บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) แจ้งว่าในวันนี้ (17 ธ.ค.) บมจ.เอสซีจี แพคเกจจิ้ง (SCGP) ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวนเพื่อเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยมีบล.ไทยพาณิชย์ เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน และบล.บัวหลวง เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย
SCGP จะเสนอขายหุ้น IPO จำนวนไม่เกิน 1,374,000,000 หุ้น มูลค่าหุ้นที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท โดยแบ่งเป็น (1) จัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนรวมไม่เกิน 1,194,800,000 หุ้น คิดเป็นสัดส่วนไม่เกิน 27.7% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและจำหน่ายได้แล้วทั้งหมดภายหลังการเสนอขายหุ้น IPO (ไม่รวมจำนวนหุ้นที่ผู้จัดหาหุ้นส่วนเกินอาจใช้สิทธิซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนจาก SCGP ในกรณีที่มีการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน) และ (2) อาจมีการจัดสรรหุ้นส่วนเกินจำนวนไม่เกิน 179,200,000 หุ้น คิดเป็นสัดส่วนไม่เกิน 15.0% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเสนอขายทั้งหมดในครั้งนี้
ทั้งนี้ จำนวนหุ้น IPO จะมีสัดส่วนไม่เกิน 30% ของทุนชำระแล้วของ SCGP ภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนในครั้งนี้ และบริษัทจะยังคงเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ใน SCGP ในสัดส่วนไม่ต่ำกว่า 70% ของทุนชำระแล้วของ SCGP จากปัจจุบันที่ถืออยู่ 99% ภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนในครั้งนี้
เบื้องต้น SCGP มีวัตถุประสงค์การใช้เงินที่ได้รับจากการเสนอขายหุ้น IPO เพื่อใช้เป็นเงินลงทุนในการขยายธุรกิจด้วยการขยายกำลังการผลิตของ SCGP (Organic) และ/หรือการควบรวมกิจการ (Inorganic) , ชำระคืนเงินกู้ และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินกิจการ โดยการเสนอขายหุ้น IPO มีธนาคารไทยพาณิชย์ เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน
สำหรับ SCGP ประกอบธุรกิจโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company) เพื่อให้บริการโซลูชั่นด้านบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจรในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นำเสนอทั้งบรรจุภัณฑ์จากเยื่อและกระดาษ (Fiber-Based Packaging) บรรจุภัณฑ์จากวัสดุสมรรถนะสูงและโพลิเมอร์ (Performance and Polymer Packaging : PPP) และภาชนะบรรจุอาหาร (Food Service Products) พร้อมบริการออกแบบ การพิมพ์และโซลูชั่นที่หลากหลายตามที่ลูกค้าต้องการ
จากข้อมูลของ ฟรอส์ท แอนด์ ซัลลิวัน ในปี 62 SCGP เป็นผู้ผลิตกระดาษบรรจุภัณฑ์รายใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีกำลังการผลิตรวม 4.0 ล้านตัน/ปี (รวมกำลังการผลิตของ Fajar) และเป็นผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์กล่องลูกฟูก (Corrugated Containers) รายใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีกำลังการผลิตรวม 1.1 ล้านตัน/ปี
บริษัทระบุโครงการในอนาคต ณ วันที่ 30 พ.ย.62 มีโครงการขยายกำลังการผลิตที่อยู่ระหว่างดำเนินการ ได้แก่ โครงการขยายกำลังการผลิตกระดาษบรรจุภัณฑ์ลูกฟูก (Containerboard) และ กระดาษกล่องเคลือบขาว (Duplex Paper) ที่ประเทศอินโดนีเซีย กำลังการผลิตส่วนเพิ่ม 400,000 ตัน/ปี งบลงทุน 1,868 ล้านบาท เริ่มโครงการในเดือน ก.ค.62 ถึงเดือน ก.ค.63 การก่อสร้างคืบหน้าไปแล้วราว 43%
ส่วนโครงการขยายกำลังการผลิตกระดาษบรรจุภัณฑ์ลูกฟูก (Containerboard) ที่ประเทศฟิลิปปินส์ กำลังการผลิตส่วนเพิ่ม 220,000 ตัน/ปี งบลงทุน 5,115 ล้านบาท ระยะเวลาเริ่มโครงการในเดือน ธ.ค.61 ถึงประมาณเดือน พ.ย.63 การก่อสร้างโครงการคืบหน้าประมาณ 34%
เมื่อทั้ง 2 โครงการดำเนินการแล้วเสร็จ กำลังการผลิตกระดาษบรรจุภัณฑ์ของ SCGP จะเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 15.7% จากเดิม 4.0 ล้านตัน/ปี เป็น 4.6 ล้านตัน/ปี ซึ่งจะช่วยเสริมสถานะภาพการเป็นผู้นำการให้บริการโซลูชั่นด้านบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจรในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้อย่างต่อเนื่อง
นอกจากนั้น โครงการขยายกำลังการผลิตบรรจุภัณฑ์แบบอ่อนตัวที่ประเทศเวียดนาม กำลังการผลิตส่วนเพิ่ม 84 ล้านตารางเมตร/ปี งบลงทุน 592 ล้านบาท ระยะเวลาเริ่มโครงการในเดือน ก.ย.61 ถึงประมาณเดือน มี.ค.63 การก่อสร้างโครงการคืบหน้าประมาณ 55% เมื่อโครงการแล้วเสร็จ กำลังการผลิต PPP ของบริษัทจะเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 10.3% จากเดิม 817 ล้านตารางเมตร/ปี เป็น 901 ล้านตารางเมตร/ปี
ณ วันที่ 6 ธ.ค.62 บริษัทมีทุนจดทะเบียนจำนวน 4,500,000,000 บาท โดยเป็นทุนชำระแล้วจำนวน 3,126,000,000 บาท แบ่งออกเป็นหุ้นสามัญจำนวน 3,126,000,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท โดยผู้ถือหุ้นใหญ่ คือ SCC ถือหุ้น 99% หลังเสนอขายหุ้น IPO แล้วจะลดสัดส่วนหุ้นลงเหลือ 68.8%
ผลการดำเนินงานปี 59-61 บริษัทมีรายได้จากการขาย 74,542 ล้านบาท 81,455 ล้านบาท และ 87,255 ล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่มีกำไร 3,851 ล้านบาท 5,374 ล้านบาท และ 6,826 ล้านบาทตามลำดับ
ขณะที่งวด 9 เดือนแรกปี 62 มีรายได้จากการขาย 65,975 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 65,972 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีกำไร 4,571 ล้านบาท ลดลงจาก 5,218 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการลดลงของอัตรากำไรมาจากผลกระทบค่าใช้จ่ายผลประโยชน์ของพนักงานจากการปรับปรุงเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงานจำนวน 527 ล้านบาท และผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมจาก SCC เพื่อเป็นเงินทุนในการควบรวมกิจการ และการบันทึกการรวมเงินกู้ยืมของบริษัทต่าง ๆ ที่ SCGP ควบรวมกิจการมา
ณ สิ้น ก.ย.62 มีสินทรัพย์รวม 138,504 ล้านบาท และมีหนี้สินรวม 77,586 ล้านบาทขณะที่มีส่วนของผู้ถือหุ้น 60,918 ล้านบาท
ทั้งนี้ SCGP มีนโยบายการจ่ายเงินปันผลไม่ต่ำกว่า 20% ของกำไรสุทธิตามงบการเงินรวม หลังหักภาษีเงินได้นิติบุคคลและหลังหักสำรองต่าง ๆ ทุกประเภทตามที่กฎหมายและบริษัทกำหนดไว้ในแต่ละปี โดยอัตราการจ่ายเงินปันผลดังกล่าวอาจเปลี่ยนแปลงไปจากที่กำหนดไว้