นายแมนพงศ์ เสนาณรงค์ รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานผู้ออกหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ตลท.ต้อนรับ บมจ. เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น เข้าจดทะเบียนและเริ่มซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในกลุ่มอุตสาหกรรมบริการ หมวดพาณิชย์ โดยใช้ชื่อย่อในการซื้อขายหลักทรัพย์ว่า "CRC" ในวันที่ 20 ก.พ. 2563
กลุ่ม CRC เป็นผู้ดำเนินธุรกิจค้าปลีกสินค้าหลากหลายประเภทผ่านรูปแบบและช่องทางที่หลากหลาย (Multi-format and Multi-category) และเป็นผู้บุกเบิกธุรกิจค้าปลีกในรูปแบบ Omni-channel ในประเทศไทย กลุ่ม CRC เป็นผู้ประกอบการค้าปลีกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เป็นอันดับสามของประเทศเวียดนาม และเป็นผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้าที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศอิตาลี โดยมีร้านค้าในรูปแบบต่าง ๆ ในประเทศไทยจำนวน 1,922 ร้านค้า ครอบคลุม 51 จังหวัด และ 133 ร้านค้าใน 40 จังหวัดของประเทศเวียดนาม และ 9 ห้างสรรพสินค้า ใน 8 เมืองของประเทศอิตาลี
CRC ประกอบธุรกิจโดยการลงทุนในบริษัทอื่น (Holding Company) ซึ่งประกอบธุรกิจค้าปลีก โดยแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ (1) กลุ่มแฟชั่น ซึ่งมุ่งเน้นการจำหน่ายสินค้าเครื่องแต่งกายและเครื่องประดับภายใต้แบรนด์ค้าปลีกต่าง ๆ เช่น ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล ห้างสรรพสินค้าโรบินสัน และรีนาเชนเต (2) กลุ่มฮาร์ดไลน์ ซึ่งจำหน่ายสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และสินค้าตกแต่งและปรับปรุงบ้านภายใต้แบรนด์ค้าปลีกต่าง ๆ เช่น ไทวัสดุ และเพาเวอร์บาย และ (3) กลุ่มอาหาร ซึ่งจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคและสินค้าที่จำหน่ายทั่วไปในร้านสะดวกซื้อภายใต้แบรนด์ค้าปลีกต่าง ๆ เช่น ท็อปส์ เซ็นทรัล ฟู้ด ฮอลล์ และบิ๊กซี เวียดนาม
ณ วันที่ 30 ตุลาคม 2562 CRC มีทุนจดทะเบียนชำระแล้ว 4,700 ล้านบาท มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1.00 บาท ภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนครั้งแรกจำนวน 1,691 ล้านหุ้น (ไม่รวมการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน) ในราคาหุ้นละ 42 บาท คิดเป็นมูลค่าเสนอขายรวม 71,022 ล้านบาท CRC มีทุนจดทะเบียนชำระแล้วทั้งสิ้น 6,031 ล้านบาท และมีมูลค่าหลักทรัพย์ ณ ราคา IPO 253,302 ล้านบาท (รวมมูลค่าหุ้นที่เสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นของ ROBINS ที่ตอบรับคำเสนอซื้อหลักทรัพย์) โดยมีที่ปรึกษาทางการเงิน ได้แก่ บล.บัวหลวง และ บล.ภัทร และมีผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นสามัญ 3 ราย ได้แก่ บล.บัวหลวง บล.ภัทร และ บล.กสิกรไทย พร้อมด้วยผู้จัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายอีก 3 ราย ได้แก่ บล.กรุงศรี บล.ไทยพาณิชย์ และ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย)
นายญนน์ โภคทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร CRC เปิดเผยว่า CRC มีความภาคภูมิใจอย่างยิ่งที่ได้ร่วมสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่จากความสำเร็จในการเสนอขายหุ้น IPO ที่มีมูลค่าเสนอขายสูงที่สุดของตลาดหลักทรัพย์ฯ เท่าที่เคยมีมา รวมทั้งยังเป็นหุ้น IPO ในกลุ่มธุรกิจค้าปลีกที่มีมูลค่าเสนอขายสูงสุดเป็นอันดับ 2 ของโลก ซึ่งสะท้อนความเชื่อมั่นของผู้ลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศที่มีต่อศักยภาพและโอกาสในการเติบโตของผู้นค้าปลีกไทยในระดับโลก โดย CRC มีแผนจะนำเงินที่ได้จากระดมทุนไปใช้ในการขยายกิจการรวมทั้งปรับปรุงสาขาต่าง ๆ ของธุรกิจค้าปลีกในเครือ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมศักยภาพอุตสาหกรรมค้าปลีกไทยและส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม พร้อมกับการเป็นหุ้นพื้นฐานดีเพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้ลงทุนที่มองหาโอกาสเติบโตอย่างไร้ขีดจำกัดในระดับโลกอย่างยั่งยืน
CRC มีผู้ถือหุ้นใหญ่หลัง IPO 3 อันดับแรก ได้แก่ HCDS ถือหุ้นรวม 35.1% ของทุนจดทะเบียนชำระแล้ว Morgan Stanley & Co. International Plc ถือหุ้นรวม 5.8% และ Hawthorn Resources Limited ถือหุ้นรวม 4.2%
ทั้งนี้ บริษัท มีนโยบายการจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้น ในอัตราไม่ต่ำกว่าร้อยละ 40 ของกำไรสุทธิจากงบการเงินรวมหลังหักภาษีเงินได้นิติบุคคล และภายหลังการจัดสรรทุนสำรองตามกฎหมาย ทั้งนี้ อาจพิจารณาจ่ายเงินปันผลแตกต่างไปจากนโยบายที่กำหนดไว้ได้ ขึ้นอยู่กับผลประกอบการ สภาพคล่องทางการเงิน และความจำเป็นในการใช้เงินทุนหมุนเวียนเพื่อบริหารกิจการ และแผนการขยายธุรกิจในอนาคต รวมถึงภาวะเศรษฐกิจ