บมจ.ปตท. (PTT) แจ้งว่าในวันนี้ (2 เม.ย.) บมจ.ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก (OR) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ ปตท. ถือหุ้นทั้งหมด ได้ยื่นคำขออนุญาตเพื่อเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ซึ่งรวมไปถึงการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวน (ร่างหนังสือชี้ชวน) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) และพร้อมกันนี้ได้ยื่นคำขอให้รับหุ้นสามัญเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)
การเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุน IPO ของ OR ในครั้งนี้ OR จะเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนเป็นจำนวนไม่เกิน 2,700 ล้านหุ้น (ไม่รวมจำนวนหุ้นส่วนเกินสำหรับการให้สิทธิซื้อหุ้นส่วนเกิน) โดย OR จะจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนไม่เกิน 300 ล้านหุ้น เพื่อเสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของ ปตท. เฉพาะกลุ่มที่มีสิทธิได้รับการจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนตามสัดส่วนการถือหุ้นใน ปตท. เพื่อรักษาสิทธิ (Pre-emptive Rights)
ทั้งนี้ หากมีความต้องการซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนมากกว่าจำนวนหุ้นสามัญเพิ่มทุนที่ OR เสนอขายทั้งหมด อาจมีการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนเพิ่มเติมในจำนวนไม่เกิน 300 ล้านหุ้น ให้แก่ผู้จัดหาหุ้นส่วนเกิน (Over-Allotment Agent) เพื่อการส่งคืนหุ้นที่ยืมจาก ปตท. ในการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน (หากมี) ซึ่งภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนของ OR นั้น ปตท. จะยังคงเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ OR โดยจะถือหุ้นของ OR ในสัดส่วนไม่น้อยกว่า 75% ของจำนวนหุ้นสามัญทั้งหมดที่ออกและจำหน่ายได้แล้วของ OR
การเสนอขายหุ้น IPO ของ OR ดังกล่าวจะกระทำได้ต่อเมื่อ OR ได้รับอนุญาตให้เสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนจากสำนักงาน ก.ล.ต. และแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ และร่างหนังสือชี้ชวนมีผลใช้บังคับ และขึ้นอยู่กับเงื่อนไขต่าง ๆ ที่ OR จะต้องดำเนินการให้ครบถ้วนสมบูรณ์ก่อนที่จะมีการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงทุนชำระแล้วของ OR
ทั้งนี้ ก.ล.ต.เปิดเผยข้อมูลที่ OR ได้ยื่นแบบเสนอขายหุ้น IPO เพื่อระดมทุนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) โดยมี บล.ฟินันซ่า ,บล.ภัทร ,บล.บัวหลวง ,บล.กสิกรไทย และบล.ทิสโก้ เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน
แบบเสนอขายหุ้น IPO ของ OR ระบุว่า จะเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนไม่เกิน 3,000 ล้านหุ้น พาร์หุ้นละ 10 บาท คิดเป็นสัดส่วนไม่เกิน 25% ของหุ้นที่ออกและจำหน่ายได้แล้วของบริษัท แบ่งเป็น เสนอขายไม่เกิน 2,400 ล้านหุ้น ให้กับประชาชนทั่วไป และไม่เกิน 300 ล้านหุ้น เสนอขายให้กับผู้ถือหุ้นเดิมของปตท.ตามสัดส่วนการถือหุ้น และจัดสรรไม่เกิน 300 ล้านหุ้น เพื่อนำไปรองรับการใช้สิทธิจัดสรรหุ้นเกินกว่าจำนวนที่เสนอขาย (หากมีการใช้สิทธิ)
อย่างไรก็ตาม OR ระบุว่าการเสนอขายหุ้นครั้งนี้จะไม่มีการจัดสรรหุ้นที่เสนอขายทั้งหมดให้แก่บุคคลที่มีความสัมพันธ์และผู้มีอุปการคุณของบริษัท
วัตถุประสงค์ในการระดมทุนครั้งนี้ เพื่อรองรับการใช้เงินในช่วงปี 64-67 เพื่อขยายเครือข่ายสถานีบริการน้ำมัน ภายใต้แบรนด์ "ptt station" รองรับความต้องการของผู้บริโภคให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ที่มีศักยภาพ , การขยายธุรกิจสำหรับการตลาดพาณิชย์ ในกลุ่มธุรกิจน้ำมัน ,การลงทุนในคลังเก็บผลิตภัณฑ์และศูนย์กระจายสินค้าธุรกิจน้ำมัน เพื่อสนับสนุนธุรกิจน้ำมัน ,การขยายเครือข่ายร้านค้าปลีก เพื่อให้สอดคล้องกับการเติบโตของอุปสงค์ในตลาด ,การลงทุนในธุรกิจต่างประเทศ และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ หรือใช้ชำระคืนเงินกู้ยืม (ถ้ามี)
สำหรับ OR ประกอบธุรกิจจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมและธุรกิจค้าปลีกสินค้าและบริการอื่น ๆ (Non-Oil) ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งรวมถึงการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมและผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ในตลาดค้าปลีกและตลาดพาณิชย์ ธุรกิจกาแฟ ร้านอาหารและเครื่องดื่มอื่น ๆ ร้านสะดวกซื้อ และการบริหารจัดการพื้นที่ โดยมีแบรนด์สถานีบริการน้ำมัน คือ ptt station และแบรนด์ร้านกาแฟ คือ คาเฟ่อเมซอน
OR เป็นผู้ค้าปลีกผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมชั้นนำของประเทศไทย ซึ่งจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ่านเครือข่ายสถานีบริการน้ำมัน โดยในปี 62 มีส่วนแบ่งทางการตลาดประมาณ 40.5% ขณะที่มีเครือข่ายสถานีบริการน้ำมันจำนวน 1,911 แห่งทั่วประเทศ และยังดำเนินธุรกิจศูนย์บริการยานยนต์ FIT Auto จำนวน 50 แห่งในประเทศไทย นอกจากนี้ ยังเป็นผู้นำในตลาดพาณิชย์สำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยาน น้ำมันเตาสำหรับเรือขนส่งและภาคอุตสาหกรรม ผลิตภัณฑ์หล่อลื่น และก๊าซปิโตรเลียมเหลวในประเทศไทย โดยมีลูกค้าตลาดพาณิชย์มากกว่า 2,600 ราย
สำหรับปี 62 กลุ่มธุรกิจน้ำมันมีรายได้ (ก่อนหักรายการระหว่างกัน) คิดเป็น 91.1% ของรายได้ทั้งหมด (ก่อนหักรายการระหว่างกัน) ของบริษัทและมีกำไรขั้นต้น (ก่อนหักรายการระหว่างกันและก่อนหักค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย) คิดเป็น 70.1% ของกำไรขั้นต้นทั้งหมด (ก่อนหักรายการระหว่างกัน และก่อนหักค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย) ของบริษัท และมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย,ภาษี,ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) (ก่อนหักรายการระหว่างกัน) คิดเป็น 70.6% ของ EBITDA ทั้งหมด (ก่อนหักรายการระหว่างกัน) ของบริษัท
นอกจากนี้ บริษัทยังเป็นผู้ค้าปลีกชั้นนำที่ดำเนินการร้านกาแฟ ร้านอาหารและเครื่องดื่ม และร้านสะดวกซื้อในประเทศไทย โดยสิ้นปี 62 เครือข่ายของ OR ประกอบไปด้วยร้านคาเฟ่อเมซอน จำนวน 2,912 ร้าน ร้านอาหารและเครื่องดื่มอื่น ๆ จำนวน 281 ร้าน ซึ่งจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มภายใต้แบรนด์ที่ได้รับสิทธิอนุญาตแต่ผู้เดียวในประเทศไทย ได้แก่ "เท็กซัส ชิคเก้น" แบรนด์ที่ได้รับสิทธิมาสเตอร์แฟรนไชส์ในประเทศไทย ได้แก่ "ฮั่วเซ่งฮงติ่มซำ" และแบรนด์ที่เป็นเจ้าของ ได้แก่ "เพิร์ลลี่ ที"
รวมถึงมีร้านสะดวกซื้อจำนวน 1,880 ร้าน ซึ่งจำหน่ายอาหาร เครื่องดื่ม และสินค้าพื้นฐานที่หลากหลายภายใต้แบรนด์ "จิฟฟี่" ที่บริษัทเป็นเจ้าของ และแบรนด์ "7-Eleven" ตามเงื่อนไขของสัญญาหลักความร่วมมือแต่เพียงผู้เดียวกับ บมจ.ซีพี ออลล์ (CPALL) ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ่านร้านค้าที่ตั้งอยู่ในสถานีบริการภายในเครือข่ายของบริษัทและยังมีการจำหน่ายที่ร้านค้านอกสถานีบริการด้วย
นอกจากนี้ บริษัทยังให้บริการการบริหารจัดการพื้นที่ ประกอบด้วย การให้บริการเช่าพื้นที่และบริการอื่น ๆ แก่ร้านค้าภายใต้แบรนด์ในประเทศไทยซึ่งเป็นที่รู้จักอย่างดี เช่น "Black Canyon" "Chester’s Grill" "S&P" "The Pizza Company" "เจ้าสัว" เป็นต้น และร้านค้าภายใต้แบรนด์จากต่างประเทศซึ่งเป็นที่รู้จักอย่างดี เช่น "A&W" "Burger King" "KFC" "McDonalds" เป็นต้น เพื่อให้บริการภายในสถานีบริการน้ำมันของบริษัท และในพื้นที่เช่าอื่นที่อยู่ภายใต้การบริหารของบริษัท เช่น จุดแวะพักระหว่างการเดินทาง (Rest Area) เป็นต้น
สิ้นปี 62 กลุ่มธุรกิจค้าปลีกสินค้าและบริการอื่น ๆ (Non-Oil) มีรายได้ (ก่อนหักรายการระหว่างกัน) คิดเป็น 2.9% ของรายได้ทั้งหมด (ก่อนหักรายการระหว่างกัน) ของบริษัท และมีกำไรขั้นต้น (ก่อนหักรายการระหว่างกัน และก่อนหักค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย) คิดเป็น 25% ของกำไรขั้นต้นทั้งหมด (ก่อนหักรายการระหว่างกัน และก่อนหักค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย) ของบริษัท และมี EBITDA (ก่อนหักรายการระหว่างกัน) คิดเป็น 25% ของ EBITDA ทั้งหมด (ก่อนหักรายการระหว่างกัน) ของบริษัท
OR ยังดำเนินธุรกิจน้ำมันและธุรกิจค้าปลีกสินค้าและบริการอื่น ๆ (Non-Oil) ในต่างประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในประเทศฟิลิปปินส์ กัมพูชา และลาว โดยสิ้นปี 62 ธุรกิจต่างประเทศของบริษัทในประเทศดังกล่าว ประกอบไปด้วยสถานีบริการน้ำมันจำนวน 302 แห่ง ศูนย์บริการยานยนต์ FIT Auto จำนวน 4 แห่ง ร้านคาเฟ่อเมซอนจำนวน 216 ร้าน และร้านสะดวกซื้อจิฟฟี่จำนวน 79 ร้าน (ไม่รวมร้านสะดวกซื้อจิฟฟี่ 1 แห่งในประเทศฟิลิปปินส์ซึ่งเป็นร้านที่ดำเนินการในช่วงทดลองตลาด) โดยบริษัทมุ่งมั่นจะขยายธุรกิจน้ำมันและธุรกิจค้าปลีกสินค้าและบริการอื่น ๆ (Non-Oil) ในต่างประเทศ
สิ้นปี 62 กลุ่มธุรกิจต่างประเทศของบริษัทมีรายได้ (ก่อนหักรายการระหว่างกัน) คิดเป็น 5.7% ของรายได้ทั้งหมด (ก่อนหักรายการระหว่างกัน) ของบริษัท และมีกำไรขั้นต้น (ก่อนหักรายการระหว่างกัน และก่อนหักค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย) คิดเป็น 4.7% ของกำไรขั้นต้นทั้งหมด (ก่อนหักรายการระหว่างกัน และก่อนหักค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย) ของบริษัท และมี EBITDA (ก่อนหักรายการระหว่างกัน) คิดเป็น 4.2% ของ EBITDA ทั้งหมด (ก่อนหักรายการระหว่างกัน) ของบริษัท
การดำเนินธุรกิจของ OR ได้รับการสนับสนุนจากการที่บริษัทมีเครือข่ายคลังเก็บผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมและการกระจายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมที่ครอบคลุม ณ สิ้นปี 62 บริษัทมีคลังเก็บผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม คลังก๊าซปิโตรเลียมเหลว คลังเก็บน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยาน และคลังเก็บผลิตภัณฑ์อื่น ๆ จำนวนทั้งหมด 70 แห่ง แบ่งเป็น คลังเก็บผลิตภัณฑ์ 53 แห่งในประเทศไทย และคลังเก็บผลิตภัณฑ์ 17 แห่งในประเทศฟิลิปปินส์ กัมพูชา และลาว โดยคลังเก็บผลิตภัณฑ์เหล่านี้เชื่อมต่อกับเครือข่ายการจัดเก็บและการกระจายผลิตภัณฑ์ที่ครอบคลุมทั้ง ทางท่อขนส่ง ทางเรือ ทางรถ และทางรถไฟ
โครงการในอนาคต OR มีแผนค่าใช้จ่ายในการลงทุนที่ได้รับการอนุมัติสำหรับปี 63-67 เป็นจำนวนรวมประมาณ 77,413.3 ล้านบาท โดยมีการขยายงานที่สำคัญ ได้แก่ การขยายเครือขายสถานีบริการน้ำมัน วางเป้าหมายจะเปิดสถานีบริการน้ำมันแห่งใหม่จำนวนประมาณ 137 แห่ง/ปี สำหรับการขยายธุรกิจ และตั้งใจที่จะรักษาสัดส่วนระหว่างสถานีบริการน้ำมันประเภท DODO ต่อสถานีบริการน้ำมันประเภท COCO ในประเทศให้อยู่ที่สัดส่วนประมาณ 80:20
ส่วนการขยายเครือข่ายร้านค้าปลีกอย่างต่อเนื่องเพื่อให้สอดคล้องกับการเติบโตของอุปสงค์ในตลาด ในปี 63-67 บริษัทมีแผนจะเปิดร้านคาเฟ่อเมซอนจำนวนประมาณ 437 แห่ง/ปี โดยในการขยายธุรกิจ บริษัทตั้งใจที่จะรักษาสัดส่วนระหว่างร้านคาเฟ่อเมซอนที่เป็นร้านค้าแฟรนไชส์ ต่อร้านคาเฟ่อเมซอนประเภท COCO เป็นสัดส่วนประมาณ 80:20 สำหรับร้านอาหารและเครื่องดื่มอื่น ๆ มีแผนจะเปิดร้านอาหารเท็กซัส ชิคเก้น จำนวนประมาณ 40 แห่ง/ปี โดยหลักจะเป็นการเปิดร้านอาหารประเภท COCO และร้านอาหารฮั่วเซ่งฮงติ่มซำ จำนวน 35 แห่ง/ปี มีสัดส่วนระหว่างการเปิดร้านอาหารฮั่วเซ่งฮง ติ่มซำที่เป็นร้านค้าแฟรนไชส์ต่อร้านอาหารฮั่วเซ่งฮงติ่มซำประเภท COCO ในสัดส่วนประมาณ 17:83
นอกจากนี้ บริษัทมีแผนจะขยายเครือข่ายร้านสะดวกซื้ออย่างต่อเนื่อง ซึ่งรวมถึงร้านสะดวกซื้อจิฟฟี่ และร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven รวมถึงมีแผนจะขยายธุรกิจการบริหารจัดการพื้นที่ของบริษัท ตลอดจนมีแผนที่จะลงทุนเพื่อเพิ่มความหลากหลายของธุรกิจค้าปลีกสินค้าและบริการอื่นๆ โดยการนำเสนอแบรนด์ ผลิตภัณฑ์ หรือบริการใหม่ ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการและความคาดหวังของลูกค้าที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการลงทุนดังกล่าวอาจรวมถึงการลงทุนในรูปแบบของการควบรวมกิจการ (Merger & Acquisition) หรือการจัดตั้งบริษัทร่วมค้า (Joint Venture) เป็นต้น
ธุรกิจต่างประเทศ ในช่วงปี 63-67 บริษัทมีแผนจะเปิดสถานีบริการน้ำมันแห่งใหม่ในต่างประเทศจำนวนประมาณ 71 แห่ง/ปี ในการขยายธุรกิจ บริษัทคาดว่าจะรักษาสัดส่วนระหว่างสถานีบริการน้ำมันประเภท DODO ต่อสถานีบริการน้ำมันประเภท COCO เป็นสัดส่วนประมาณ 80:20 ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายในการลงทุนรวมที่คาดการณ์ไว้สำหรับสถานีบริการน้ำมันดังกล่าวจะมีจำนวนประมาณ 530 ล้านบาท/ปี นอกจากนี้ บริษัทยังมีการวางแผนค่าใช้จ่ายในการลงทุนไว้เป็นจำนวนประมาณ 670 ล้านบาท/ปี เพื่อการขยายเครือข่ายร้านค้าปลีกในต่างประเทศ
บริษัทมีแผนค่าใช้จ่ายในการลงทุน ซึ่งรวมถึงการลงทุนใหม่ประเทศเมียนมาและเวียดนาม บริษัทได้จัดตั้งบริษัทร่วมทุน 2 บริษัทในประเทศเมียนมา โดยบริษัทร่วมทุนทั้ง 2 บริษัท ยังอยู่ในช่วงของการลงทุน (1) Brighter PTT Oil and Retail Business Company Limited อยู่ในระหว่างการขยายเครือข่ายสถานีบริการน้ำมัน และร้านคาเฟ่อเมซอน ซึ่งคาดว่าจะเริ่มเปิดให้บริการในปี 63 (2) Brighter Energy Company Limited อยู่ในระหว่างการก่อสร้างคลังเก็บผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมแห่งใหม่ เพื่อดำเนินธุรกิจคลังและค้าส่งปิโตรเลียม นอกจากนี้ บริษัทได้เข้าทำสัญญาร่วมทุนกับผู้ร่วมทุนเชิงกลยุทธ์เพื่อขยายธุรกิจคาเฟ่อเมซอนในประเทศเวียดนามด้วย
OR ยังได้เพิ่มความหลายหลายของการลงทุนไปในธุรกิจใหม่ (New S-Curve) เพื่อให้สอดคล้องกับกลยุทธ์ในการเตรียมพร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจจากสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และตอบสนองความต้องการผู้บริโภคในยุคใหม่ เช่น Mobility Ecosystem, Life Style Ecosystem และ Digitization and Personalization เป็นต้น บริษัทยังได้มีการขยายการลงทุนไปยังธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งประกอบด้วย การติดตั้งเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า (EV Charger) ในสถานีบริการน้ำมัน การเพิ่มความสามารถของศูนย์บริการยานยนต์ FIT Auto ให้รองรับการตรวจสภาพและซ่อมบำรุงรักษายานยนต์ไฟฟ้า
OR มีรายได้ทั้งหมด (หลังหักรายการระหว่างกัน) ของบริษัท มีจำนวน 547,251.9 ล้านบาท 594,128.7 ล้านบาท และ 577,134.0 ล้านบาท สำหรับปี 60, ปี 61 และปี 62 ตามลำดับ ทำให้บริษัทมีกำไรขั้นต้นทั้งหมด (หลังหักรายการระหว่างกัน และก่อนหักค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย) เท่ากับ 34,668.3 ล้านบาท 31,804.3 ล้านบาท และ 34,099.5 ล้านบาท ตามลำดับ
ด้านกำไรสุทธิ สำหรับปี 60, ปี 61 และ ปี 62 อยู่ที่ 12,671.1 ล้านบาท 9,493.1 ล้านบาท และ 10,895.8 ล้านบาทตามลำดับ ขณะที่บริษัทมีนโยบายจ่ายปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นไม่น้อยกว่า 30% ของกำไรสุทธิหลังหักสำรองต่าง ๆ
ณ สิ้นปี 62 บริษัทมีสินทรัพย์รวม 152,176.2 ล้านบาท มีหนี้สินรวม 113,468.4 ล้านบาท และมีส่วนของผู้ถือหุ้น 38,707.8 ล้านบาท
OR มีทุนจดทะเบียนรวม 9,000 ล้านหุ้น พาร์หุ้นละ 10 บาท PTT ถือหุ้น 100% หลังการเสนอขายหุ้น IPO ภายใต้สมมติฐานไม่มีการใช้สิทธิซื้อหุ้นส่วนเกิน จะมีหุ้นจดทะเบียนจำนวน 11,700 ล้านหุ้น โดย PTT ถือหุ้นใน OR ลดลงเป็น 76.9% ของทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้ว และหากมีการใช้สิทธิซื้อหุ้นส่วนเกิน จะมีหุ้นจดทะเบียนจำนวน 12,000 ล้านหุ้น โดย PTT ถือหุ้นใน OR ลดลงเป็น 75%