงแรมและรีสอร์ทในมัลดีฟส์ โดยใช้รูปแบบการพัฒนาแบบ Integrated Facility ที่รวบรวมสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆไว้ด้วยกัน และเป้นเกาะที่อยุ่ใกล้กับสนามบิน สามารถนั่งสปีดเฟอร์รี่ที่บรรทุกผู้โดยสารได้มากถึง 50 คน และใช้ระยะเวลาเดินทางจากสนามบินถึงเกาะเพียง 15 นาที ไม่ต้องใช้เวลานั่งเครื่องบินแบบ Sea Plane ต่อไปเกาะที่ใช้เวลาอีก 30 นาที-1 ชั่วโมง และมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่า"
ส่วนการพัฒนาโรงแรมในเกาะที่ 3 จะเริ่มพัฒนาในปี 63 และคาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดให้บริการภายในปี 65 โดยมีเงินลงทุนทั้งหมด 3 เกาะ รวมกว่า 350 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
*ชูโมเดลเพิ่มมูลค่าสินทรัพย์ ,แย้มแผนตั้ง REITs ในอนาคต
ปัจจุบัน SHR มีโรงแรมทั้งหมดที่เปิดให้บริการแล้ว 39 แห่ง จำนวน 4,647 ห้องพัก ใน 5 ประเทศ มูลค่ารวมกว่า 2.5 หมื่นล้านบาท ได้แก่ ไทย มัลดีฟส์ หมู่เกาะฟิจิ มอริเชียส และสหราชอาณาจักร หรืออังกฤษ ถือว่ามีความหลากหลายในแง่ของทำเลที่ตั้ง ที่มีช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวแตกต่างกันออกไป และเจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวแตกต่างกัน ทำให้มีฐานลุกค้าหลากหลาย ช่วยกระจายความเสี่ยง และสนับสนุนด้านรายได้ของโรงแรมให้เข้ามาอย่างสม่ำเสมอ
จะเห็นได้จากช่วงไฮซีซั่นของไทยจะอยุ่ในช่วงไตรมาส 1 และไตรมาส 4 ช่วงไฮซีซั่นของหมู่เกาะฟิจิจะอยู่ในช่วงไตรมาส 2 และไตรมาส 3 ช่วงไฮซีซั่นของมอริเชียสจะอยู่ในช่วงครึ่งหลังของไตรมาส 3 และไตรมาส 4 และช่วงไฮซีซั่นของสหราชอาณาจักรจะอยู่ในช่วงไตรมาส 3 และไตรมาส 4 ของแต่ละปี รูปแบบในการดำเนินธุรกิจที่มีความมั่นคงจากรายได้ที่เข้ามาอย่างสม่ำเสมอในการประกอบธุรกิจโรงแรม มาจากอีกปัจจัยที่บริษัทเจาะกลุ่มโรงแรมระดับ 3-4.5 ดาว หรือประเภท Affordable Luxury Hotel and Resort ในราคาที่ทุกคนเข้าถึงได้ โดยเน้นกลุ่มนักท่องเที่ยวประเภท "Experiencial traveling" ที่ออกมาท่องเที่ยวเพื่อหาประสบการณ์ใหม่ๆ เพื่อการใช้ชีวิตใหม่ๆที่แตกต่างไปจากเดิม ซึ่งมีอัตราการเติบโตที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งในปัจจุบันและอนาคต
นอกจากนั้น แพลตฟอร์มการดำเนินธุรกิจโรงแรมถือว่าเป็นจุดแข็ง ทั้งการบริหารโรงแรมเอง การให้เชนระดับโลกเข้ามาบริหาร และการบริหารโรงแรมเองภายใต้แบรนด์ SHR หรือแบรนด์เชนโรงแรมระดับโลก (Franchise Agreement) เข้ามาสนับสนุนในการเพิ่มช่องทางการขยายฐานลูกค้า จากการที่เริ่มทำแล้วในมัลดีฟส์ คือ โรงแรม SAii Lagoon มัลดีฟส์ ที่ร่วมมือกับ Hilton เป็นช่องทางขยายฐานลูกค้าและทำให้เป้นที่รู้จักมากขึ้น และโรงแรม Hard Rock Maldives ในมัลดีฟส์
นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า ถือเป็นการสร้างความยืดหยุ่นในการขยายการเติบโตแบบไร้ข้อจำกัด เพราะบริษัททั้งสามารถซื้อโรงแรมมาบริหารและนำแบรนด์ของบริษัทบริหารเอง หรือใช้เชนโรงแรมบริหารก็ได้ หรือนำแบรนด์ไปบริหารให้กับโรงแรมอื่นๆได้อีกด้วย
นอกจากนี้บริษัทยังดำเนินกลยุทธ์ในรูปแบบ Asset light model สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับทรัพย์สินต่างๆ โดยไม่ต้องถือครองทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก เช่น การปรับปรุงโรงแรมที่มีอยู่เพื่อยกระดับเพิ่มความสามารถในการทำรายได้และกำไร ทำให้มี Organic growth เพิ่มขึ้น อย่างเช่น การสร้างห้องพักเพิ่มในโรงแรมพีพี ไอส์แลนด์ วิลเลจ บีช รีสอร์ท ทำให้ราคาห้องพักเฉลี่ยเพิ่มเป็น 7,000 บาท/ห้อง/คืน จากเดิมที่ 5,000 บาท/ห้อง/คืน การปรับการปรับปรุงโรงแรม Outrigger ในภูเก็ต บริเวณหอประชุมเดิมหน้าหาดให้เป็นห้องพัก และทำห้องประชุมใหม่ด้านหลังเพื่อรองรับแขกที่เข้ามาใช้บริการได้มากขึ้น และการสร้างห้องเพิ่มของโรงแรมในหมู่เกาะฟิจิ เพื่อยกระดับโรงแรมทั้ง 2 แห่ง
บริษัทยังมีแผนนำแบรนด์ SAii ที่จะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในปี 63 ไปบริหารสินทรัพย์ให้ผู้อื่น เพื่อช่วยสร้างรายได้จากค่าธรรมเนียมการบริหาร โดยไม่จำเป็นต้องลงทุนสินทรัพย์เป็นจำนวนมาก และยังวางแผนนำสินทรัพย์ของบริษัทจัดตั้งกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) เพื่อเพิ่มช่องทางระดมทุน หลังจากบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์แล้ว และมีการใช้เงินกู้ยืมเพื่อรองรับการลงทุนใหม่ๆ เพิ่มขึ้น และยังอยู่ระหว่างการพิจารณาออกหุ้นกู้เป็นอีกหนึ่งทางเลือกด้วย
https://youtu.be/CP1lS8VOHyM