CHAYO ส่องเทรนด์หนี้เสียแบงก์ส่อทะลุ 5 แสนลบ.ตุนเงินสดฉวยโอกาสซื้อหนี้ถูกครึ่งปีหลัง

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday April 9, 2020 09:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุขสันต์ ยศะสินธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ชโย กรุ๊ป (CHAYO) เปิดเผยกับ "อินโฟเควสท์" ว่า การแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ที่เกิดขึ้นทั่วโลกเป็นชนวนก่อให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจรอบใหม่ แต่มีความแตกต่างกับวิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อปี 40 เพราะรอบนี้ประชาชนระดับรากหญ้าได้รับผลกระทบกันเป็นจำนวนมากทั้งค้าขายลำบากและตกงานเพราะหลายกิจการต้องปิดตัวไป มีความเป็นไปได้ว่าแนวโน้มหนี้ด้อยคุณภาพ (NPLs) ทั้งระบบการเงินของไทยในปีนี้จะเร่งตัวขึ้นมามากกว่า 3% คิดเป็นมูลค่ามากกว่า 5 แสนล้านบาท เทียบกับภาวะปกติที่สถาบันการเงินจะควบคุมหนี้ NPLs ทั้งระบบให้อยู่ในระดับไม่เกินกว่า 2% สวนทางกับตัวเลขสินเชื่อทั้งระบบได้ส่งสัญญาณชะลอตัวมาแล้วหลายปี ทั้งๆ ที่ภายใต้ภาวะปกติในปี 62 สินเชื่อทั้งระบบควรต้องขึ้นไปแตะ 16 ล้านล้านบาทแล้ว แต่ยังทำไม่ได้

"สถานการณ์วันนี้สิ่งที่ผมกลัวคือปัญหาหนี้นอกระบบมีโอกาสเพิ่มมากขึ้น เพราะคนตกงานเยอะ และมีอีกจำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้รับสิทธิจากภาครัฐ ส่วนผู้ที่ได้รับสิทธิเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจากภาครัฐก็อาจนำไปคืนหนี้นอกระบบก่อน เพราะว่าการทวงหนี้มีความน่ากลัว นอกจากนั้นระบบบัญชีใหม่ TFRS9 สถาบันการเงินต้องตั้งสำรองเร็วขึ้น เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้หนี้ในระบบจะบวมขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ก็เป็นโอกาสที่ทำให้บริษัทเข้าไปซื้อหนี้เข้ามาเสริมในพอร์ตราคาที่ถูกลง"นายสุขสันต์ กล่าว

นายสุขสันต์ กล่าวต่อว่า ปีนี้บริษัทวางงบลงทุน 1 พันล้านบาทเพื่อเข้าซื้อหนี้มาบริหาร คิดเป็นมูลค่าหนี้ทั้งหมดประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ทั้งหนี้ที่มีหลักประกันและไม่มีหลักประกัน จากปัจจุบันบริษัทมีมูลหนี้ในพอร์ตรวม 5.5 หมื่นล้านบาท แต่ด้วยสถานการณ์เศรษฐกิจที่อยู่ในภาวะวิกฤติ บริษัทเล็งเห็นว่าการบริหารเงินสดเป็นสิ่งที่สำคัญเช่นกัน ดังนั้น แนวทางบริหารเงินสดของบริษัทอาจเลื่อนแผนซื้อหนี้ใหม่เข้ามาบริหารในพอร์ตในช่วงครึ่งปีหลังเพื่อรักษากระแสเงินสดไว้ก่อน อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าสถาบันการเงินหลายแห่งต้องเร่งขายหนี้เป็นจำนวนมากในช่วงไตรมาส 3 และไตรมาส 4 ดังนั้น บริษัทมั่นใจว่าจะสามารถซื้อหนี้ใหม่เข้ามาบริหารในพอร์ตได้ตามเป้าและได้ราคาที่สมเหตุสมผลกับสภาวะเศรษฐกิจในช่วงนี้แน่นอน

สำหรับแนวทางการจัดเก็บหนี้ของลูกค้าในภาวะเศรษฐกิจไม่ดี ยอมรับว่าส่งผลให้ลูกค้าอาจขอยืดระยะเวลาในการชำระหนี้ออกไป แต่ก็จะพิจารณาเป็นกรณีไป เช่น ลูกค้าที่ไม่มีหลักประกันจำนวนลูกค้าที่ปิดบัญชีก็จะลดลง แต่มาขอเปลี่ยนโปรแกรมยืดผ่อนชำระนานขึ้น และกรณีผ่อนชำระเป็นงวดก็เข้ามาขอลดวงเงินผ่อนชำระในแต่ละงวดพร้อมกับขยายเวลาผ่อนชำระหนี้นานขึ้น ส่วนลูกค้ามีหลักประกัน ก็ชะลอการซื้อคืนหลักประกัน

ทั้งนี้ บริษัทยังยืนคงเป้าหมายปีนี้รายได้โต 20% จากปี62 ที่มีรายได้ 317 ล้านบาท ส่วนใหญ่มาจากธุรกิจซื้อหนี้ด้อยคุณภาพเข้ามาบริหารและธุรกิจเจรจาติดตามหนี้สิน ด้านธุรกิจปล่อยสินเชื่อปัจจุบันเริ่มชะลอแผนขยายสินเชื่อจากเดิมที่ตั้งเป้าปีนี้จะปล่อยเชื่อในระดับ 200 ล้านบาท เพราะต้องคัดคุณภาพของลูกหนี้ให้ดีที่สุด เพื่อป้องกันการเร่งตัวของ NPLs ที่อาจจะตามมา ส่วนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์คงต้องชะลอออกไปแบบไม่มีกำหนดเช่นกัน

https://youtu.be/IoTLaAuIPXY


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ