บมจ.ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส (FSMART) แจ้งเป้าหมายการดำเนินงานในปี 63 ตั้งเป้ารายได้และยอดเติมเงิน เติบโต 4-6% จากปีที่แล้ว และใช้เงินลงทุนราว 100-200 ล้านบาท ขณะที่ได้ปรับวิสัยทัศน์ใหม่เป็น "ผู้นำเครือข่ายช่องทางบริการอัตโนมัติและการเงินครบวงจร ใช้งานง่าย สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย" เพื่อให้สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านเทคโนโลยีและพฤติกรรมของผู้บริโภคที่กำลังเกิดขึ้น
ทั้งนี้ จัดกลุ่มธุรกิจเป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ ธุรกิจเติมเงิน-รับชำระเงินอัตโนมัติ (Online Top-Up & Payment Business) ธุรกิจผู้ให้บริการทางการเงินและสินเชื่อครบวงจร (Banking Agent & Lending business) และธุรกิจส่งมอบสินค้าและบริการ (Distribution Platform Business) เพื่อรองรับการพัฒนาธุรกิจและการขยายธุรกิจใหม่ของบริษัท
1. ธุรกิจเติมเงิน-รับชำระเงินอัตโนมัติ ยังคงเน้นกลยุทธ์บริหารจัดการจุดติดตั้งตู้บุญเติมที่มีคุณภาพ และเพิ่มบริการใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง ผ่านการพัฒนาตู้บุญเติมให้เป็นตู้อัจฉริยะบุญเติมต่าง ๆ อาทิ ตู้จำหน่ายซิมการ์ด ตู้ให้บริการ พิสูจน์ตัวตนด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-KYC) อีกทั้งเพิ่มจำนวนจุดติดตั้งตู้บุญเติมอีก 1,000-2,000 ตู้
โดยบริษัทมุ่งเน้นการสร้างความร่วมมือกับองค์กรต่าง ๆไม่ว่าจะเป็นองค์กรภาครัฐ หรือภาคเอกชน เพื่อให้ตู้บุญเติมเป็นช่องทางการให้บริการที่มีมากกว่บริการเติมเงินโทรศัพท์มือถือ ประกอบกับการที่บริษัทมีเครือข่ายตู้บุญเติมกว่า 130,000 จุดพร้อมด้วยตัวแทนบริการที่กระจายครอบคลุมทั่วประเทศ ไม่ว่าจะพื้นที่ตัวเมืองหรือต่างจังหวัด จึงทำให้ตู้บุญเติมเป็นช่องทางการให้บริการที่สร้างความสะดวกในการเข้าถึงสินค้าและบริการให้กับลูกค้าปัจจุบันพร้อมทั้งขยายฐานลูกค้าใหม่
2. ธุรกิจให้บริการทางการเงินและสินเชื่อครบวงจร มุ่งเน้นให้บุญเติมเป็นศูนย์รวมของการเป็นตัวแทนธนาคาร หรือ Banking Agents ซึ่งปัจจุบันตู้บุญเติมมีบริการรับฝากเงิน/โอนเงินเข้าบัญชีธนาคารแล้ว 6 ธนาคาร ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และธนาคารไทยพาณิชย์ โดยบริษัทมีแผนจะร่วมมือกับธนาคารพาณิชย์รายใหม่อีกอย่างน้อย 1 ราย และมีเป้าหมายยอดธุรกรรมจากบริการโอนเงินเติบโต 40-45% จากปีก่อน
อีกทั้งบริษัทได้พัฒนาศักยภาพของตู้บุญเติมอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ตู้บุญเติมสามารถเป็นจุดให้บริการทางการเงินครบวงจร ได้แก่ ฝาก ถอน โอน จ่าย และเปิดบัญชีผ่านบริการพิสูจน์ตัวตนด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ในตู้เดียว และสำหรับบริการสินเชื่อ บริษัทได้เริ่มทยอยปล่อยสินเชื่อรายย่อยส่วนบุคคลให้เฉพาะกับกลุ่มตัวแทนตู้บุญเติม พนักงานของตัวแทนและพนักงานของบริษัทในเครือ โดยวงเงินสำหรับการปล่อยสินเชื่อในปีนี้อยู่ที่ 500-800 ล้านบาท (ระยะเวลา 12-36 เดือนต่อสัญญา) ซึ่งกลุ่มลูกค้าดังกล่าวมีความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับบริษัทอย่างต่อเนื่อง จัดเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่ำของการปล่อยสินเชื่อ
3. ธุรกิจส่งมอบสินค้าและบริการ เน้นการบริหารจัดการระบบตู้จำหน่ายเครื่องดื่มอัตโนมัติทั้งหมด ได้แก่ ตู้จำหน่ายเครื่องดื่มอัตโนมัติที่มีบริการเติมเงิน-รับชำระเงินของตู้บุญเติมให้เลือกใช้บริการ (Vending Machine & Top-Up Service) ตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ ตู้จำหน่ายกาแฟสด ซึ่งปีนี้มีแผนจะขยายตู้ดังกล่าวทั้งหมดอีก 3,000 - 4,000 ตู้ จากปัจจุบันที่มีกว่า 3,500 ตู้ รวมไปถึง ตู้/สถานีชาร์จและเปลี่ยนแบตเตอรี่รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า /สถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าซึ่งบริษัทได้พัฒนาเสร็จเรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะเริ่มให้บริการได้ในปีนี้
นอกจากนี้บริษัทยังอยู่ระหว่างการเริ่มดำเนินการธุรกิจใหม่ที่ใช้ความเป็นผู้นำเครือข่ายมาเสริมความแข็งแกร่งของธุรกิจ เช่น ธุรกิจกระจายสินค้าให้กับร้านค้าปลีกชุมชน (โชห่วย) ต่าง ๆ
บริษัทมุ่งเน้นการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้ธุรกิจ โดยอาศัยเครือข่ายและความได้เปรียบทางธุรกิจของบริษัท ในการพัฒนาและขยายธุรกิจไปสู่โอกาสใหม่ ๆ อยู่เสมอ เพื่อสร้างให้ธุรกิจบุญเติมเป็นธุรกิจที่มีการเติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งจะส่งผลให้บริษัทมีรายได้ที่เติบโตในอนาคต