ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ธุรกิจ "ครอบครัว" (Family Business) ที่มีประวัติยาวนานกว่า 40 ปีจะกลายเป็นบริษัท "มหาชน"เพื่อเช้ามาระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ แต่วันนี้ บมจ.เอสทีซี คอนกรีตโปรดัคท์ (STC) แสดงบทพิสูจน์ศักยภาพการยกระดับองค์กรก้าวขึ้นเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) พร้อมเติบโตอย่างยั่งยืน
"ย้อนหลังไป 5 ปีที่แล้ว เรามีแนวคิดว่าจะเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ แม้ว่าที่ผ่านมา STC จะบริหารงานด้วยรูปแบบธุรกิจครอบครัว แต่วันนี้เราต้องการยกระดับตัวเองขึ้นมาเป็นบริษัทมหาชน และจากประสบการณ์ที่เราเคยได้ผ่านวิกฤตต้มยำกุ้งปี 40 สามารถผ่านพ้นไปได้ด้วยดี เป็นสิ่งพิสูจน์ความสำเร็จในการเดินหน้าขยายธุรกิจในอนาคต ที่เรามีมุมมองค่อนข้าง Conservative และมีความระมัดระวังกับความเสี่ยงในการประกอบกิจการ"นายเอกชัย ชัยตระกูลทอง กรรมการผู้จัดการ STC เปิดเผยกับ "อินโฟเควสท์"
ทั้งนี้ STC เสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน 148 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) 0.50 บาทต่อหุ้น คิดเป็น 26.06% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมด แบ่งเป็นการเสนอขายต่อประชาชนทั่วไป 82.97% เสนอขายต่อผู้มีอุปการคุณของบริษัท 15% เสนอขายต่อกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัท 2.03%
STC กำหนดเปิดจองหุ้น IPO ระหว่างวันที่ 20-22 พ.ย.นี้ ก่อนดีเดย์เข้าเทรดวันแรกวันที่ 29 พ.ย.นี้ โดยมีราคาเสนอขายหุ้น IPO ที่ 1 บาทต่อหุ้น คิดเป็นอัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (P/E ratio) เท่ากับ 20.41 เท่า คำนวณจากผลประกอบการรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา
นายเอกชัย กล่าวว่า กว่าจะมาถึงทุกวันนี้ STC เริ่มจากก่อตั้งในยุคนายสุรสิทธิ์ ชัยตระกูลทอง ซึ่งเป็นบิดา จากธุรกิจครอบครัว ประกอบกิจการขายไม้แปรรูปและวัสดุก่อสร้างในเมืองพัทยาในปี 2521 จากนั้นได้ต่อยอดขยายมาสู่ธุรกิจผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์คอนกรีตครบวงจรภายใต้บริษัท เอส.ที.ซี.ผลิตภัณฑ์คอนกรีต จำกัด (S.T.C. Concrete) ในปี 2531 และขณะเดียวกันก็ประกอบธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์หลายแห่งในเมืองพัทยาอีกด้วย
แต่เมื่อมาถึงปี 2540 เข้าสู่ยุควิกฤตต้มยำกุ้ง ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของครอบครัวได้รับผลกระทบอย่างหนัก จึงตัดสินใจหันมามุ่งเน้นการประคับประคองธุรกิจหลัก คือ ธุรกิจคอนกรีต ซึ่งตนเองและน้องๆ เข้ามาช่วยบริหารงานร่วมกับบิดา จนกระทั่งต่อมาก็ดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้สำเร็จ ควบคู่ไปกับการกำหนดกลยุทธ์พลิกฟื้นธุรกิจ STC ให้กลับมาเติบโตมั่นคงในเมืองพัทยาได้อีกครั้ง
*วางเป้า Growth stock ย้ำราคา IPO 1 บาทมีอัพไซด์
นายเอกชัย กล่าวว่า การกำหนดราคาเสนอขายหุ้น IPO ที่ 1 บาทต่อหุ้น เป็นราคาเหมาะสม เพราะต่ำกว่าที่บทวิเคราะห์ของบริษัทหลักทรัพย์หลายแห่งประมาณการไว้ เชื่อว่าจะให้อัพไซด์กับนักลงทุนในระยะยาว
ในสายตาของผู้บริหารเองมีเป้าหมายให้ STC เป็น Growth Stock เนื่องจากแนวโน้มการเติบโตธุรกิจเป็นไปตามทิศทางการขยายตัวโครงการลงทุนภาครัฐและเอกชนในพื้นที่ภาคตะวันออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากโครงการในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(Eastern Economic Corridor : EEC) มีความชัดเจน ก็จะเป็นส่วนเสริมสำคัญผลักดันผลประกอบการของบริษัทให้เติบโตอย่างมีนัยสำคัญ เพราะที่ผ่านมาบริษัทได้ขยายกำลังการผลิตเพื่อรองรับดีมานด์ที่จะเพิ่มขึ้นไว้แล้ว
"เมืองฝั่งตะวันออกยังขยายตัว ธุรกิจของ STC ก็ขยายตัวตามไปด้วย ตราบใดภาคตะวันออกยังไม่หยุดนิ่ง ธุรกิจ STC ก็จะเติบโตตามไปด้วย"นายเอกชัย กล่าว
*ชูเทคโนโลยีขั้นสูง "ผลิตภัณฑ์คอนกรีต" จุดเด่นเหนือกว่าคู่แข่ง
โครงสร้างรายได้ของ STC ประกอบด้วย 3 ธุรกิจหลัก ได้แก่ ธุรกิจผลิตภัณฑ์คอนกรีตสำเร็จรูป (Precast Concrete) คิดเป็นสัดส่วน 65% ของรายได้รวม เช่น เสาเข็ม แผ่นพื้นสำเร็จรูป ท่อระบายน้ำ บ่อพักน้ำ คาน ผนัง โดยท่อระบายน้ำมีสัดส่วนยอดขายมากที่สุด ,ธุรกิจคอนกรีตผสมเสร็จ (Ready-Mixed Concrete) คิดเป็นสัดส่วน 30% เป็นลักษณะเครื่องผสมคอนกรีต รถโม่ปูน ควบคุมงานโดยวิศวกร และสัดส่วนอีก 5% เป็นงานประเภทบริการ เช่น งานปั๊มคอนกรีต งานตอกเสาเข็ม เป็นต้น
นายเอกชัย กล่าวว่า ช่วงปลายปีที่ผ่านมา บริษัทลงทุนขยายโรงงานใหม่ที่นาวัง โดยสั่งซื้อเครื่องจักรเทคโนโลยีขั้นสูงมูลค่ากว่า 100 ล้านบาทในการผลิตท่อระบายน้ำคอนกรีตเสริมเหล็กและบ่อพักขนาดใหญ่ ซึ่งหาคู่แข่งได้น้อยราย ทำให้สามารถสร้างอัตรากำไรสูงขึ้น นอกจากนั้น ยังลงทุนระบบบริหารจัดการภายในโรงงานเพื่อให้เกิด Economy of scale รองรับการแข่งขันต้นทุนกับคู่แข่งขันในอนาคต โดยในช่วงสั้นบริษัทต้องการงานจากโครงการภาครัฐที่เร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในเขตพื้นที่เมืองพัทยาและพื้นที่ใกล้เคียง
"เรามีความเชี่ยวชาญมากเรื่อง tailor-made ตอบโจทย์ความต้องการลูกค้าที่ต้องแข่งขันกับเวลา ซึ่งเทคโนโลยีที่เรามีผู้ประกอบธุรกิจเดียวกันมีค่อนข้างน้อยราย เพราะบริษัทมีเครื่องจักรทันสมัย เรียกได้ว่าลูกค้าโยนงานชนิดใดมา เราสามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้ทันที ปัจจุบันงานเป็นประเภท tailor-made แม้มีมาร์จิ้นค่อนข้างสูง แต่มีสัดส่วนรายได้ยังไม่มาก แต่เชื่อว่าในอนาคตสัดส่วนรายได้งานที่มีมาจิ้นสูงก็จะเพิ่มขึ้นตามความต้องการแน่นอน"นายเอกชัย กล่าว
*เรียกระดมทุน-เข้า mai เตรียมรองรับโปรเจ็คต์ขนาดใหญ๋ใน EEC
นายเอกชัย กล่าวว่า หนึ่งในความได้เปรียบทางธุรกิจของ STC คือ โรงงานทั้ง 4 แห่ง อยู่ในทำเลที่เป็นจุดยุทธศาสตร์ใจกลางเมืองพัทยา ชิงความได้เปรียบเรื่องระยะทางขนส่ง และได้เปรียบต้นทุนการแข่งขันที่ดีกว่าคู่แข่ง ยิ่งหาก EEC มีความชัดเจน จะส่งผลบวกกับผลประกอบการบริษัทให่เติบโตได้ในระยะยาว เพราะปัจจุบันยอดขายสินค้า STC กระจายฐานลูกค้าครอบคลุมทั้งในกลุ่มผู้รับเหมาโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐทั้งด้านสาธารูปโภคขั้นพื้นฐานและคมนาคม
นอกจากนั้น บริษัทยังมีกลุ่มลูกค้าเป็นภาคเอกชนรายใหญ่ อาทิ ผู้ประกอบการกลุ่มนิคมอุตสาหกรรมที่เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ของ STC มาขยายโครงสร้างพื้นฐานภายในนิคมฯ เช่น เสาไฟฟ้า ,ท่อระบายน้ำ เป็นต้น ส่วนที่เหลือกระจายในกลุ่มเอกชนรายย่อย เช่น งานก่อสร้างที่อยู่อาศัยบ้านจัดสรร, คอนโดมิเนียม และฐานลูกค้าเป็นรายย่อยทั่วไป
สำหรับแผนการระดมทุนผ่านการเสนอขาย IPO ในครั้งนี้ เพื่อนำไปชำระคืนเงินกู้จากสถาบันการเงินที่ใช้ก่อสร้างและขยายโรงงานนาวังไปแล้ว 2 เฟสรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของพื้นที่ภายใต้ EEC โดยเริ่มผลิตไปบางส่วนแล้วตั้งแต่ในไตรมาส 3/61 และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน
นอกจากนั้น บริษัทมีแผนลงทุนในเฟส 3 เพื่อขยายกำลังการผลิตโรงงานนาวังให้เพียงพอต่อความต้องการมากขึ้น คาดเริ่มลงทุนภายในปี 64 ใช้เงินลงทุนราว 120 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันโรงงานนาวังยังมีพื้นที่ว่างเหลืออีก 30% รองรับการขยายกำลังผลิตได้ โดยไม่ต้องใช้เงินลงทุนซื้อที่ดินใหม่เพิ่มเติม
ทั้งนี้ ตามข้อมูลโครงการ EEC ออกแบบเพื่อรองรับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น ยานยนต์ หุ่นยนต์ การบินและโลจิสติกส์ การแพทย์ ดิจิตอล มีแผนการลงทุน 1.5 ล้านล้านบาท ครอบคลุมทั้งถนน ระบบราง ทางอากาศ และทางน้ำ อาทิ มอเตอร์เวย์ 3 เส้นทาง ได้แก่ กรุงเทพฯ-ชลบุรี พัทยา-มาบตาพุด แหลมฉบัง-นครราชสีมา, รถไฟทางคู่, รถไฟความเร็วสูง สถานีรถไฟอู่ตะเภา ,สนามบินอู่ตะเภา, พัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 และ ท่าเรือมาบตาพุดระยะที่ 3
"อยากให้มองการพัฒนาการลงทุนในโครงการ EEC ปัจจุบันมีการขยายไปมากแล้ว แม้ว่ากรณี EEC ถูกชะลอออกไป แต่เรามีความเชื่อมั่นว่าสุดท้ายแล้วเอกชนก็ต้องกลับมาขยายการลงทุน เพราะสนามบินอู่ตะเภาพัฒนาไปมากแล้ว รวมถึงการพัฒนาเส้นทางเดินรถมอเตอร์สาย 7 ต่อไปถึงอู่ตะเภาเรียบร้อยแล้ว เป็นสนามบินหลักอีกแห่งหนึ่งของประเทศ
ประกอบกับโครงการรถไฟเชื่อม 3 สนามบินมีความชัดเจน เป็นปัจจัยกระตุ้นบรรยากาศลงทุนในจังหวัดชลบุรีคึกคักกันมาก สะท้อนจากการเสนอราคาเข้ามากับบริษัทเพื่อนำไปจัดทำประมาณการเข้าประมูลงานต่างๆ ทางทีมผู้บริหาร STC ได้เตรียมพร้อมรองรับกับฐานลูกค้าในกลุ่มนี้แล้ว"นายเอกชัย กล่าว
*ลุ้นผลงานปี 62 เติบโตทุบสถิติ รับอานิสงส์ไฮซีซั่นโค้งสุดท้ายของปี
นายเอกชัย กล่าวว่า ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา แม้ STC จะมีอัตรากำไรสุทธิทรงตัว เนื่องจากปริมาณงานใหม่ทั้งรัฐและเอกชนไม่ได้ขยายตัวมากเหมือนในอดีต แต่เมื่อปลายปี 61 หลังจากโรงงานนาวังก่อสร้างแล้วเสร็จและเดินเครื่องผลิตเชิงพาณิชย์ สามารถรองรับการขยายงาน โดยเฉพาะงานก่อสร้างสาธารณูปโภคเพื่อรองรับโครงการต่างๆ ของ EEC ซึ่งเป็นสิ่งที่บริษัทคาดการณ์ไว้แล้วเมื่อ 2 ปีก่อน ส่งผลให้รายได้รวมและอัตรากำไรสุทธิขยายตัวโดดเด่น และมั่นใจว่าผลประกอบการสิ้นปี 62 จะเติบโตตามเป้าหมายแน่นอน
"ไตรมาส 3/62 เราทำได้ดี กำไรสุทธิมากกว่า 9 เดือนของปีที่แล้วรวมกัน ขณะที่กำไรสุทธิงวด 9 เดือนปีนี้เติบโตทุบสถิติสูงสุดใหม่ ซึ่งตามปกติแล้วธุรกิจ STC เข้าสู่ไฮซีซั่นในช่วงไตรมาส 3 และ 4 ซึ่งแปลว่าแนวโน้มไตรมาสสุดท้ายของปีนี้เชื่อมั่นว่าจะเติบโตไปในทิศทางเดียวกัน ส่วนมาร์จิ้นที่ดีขึ้นโดดเด่นส่วนหนึ่งเกิดจากดีมานต์เพิ่มขึ้น ทำให้บริษัทปรับราคาขายผลิตภัณฑ์ได้ บวกกับโรงงานนาวัง ที่เพิ่งสร้างแล้วเสร็จส่งผลบวกให้เกิด economy of scale หนุนให้อัตรากำไรขั้นต้นและอัตรากำไรสุทธิสูงขึ้นตามๆ กันไปด้วย"นายเอกชัย กล่าว
ข้อมูลที่ STC รายงานผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ พบว่า ในไตรมาส 3/62 มีรายได้รวม 107.24 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.12% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้ 102.99 ล้านบาท ขณะที่มีกำไรขั้นต้น 37.38 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 42.85% และ กำไรสุทธิ 9.06 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 271.53% เนื่องจากการลงทุนที่เพิ่มขึ้นของภาครัฐ สนับสนุนให้รายได้จากผลิตภัณฑ์คอนกรีตสำเร็จรูปประเภทท่อระบายน้ำคอนกรีตเสริมเหล็ก และบ่อพักน้ำ โดยเฉพาะท่อรูปสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ที่มีมาร์จิ้นค่อนข้างสูงได้รับการตอบรับเพิ่มขึ้น
ส่วนงวด 9 เดือนแรกของปี 62 มีรายได้รวม 303.45 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.12% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้ 273.09 ล้านบาท ขณะที่กำไรขั้นต้น 25.05 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 35.27% และ กำไรสุทธิ 17.94 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 221.39% โดยอัตรากำไรขั้นต้นสูงขึ้นมาที่ 31.78% อัตรากำไรสุทธิสูงขึ้นมาที่ 5.91% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 4.05%
https://youtu.be/SEFxdp49QD0