เครือซีพีเข้าซื้อกิจการเทสโก้ โลตัส ในประเทศไทยและมาเลเซีย ภายใต้ชื่อกลุ่มเทสโก้เอเชีย คิดเป็นมูลค่าเบื้องต้นประมาณ 10,576 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือเท่ากับ 338,445 ล้านบาท คำนวณบนสมมติฐานกรณีกิจการไม่มีหนี้สินและเงินสด (a cash and debt free basis) โดยมูลค่าสิ่งตอบแทนดังกล่าวอาจมีการปรับเปลี่ยนตามเงื่อนไขที่กำหนดในสัญญาซื้อขายหุ้น
ทั้งนี้ เครือซีพีได้จัดตั้งบริษัท ซี.พี. รีเทล โฮลดิ้ง จำกัด (บริษัทโฮลดิ้ง) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมดในบริษัท ซี.พี. รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ที่จะเข้าทำธุรกรรมการซื้อขายครั้งนี้ โดยบริษัทโฮลดิ้งดังกล่าวจะถือหุ้นโดย เจริญโภคภัณฑ์ โฮลดิ้ง 40%, บมจ.ซีพี ออลล์ (CPALL) 40% และ บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) ถือหุ้น 20%
CPALL เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทมีมติอนุมัติให้บริษัทลงทุนเพื่อให้ได้มาซึ่งหุ้นหรือผลประโยชน์การลงทุน (economic interest) ในสัดส่วนไม่เกิน 40% ของหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของ (ก.) บริษัท เทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด (เทสโก้ประเทศไทย") ซึ่งถือหุ้นในสัดส่วน 99.99% ในบริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด ผู้ประกอบธุรกิจค้าปลีกภายใต้เครื่องหมายการค้า Tesco Lotus ในประเทศไทย และ (ข) Tesco Stores (Malaysia) Sdn. Bhd. (เทสโก้ประเทศมาเลเซีย) ซึ่งประกอบธุรกิจค้าปลีกภายใต้เครื่องหมายการค้า Tesco ในประเทศมาเลเซีย
การลงทุนดังกล่าวของบริษัทจะเป็นการลงทุนโดยอ้อมผ่านนิติบุคคลเฉพาะกิจที่จัดตั้งขึ้นเพื่อการลงทุน ได้แก่ บริษัท ซี.พี. รีเทล โฮลดิ้ง จำกัด (บริษัทโฮลดิ้ง) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมดในบริษัท ซี.พี. รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด โดยเงินลงทุนของบริษัทในบริษัทโฮลดิ้งเพื่อธุรกรรมการลงทุนในกลุ่มเทสโก้เอเชียมีมูลค่าประมาณ 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือเท่ากับ 95,981 ล้านบาท
นายเกรียงชัย บุญโพธิ์อภิชาติ Chief Financial Officer ของ CPALL กล่าวว่า การลงทุนของ CPALL ในครั้งนี้จะเป็นการลงทุนจำนวน 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (95,981 ล้านบาท) หรือไม่เกิน 40% ผ่านนิติบุคคลเฉพาะกิจที่จัดตั้งขึ้นเพื่อการลงทุน คือ บริษัท ซี.พี. รีเทล โฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมดในบริษัท ซี.พี.รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด เพื่อลงทุนในกลุ่มเทสโก้เอเชีย (เทสโก้ประเทศไทยและเทสโก้ประเทศมาเลเซีย)
ทั้งนี้ บริษัทเชื่อว่าการลงทุนดังกล่าวจะส่งเสริมให้บริษัท และผู้ถือหุ้นของบริษัทได้ประโยชน์หลายประการจากการได้มาซึ่งธุรกิจค้าปลีกในประเทศไทยที่มีรูปแบบร้านค้าที่หลากหลาย ที่จะช่วยส่งเสริมรูปแบบธุรกิจที่บริษัทมีอยู่ในปัจจุบัน และมีผลการดำเนินงานที่ดี ทำให้มีรูปแบบร้านค้าที่หลากหลายขึ้น ซึ่งรวมถึง ค้าส่ง cash and carry และรูปแบบค้าปลีก (ไฮเปอร์มาร์เก็ต ซุปเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อ) นอกจากนี้ยังยกระดับการให้บริการแก่ผู้บริโภคที่สร้างสรรค์มากยิ่งขึ้น ด้วยโอกาสธุรกิจเศรษฐกิจสมัยใหม่ (new economy business) ขณะที่ การเข้าซื้อธุรกิจในประเทศมาเลเซียจะเป็นช่องทางในการเข้าสู่ตลาดค้าปลีกขนาดใหญ่ในประเทศมาเลเซีย ซึ่งจะสร้างรายได้เข้าประเทศอีกทางหนึ่ง
นอกจากนี้ เทสโก้ โลตัส จะเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการจำหน่ายสินค้าให้กับเอสเอ็มอี เกษตรกร และผลิตภัณฑ์ชุมชน หลังจากที่แมคโคร และเซเว่น อีเลฟเว่น ได้เข้าไปส่งเสริม สนับสนุนให้สินค้าเอสเอ็มอีสามารถกระจายสินค้าไปสู่คนไทยทั่วประเทศได้อย่างรวดเร็ว ช่วยทำให้เศรษฐกิจฐานราก และเศรษฐกิจของประเทศโดยภาพรวมเติบโตต่อไปอย่างยั่งยืน
ขณะที่ CPF เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทมีมติอนุมัติให้ บริษัท ซีพี เมอร์แชนไดซิ่ง จำกัด (CPM) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ CPF ถือหุ้นทั้งหมด ลงทุนเพื่อให้ได้มาซึ่งหุ้นหรือผลประโยชน์การลงทุน (economic interest) ในสัดส่วนไม่เกิน 20% ของหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของ (ก.) เทสโก้ประเทศไทย และ (ข) เทสโก้ประเทศมาเลเซีย
การลงทุนดังกล่าวของบริษัทจะเป็นการลงทุนโดยอ้อมผ่านนิติบุคคลเฉพาะกิจที่จัดตั้งขึ้นเพื่อการลงทุน ได้แก่ บริษัท ซี.พี. รีเทล โฮลดิ้ง จำกัด (บริษัทโฮลดิ้ง) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมดในบริษัท ซี.พี. รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด โดยเงินลงทุนของ CPM ในบริษัทโฮลดิ้งเพื่อธุรกรรมการลงทุนในกลุ่มเทสโก้เอเชียมีมูลค่าประมาณ 1,500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือเท่ากับ 47,991 ล้านบาท
ส่วนหุ้นอีก 40% ในบริษัท ซี.พี. รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด จะถือโดย บริษัท เจริญโภคภัณฑ์ โฮลดิ้ง จำกัด
นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร CPF หรือ ซีพีเอฟ กล่าวว่า ซีพีเอฟมีความสนใจในการเข้าร่วมลงทุนในเทสโก้เอเซีย เนื่องจากเป็นการต่อยอด Value Chain ของช่องทางการขายสินค้าของบริษัททั้งในประเทศไทยและประเทศมาเลเซียและเป็นการเพิ่มทางเลือกที่หลากหลายให้แก่ผู้บริโภค ด้วยซีพีเอฟมีแนวทางในการปรับรูปแบบของการค้าเนื้อสัตว์ให้ผ่านช่องทางที่ทันสมัยสอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคมากขึ้น บริษัทจึงมั่นใจว่าการลงทุนในครั้งนี้เป็นโอกาสดีในการที่จะทำให้ผู้บริโภคในประเทศไทยและมาเลเซียมีทางเลือกในการบริโภคเพิ่มขึ้นในตลาดที่มีการแข่งขันสูงอยู่แล้ว
การเข้าร่วมลงทุนครั้งนี้ ทำให้ยอดขายทั้งของเทสโก้และซีพีเอฟเพิ่มมากขึ้น และเนื่องจากเทสโก้เอเซียเป็นบริษัทที่มีผลการดำเนินงานที่ดีมาอย่างต่อเนื่อง ผู้บริหารและทีมงานมีความเชี่ยวชาญในธุรกิจ มีความสามารถในการปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป เชื่อว่าการผนึกกำลังกับเทสโก้เอเซียน่าจะส่งผลเสริมให้ผลการดำเนินงานที่ดีอยู่แล้วนั้นดียิ่งขึ้นได้อีก
ทั้งนี้ รายการลงทุนดังกล่าวจะเกิดขึ้นเมื่อเงื่อนไขบังคับก่อนตามที่กำหนดไว้สำเร็จครบถ้วน ซึ่งรวมถึงการได้รับมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นของ Tesco UK สำหรับการขายหุ้นในกลุ่มเทสโก้เอเชีย สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าอนุญาตให้ทำรายการ (หากต้องมีการขออนุญาต) และได้รับอนุญาตจาก Ministry of Domestic Trade and Consumers Affairs of Malaysia ทำรายการในประเทศมาเลเซีย โดยคาดว่าการเข้าทำรายการน่าจะเสร็จสิ้นภายในสิ้นปี 63 นี้
สำหรับ Tesco Lotus ในประเทศไทย มีร้านค้าในรูปแบบต่าง ๆ ที่ดำเนินการขายปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไป ให้เช่าพื้นที่ในศูนย์การค้า และให้บริการอื่น ๆ และได้พัฒนามาเป็นแบรนด์ธุรกิจค้าปลีก ประกอบด้วยร้านค้ารูปแบบไฮเปอร์มาร์เก็ต 214 สาขา ตลาด โลตัส 179 สาขา และ Tesco Express 1,574 สาขา และให้เช่าพื้นที่ในศูนย์การค้า 191 สาขา (ข้อมูล ณ สิ้นเดือน ส.ค.62)
ขณะที่ Tesco ในประเทศมาเลเซีย มีร้านค้าในรูปแบบไฮเปอร์มาร์เก็ตจำนวน 46 สาขา ซุปเปอร์มาร์เก็ตจำนวน 13 สาขา และร์านค้าขนาดเล็กจำนวน 9 สาขา (ข้อมูล ณ สิ้นเดือน ส.ค.62) ที่ดำเนินการค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไป โดยปัจจุบันเทสโก้ประเทศมาเลเซียได้พัฒนามาเป็นหนึ่งในผู้นำในด้านกิจการค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคในประเทศมาเลเซียนอกจากนี้ เทสโก้ประเทศมาเลเซียยังประกอบธุรกิจให้เช่าพื้นที่ในศูนย์การค้าจำนวน 56 สาขา