บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยแนวโน้มผลการดำเนินงานในไตรมาส 1/63 และปี 63 โดยคาดว่าปริมาณขายปิโตรเลียมเฉลี่ยจะอยู่ที่ 394,000 บาร์เรล/วัน และ 391,000 บาร์เรล/วัน ตามลำดับ โดยปริมาณขายปิโตรเลียมในปี 63 จะเพิ่มจากปีที่แล้ว เป็นผลจากการเข้าซื้อกิจการของ Murphy ในมาเลเซีย และบริษัท Partex ที่เสร็จสิ้นในเดือน ก.ค.62 และเดือน พ.ย.62
ด้านราคาขายผลิตภัณฑ์ในปี 63 คาดว่าราคาน้ำมันดิบจะผันแปรตามราคาตลาดโลกที่คาดว่าจะยังคงมีความผันผวนและเคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 60-70 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ขณะที่ราคาก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์หลักนั้นมีโครงสร้างราคาส่วนหนึ่งผูกกับราคาน้ำมันย้อนหลังประมาณ 6-24 เดือน คาดว่าราคาเฉลี่ยของไตรมาส 1/63 และทั้งปี 63 จะอยู่ที่ประมาณ 6.8 และ 6.4 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู ตามลำดับ เป็นผลจากการปรับตัวของราคาน้ำมันในตลาดโลก
อย่างไรก็ตาม การประกันความเสี่ยงราคาน้ำมัน ณ สิ้นปี 62 มีปริมาณน้ำมันภายใต้สัญญาประกันความเสี่ยงที่ยังไม่ครบกำหนดอยู่ที่ประมาณ 13 ล้านบาร์เรล ทั้งนี้ ปตท.สผ.มีความยืดหยุ่นในการปรับแผนการประกันความเสี่ยงราคาน้ำมันตามความเหมาะสม
สำหรับไตรมาส 1/63 และทั้งปี 63 ปตท.สผ.คาดว่าจะสามารถรักษาต้นทุนต่อหน่วยได้ที่ประมาณ 32 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ซึ่งสอดคล้องกับแผนการดำเนินงานที่มีการรผลิตเพิ่มขึ้น ขณะที่คาดว่าทั้งปี 63 จะมีอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ,ภาษี,ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA Margin) ที่ 70-75% ของรายได้จากการขาย
ในปี 63 ปตท.สผ.มีแผนในการดำเนินงานเพื่อสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นกลยุทธ์ด้าน Execution เพื่อรักษาปริมาณการผลิตจากโครงการผลิตหลัก ดำเนินงานในช่วงเปลี่ยนผ่านอย่างมีประสิทธิภาพสำหรับโครงการที่ได้มา ทั้งโครงการ G1/61 (แหล่งเอราวัณ) โครงการ G2/61 (แหล่งบงกช) ในอ่าวไทย ,โครงการใหม่ในมาเลเซีย และโครงการภายใต้บริษัท Partex ผลักดันโครงการที่อยู่ในระหว่างการพัฒนาให้สามารถเริ่มการผลิตได้ตามแผน
พร้อมเร่งพัฒนาโครงการ ซาราวัก เอสเค 410 บี เพื่อให้สามารถเข้าสู่ขั้นตอนของการตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้าย (FID) รวมทั้งมุ่งเน้นกิจกรรมการเจาะสำรวจ โดยเฉพาะในมาเลเซียและเมียนมา เพื่อเพิ่มปริมาณสำรองในระยะยาว
ณ สิ้นปี 62 ปตท.สผ. มีโครงการและการดำเนินกิจกรรมทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ มากกว่า 40 โครงการใน 15 ประเทศ มีปริมาณสำรองที่พิสูจน์แล้ว (Proved Reserves) จำนวน 1,140 ล้านบาร์เรล ส่งผลให้มีอัตราส่วนของปริมาณสำรองที่พิสูจน์แล้วต่ออัตราการผลิต (Proved Reserves/Production Ratio) ตามเป้าหมายที่ 7.5 ปี ขณะที่ปริมาณสำรองที่น่าจะพบ (Probable Reserves) จำนวน 507 ล้านบาร์เรล
ส่วนผลการดำเนินงานในปี 62 ปตท.สผ.มีกำไรสุทธิ 1,569 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 40% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยหลักจากปริมาณการขายปิโตรเลียมที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากการเข้าซื้อสัดส่วนเพิ่มเติมในโครงการบงกช การเข้าซื้อกิจการในมาเลเซีย และบริษัท Partex นอกจากนี้ยังมีโครงสร้างทางการเงินที่แข็งแกร่งพร้อมรับโอกาสการลงทุนต่าง ๆ สะท้อนผ่านความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่ 3,540 ล้านเหรียญสหรัฐ และมีระดับ EBITDA Margin อยู่ที่ 71%
สำหรับสถานะการเงินของ ปตท.สผ. ณ สิ้นปี 62 มีสินทรัพย์รวม 22,202 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยเป็นส่วนของเงินสดและเงินลงทุนระยะสั้น รวมทั้งสิ้น 3,023 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่มีหนี้สินรวม 10,361 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นส่วนหนี้สินที่มีดอกเบี้ย 3,442 ล้านเหรียญสหรัฐ และส่วนของผู้ถือหุ้น 11,841 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นที่ 0.29 เท่า
ในปี 62 ปตท.สผ. มีรายได้รวมเพิ่มขึ้น 17% มาที่ 6,413 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยปริมาณขายปิโตรเลียมเฉลี่ย 350,651 บาร์เรล/วัน เพิ่มขึ้น 15% จาก 305,522 บาร์เรล/วันในปี 61 และมีราคาขายเฉลี่ย 47.24 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จาก 46.66 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลในปี 61
ทั้งนี้ ปตท.สผ.มีกำไรจากการดำเนินงานปกติ จำนวน 1,445 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 230 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อเปรียบเทียบกับปี 61 ที่มีกำไร 1,215 ล้านเหรียญสหรัฐ เนื่องจากรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากปริมาณขายและราคาขายเฉลี่ยที่สูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ค่าใช้จ่ายรวมเพิ่มขึ้น โดยหลักจากค่าเสื่อมราคา ค่าสูญสิ้น และค่าตัดจำหน่ายเพิ่มขึ้น 178 ล้านเหรียญสหรัฐ จากปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้นจากการเข้าซื้อสัดส่วนการลงทุนเพิ่มของโครงการบงกชในไตรมาส 2/61 และการเข้าซื้อบริษัทในเครือ Murphy ในประเทศมาเลเซียในไตรมาส 3/62 ค่าใช้จ่ายการดำเนินงานเพิ่มขึ้น 106 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนใหญ่จากปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้นจากการเข้าซื้อบริษัทในเครือ Murphy และค่าใช้จ่ายในการสำรวจปิโตรเลียมเพิ่มขึ้น 82 ล้านเหรียญสหรัฐ จากการตัดจำหน่ายหลุมสำรวจ
ทั้งนี้ ในปี 62 ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยอยู่ที่ 63.5 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล (ข้อมูลจาก Platts) ซึ่งปรับตัวลดลงจากราคาเฉลี่ยปี 61 ที่อยู่ระดับ 69.7 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ขณะที่ราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LNG) ในส่วนราคา Asian spot LNG เฉลี่ยปรับตัวลดลงจากปีก่อนอยู่ที่ 5.51 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู ซึ่งได้รับผลกระทบหลักมาจากราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลดลง อีกทั้งอุปทาน LNG ยังคงอยู่ในสภาวะล้นตลาดจากโครงการใหม่ ๆ ที่ได้รับการอนุมัติก่อสร้างไปในช่วง 5 ปีผ่านมา
ปตท.สผ. ยังได้เปิดเผยความคืบหน้าการสำรวจและพัฒนาโครงการปิโตรเลียมต่าง ๆ โดยเฉพาะโครงการในเมียนมา ในส่วนของโครงการซอติก้า ที่ล่าสุดได้รับการอนุมัติแผนพัฒนาโครงการเฟส 1D (Field Development Plan) จากรัฐบาลเมียนมาเป็นที่เรียบร้อยในปี 62 โครงการมีปริมาณการขายก๊าซธรรมชาติเฉลี่ยตามเป้าหมายที่ 297 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน
ขณะที่โครงการที่อยู่ระหว่างสำรวจ อย่างโครงการเมียนมา เอ็ม 3 ได้ยื่นปรับแผนพัฒนาโครงการเพื่อให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาโครงการ Gas to Power ต่อรัฐบาลเมียนมาในไตรมาส 4/62 ,โครงการเมียนมา MD-7 เตรียมการเจาะหลุมสำรวจ 1 หลุมในไตรมาส 1/63 ,โครงการเมียนมา เอ็ม 11 จากการวิเคราะห์ผลเจาะหลุมที่เสร็จสิ้นในไตรมาส 2 ไม่พบแหล่งปิโตรเลียมที่มีศักยภาพเพียงพอต่อการพัฒนา จึงยื่นขอยุติการสำรวจและคืนพื้นที่แปลงสำรวจในปลายไตรมาส 3/62 โดยจะมีผลสมบูรณ์เมื่อได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลเมียนมา
ส่วนโครงการเมียนมา เอ็มโอจีอี 3 ได้เสร็จสิ้นการเจาะหลุมสำรวจ 4 หลุม โดยจากการวิเคราะห์ผลเจาะหลุม ไม่พบแหล่งปิโตรเลียมที่มีศักยภาพเพียงพอต่อการพัฒนา จึงได้มีการตัดจำหน่ายหลุมสำรวจทั้งหมดในปี 62
ด้านนายพงศธร ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ของปตท.สผ. กล่าวว่า ในปี 63 ปตท.สผ. จะมุ่งดำเนินงานตามแผนการเปลี่ยนผ่านสิทธิการดำเนินงานโครงการใหม่ที่ได้ในปีที่ผ่านมาให้เป็นไปอย่างราบรื่น โดยเฉพาะโครงการ G1/61 (แหล่งเอราวัณ) และโครงการ G2/61 (แหล่งบงกช) ที่กำลังเตรียมแผนงานเพื่อให้ได้ปริมาณการผลิตตามสัญญาแบ่งปันผลผลิต โดยได้เริ่มวางแผนการเจาะหลุมสำรวจ การสร้างแท่นผลิตและท่อส่งก๊าซธรรมชาติ รวมถึงศึกษาการเตรียมความพร้อมในด้านอื่น ๆ ในส่วนของแหล่งเอราวัณนั้น ปตท.สผ. ได้ประสานงานกับผู้รับสัมปทานรายเดิมและกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติอย่างใกล้ชิด เพื่อให้สามารถดำเนินงานได้ตามแผนและผลิตก๊าซธรรมชาติให้กับประเทศไทยได้อย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ปตท.สผ. จะเร่งกิจกรรมการสำรวจในโครงการที่มีศักยภาพสูง เน้นโครงการในมาเลเซียและเมียนมา เช่น โครงการเมียนมา เอ็มดี-7 และหลุมสำรวจลัง เลอบาห์-1อาร์ดีอาร์ 2 ในแปลงซาราวัก เอสเค 410บี ประเทศมาเลเซีย ซึ่งในปีที่ผ่านมา ปตท.สผ. ประสบความสำเร็จในการเจาะหลุมสำรวจที่ถือเป็นการค้นพบแหล่งก๊าซธรรมชาติครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของบริษัท รวมถึง แปลงสำรวจอื่น ๆ ในบริเวณเดียวกันในประเทศมาเลเซีย เพื่อพิจารณาการลงทุนที่มีประสิทธิภาพสูงสุด
ทั้งนี้ ปตท.สผ. ยังคงมุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มจากโครงการปัจจุบัน และผลักดันการพัฒนาโครงการโมซัมบิก แอเรีย วัน และโครงการแอลจีเรีย ฮาสสิ เบอร์ ราเคซ ให้สามารถผลิตได้ตามแผนที่วางไว้ เพื่อสร้างการเติบโตให้กับบริษัทในระยะยาว
"ปี 62 นอกจากปริมาณการขายที่เพิ่มขึ้นแล้ว เรายังสามารถเพิ่มปริมาณสำรองปิโตรเลียมได้ตามเป้าหมายด้วย โดยจะเพิ่มขึ้นอีกในอนาคตหากมีการสำรวจพบและพิสูจน์ทราบปริมาณสำรองในพื้นที่สำรวจต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นการสร้างการเติบโตให้กับ ปตท.สผ. ไปพร้อม ๆ กับเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศไทยในระยะยาว ส่วนในปี 63 นี้ ปตท.สผ.ตั้งเป้าเพิ่มปริมาณการขายขึ้นอีก 11%"นายพงศธร กล่าว