(เพิ่มเติม) TFG ดึงกลุ่ม EA เข้าร่วมทุน 40% ใน"ทีเอฟ เทค"วางเป้าผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์ 200 MW ลงทุนรวมไม่เกิน 4 พันลบ.ใน 3 ปี

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday December 12, 2019 14:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป (TFG) แจ้งว่าที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 7/2562 เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2562 มีมติอนุมัติให้บริษัทย่อย คือ บริษัท ไทย ฟู้ดส์ กรีน เอนเนอร์จี้ จำกัด (TFGE) เข้าถือหุ้นในบริษัท ทีเอฟ เทค จำกัด (TF Tech) แทนบริษัท ซึ่งประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน

จากนั้น TF Tech จะเพิ่มทุนจดทะเบียนจาก 100 ล้านบาท เป็น 200 ล้านบาท โดย TFGE และผู้ถือหุ้นบางรายขอสละสิทธิไม่ซื้อหุ้นเพิ่มทุนบางส่วนเพื่อให้บริษัท อีเอ รีนิวเอเบิล โฮลดิง จำกัด (ERH) บริษัทย่อยของ บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) เข้ามาร่วมลงทุน ทำให้สัดส่วนการถือหุ้นของ TFGE ใน TF Tech ลดลงจาก 76% ของทุนจดทะเบียน เป็น 40% และ TF Tech จะพ้นสถานะจากการเป็นบริษัทย่อยของบริษัท ขณะที่ ERH จะเข้ามาถือหุ้นใน TF Tech ในสัดส่วน 40% และบุคคลธรรมดา 3 ราย ถือหุ้นรวม 20%

ทั้งนี้ กลุ่ม EA มีประสบการณ์ความเชี่ยวชาญด้านพลังงานทดแทน โดยความร่วมมือนี้จะส่งผลให้ร่วมกันพัฒนาความต้องการทางด้านการใช้พลังงานและลดต้นทุนการใช้พลังงานในกลุ่มธุรกิจของบริษัท รวมทั้งคาดว่าจะขยายการดำเนินธุรกิจนอกเครือบริษัทต่อไป เพื่อสร้างผลตอบแทนให้แก่ผู้ถือหุ้นของบริษัท

วันนี้ กลุ่ม TFG และ EA ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) เข้าร่วมลงทุนใน TF Tech โดยกลุ่ม EA และ TFG จะถือหุ้นฝ่ายละ 40%

นายเพชร นันทวิสัย รองประธานสายงานฟาร์มและพัฒนาคุณภาพ TFG กล่าวว่า ความร่วมมือกับกลุ่ม EA ใน TF Tech ครั้งนี้ เพื่อดำเนินโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบทุ่นลอยน้ำ (Solar Floating) และติดตั้งบนหลังคา (Solar Rooftop) ในพื้นที่โรงงานของกลุ่ม TFG เป้าหมายกำลังการผลิตรวม 200 เมกะวัตต์ (MW) เพื่อลดต้นทุนค่าไฟฟ้า โดยคาดว่าเฟสแรก 13.78 เมกะวัตต์จะสามารถลดต้นทุนด้านพลังงานให้กับบริษัทได้ 6-10% หรือคิดเป็นมูลค่าราว 30-50 ล้านบาท จากปกติที่มีต้นทุนราว 500 ล้านบาท และหากดำเนินการได้ครบตามเป้าหมายที่ 200 เมกะวัตต์ก็คาดว่าจะช่วยประหยัดต้นทุนดังกล่าวได้ถึง 20% หรือคิดเป็นมูลค่า 100 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม การลงทุนดังกล่าว EA จะเป็นผู้ดำเนินการทั้งหมด และขายไฟฟ้าให้กับบริษัทในราคาส่วนลด 20% ขณะเดียวกันบริษัทก็จะได้รับส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมทุนด้วย

ด้านนายอมร ทรัพย์ทวีกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ของ EA เปิดเผยว่า เฟสแรกจะมีการติดตั้งโซลาร์ลอยน้ำขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้า 13.78 เมกะวัตต์ ในโรงงาน 4 แห่ง ประกอบด้วย โรงชำแหละไก่กาญจนบุรี, โรงชำแหละไก่ กบินทร์บุรี, โรงอาหารสัตว์ สุพรรณบุรี และโรงอาหารสัตว์ กบินทร์บุรี คาดว่าจะเริ่มดำเนินการภายในเดือน พ.ค.63 โดยโซลาร์ลอยน้ำจะมีมูลค่าการลงทุนราว 20-21 ล้านบาท/เมกะวัตต์ หรือคิดเป็นมูลค่าการลงทุนรวมประมาณ 200-300 ล้านบาท

นอกจากนี้ แผนขยายสู่การก่อสร้างและติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาโรงงาน ฟาร์มเลี้ยงไก่ และสุกรของ TFG และบริษัทในเครือ เมื่อรวมกับโซลาร์ลอยน้ำคาดว่าจะรองรับกำลังการผลิตไฟฟ้าได้ทั้งสิ้น 200 เมกะวัตต์ โดยจะเริ่มทยอยก่อสร้างภายใน 3 ปี (ปี 63-65) มูลค่าลงทุนจะอยู่ที่ 15-20 ล้านบาท/เมกะวัตต์ หรือคิดเป็นมูลค่าการลงทุนรวมไม่เกิน 4 พันล้านบาท

อย่างไรก็ตาม การเข้าไปดำเนินการโครงการโซลาร์ ให้กับ TFG มีเป้าหมายหลักในการลดต้นทุนด้านพลังงานของ TFG ลง 20% คาดว่าจะลดค่าไฟฟ้าลงมาอยู่ที่ 3 บาท/หน่วย และโครงการดังกล่าวจะสร้างรายได้ 4.7 ล้านบาท/เมกะวัตต์ และให้อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย,ภาษี,ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA Margin) ที่ 85-90%

พร้อมกันนี้ บริษัทเชื่อว่าความร่วมมือกับ TFG จะสร้างโอกาสให้ TF Tech มีศักยภาพเข้ารับงานโครงการโซลาร์ให้กับผู้ประกอบการรายอื่น ๆ ด้วย และยังหาโอกาสที่จะเข้าไปดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน ตามนโยบายของภาครัฐแต่ต้องรอดูความชัดเจนจากทางภาครัฐอีกครั้ง

นายอมร กล่าวว่า บริษัทยังมีความสนใจที่จะเข้าไปประมูลโครงการโซลาร์ลอยน้ำของภาครัฐที่ทยอยเปิดประมูลในหลายเขื่อน แต่ต้องมาพิจารณาถึงผลตอบแทนที่จะได้รับ โดยบริษัทมีเป้าอัตราผลตอบแทนจากการลงทุน (IRR) ราว 12-15% และยังรอความชัดเจนโครงการโซลาร์ไฮบริด ขนาดกำลังการผลิตรวม 40 เมกะวัตต์ คาดว่าจะเห็นความชัดเจนของแผนพลังงานของประเทศเวียดนามมีประกาศอย่างเป็นทางการในปีหน้า

สำหรับผลการดำเนินงานในปี 63 บริษัทตั้งเป้ารายได้จะเติบโตไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นล้านบาท โดยจะมาจากธุรกิจโรงไฟฟ้า 51% ,ธุรกิจรถยนต์ EV 27% , ธุรกิจไบโอดีเซล 17%, ธุรกิจกรีนดีเซลและ PCM ราว 4% และที่เหลือเป็นธุรกิจ E-Ferry & Charging ขณะที่การลงทุนปีหน้าคาดว่าจะอยู่ที่ 7.4 พันล้านบาท โดยเน้นน้ำหนักการลงทุนไปที่โครงการผลิตแบตเตอรี่ลิเที่ยมไอออนเฟสแรก ขนาดกำลังการผลิต 1 กิกะวัตต์ชั่วโมง (GWh) มูลค่าลงทุนประมาณ 5 พันล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ