CENTEL พลิกตำรางัดแผน "6R" หนทางฝ่าวิกฤติโควิด หวั่นผลงานโค้ง 2/63 ส่อทรุดหนัก

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday April 17, 2020 12:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายรณชิต มหัทธนะพฤทธิ์ รองประธานอาวุโส ฝ่ายการเงินและบริหาร บมจ.โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา (CENTEL) เปิดเผยกับ"อินโฟเควสท์"ว่า แนวโน้มผลประกอบการไตรมาส 2/63 มีโอกาสทำจุดต่ำสุดของปีนี้ แม้ปกติช่วงนี้ธุรกิจโรงแรมจะเข้าสู่ช่วงโลว์ซีซั่นอยู่แล้ว แต่ปีนี้ถูกซ้ำเติมจากวิกฤติโควิด-19 ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ส่งผลให้รัฐบาลหลายประเทศรวมถึงไทยใช้มาตรการ Lockdown ห้ามคนเดินทางเข้าออกประเทศ ส่งผลให้ภาคท่องเที่ยวได้รับผลกระทบรุนแรง เช่นเดียวกับธุรกิจอาหารแม้ว่าไตรมาส 2/63 ตามภาวะปกติจะเป็นไฮซีซั่นแต่วันนี้ต้องปิดสาขาชั่วคราวเพราะห้างสรรพสินค้าไม่สามารถเปิดให้บริการได้ตามนโยบายของรัฐบาล

ปัจจุบันบริษัทมีโรงแรมภายใต้การบริหารทั้งสิ้น 43 โรงแรม แบ่งเป็นของบริษัทจำนวน 18 โรงแรม ล่าสุดปิดให้บริการเกือบทั้งหมด ยกเว้นเพียง 2 โรงแรมในกรุงเทพฯ ได้แก่ โรงแรม เซ็นทารา เซ็นทรัลเวิลด์ เป็นสำนักงานใหญ่ ซึ่งเปิดแค่บางส่วนเพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ของ รพ.ตำรวจเข้ามาใช้บริการโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย และบางส่วนเปิดร้านเครื่องดื่มแบบ Delivery เท่านั้น และโรงแรมเซ็นทารา กัฟเวิร์นเมนต์ คอมเพล็กซ์ ล่าสุดมีผู้เข้ามาติดต่อใช้บริการแบบเหมา 140 ห้องให้กับพนักงานบริษัทโดยเฉพาะ ซึ่งเริ่มดำเนินการไปแล้วเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา

ด้านธุรกิจอาหาร แม้ว่ายอดขายแบบ Delivery จะเติบโตได้ดี แต่ยอดขายธุรกิจอาหารโดยรวมยังติดลบเพราะไม่สามารถเปิดสาขาให้บริการลูกค้าได้ ซึ่งบริษัทปรับกลยุทธ์ด้วยการเพิ่มเมนูใหม่ที่มีอาหารประเภทสตรีทฟู้ดมีราคาไม่แพงเพื่อช่วยประคองยอดขายแบบ Delivery เติบโตต่อเนื่องในภาวะเช่นนี้

"เมื่อพิจารณาจำนวนผู้ติดเชื้อในไทยแม้จะเพิ่มขึ้น แต่ลดลงกว่าในช่วงก่อนหน้านี้ เชื่อว่าเป็นสัญญาณที่ดีรัฐบาลอาจตัดสินใจผ่อนปรนมาตรการ Lockdown ได้บางส่วน คาดว่าในช่วงแรกคงมีแต่นักท่องเที่ยวคนไทยเข้ามาใช้บริการ ส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติคงใช้เวลาอีกระยะหนึ่งกว่าสถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติ เพราะมีความกังวลว่าการแพร่ระบาดจะมาในระลอกสองหรือไม่ ถ้าหากมีวัคซีนรักษาสำเร็จหวังว่าจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับคนทั่วโลกให้กลับมาดีขึ้นอีกครั้ง" นายรณชิต กล่าว

นายรณชิต กล่าวต่อว่า กลยุทธ์ที่บริษัทนำมาใช้ในช่วงวิกฤติโควิด-19 คือ กลยุทธ์ "6R" ประกอบด้วย 1.Reduce คือแผนลดค่าใช้จ่ายและควบคุมต้นทุนให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เช่น เงินเดือนพนักงานก็นำเรื่องยื่นใช้สิทธิรับเงินจากประกันสังคมและมีสวัสดิการเพิ่มเติมให้กับพนักงานบางส่วน พร้อมกับประสานงานกับโรงแรมในเครือแต่ละแห่งดำเนินการต่อรองลดค่าใช้จ่ายช่วงที่ต้องปิดโรงแรมชั่วคราวเพื่อบรรเทาผลกระทบช่วงสั้น

2.Relay คือแผนชะลอการใช้จ่ายในส่วนที่เป็นสัญญาระยะยาว เช่น ค่าใช้จ่ายซ่อมบำรุงต่างๆ ลดรายจ่ายค่า WiFi ภายในโรงแรม ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือกับบริษัทคู่สัญญาอย่างดีส่วนหนึ่งเกิดจากการรักษาสัมพันธ์ที่ดีทางธุรกิจกันในระยะยาว

3.Renovate คือแผนปรับปรุงโรงแรมช่วงปิดให้บริการ เริ่มจากโรงแรมในสมุยอัพเกรดขึ้นเป็น 6 ดาว จากปัจจุบัน 5 ดาวคาดว่าแล้วเสร็จปลายปีนี้ก่อนเปิดให้บริการปี 64 และปรับปรุงโรงแรมเซ็นทารา เซ็นทรัลเวิลด์ คาดใช้เงินลงทุนรวมปีนี้ประมาณ 2-3 พันล้านบาทลดลงจากงบลงทุนเดิมของปีนี้ 8-9 พันล้านบาท แต่บริษัทยังคงเป้างบลงทุน 5 ปีไว้เช่นเดิมที่ 2.1 หมื่นล้านบาท ซึ่งหลังจากสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้นก็จะเร่งลงทุนเพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นรวดเร็วอย่างแน่นอน

4.Recovery คือแผนการฟื้นตัวของแต่ละธุรกิจให้กลับมาเข้าสู่ภาวะปกติให้เร็วที่สุด แม้ว่าระยะสั้นอาจยังไม่ฟื้นตัวรวดเร็วได้เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ต้องเพิ่มแนวทางหารายได้เพิ่มเติม เช่น นำทีมทำความสะอาดที่ได้รับมาตรฐานระดับโรงแรมเซ็นทาราออกไปให้บริการนอกสถานที่ ล่าสุดอยู่ระหว่างหารือร่วมกับผู้พัฒนาแพลตฟอร์มเป็นบริการลักษณะการทำความสะอาดแบบ Delivery คาดมีความชัดเจนเร็วๆนี้

ส่วนการฟื้นตัวในระยะยาวล่าสุดทีมการตลาดได้วางแผนรองรับความต้องการในประเทศจะเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากหลังจากรัฐบาลผ่อนปรน Lockdown ประเทศแล้ว

5.Restructure คือแผนปรับโครงสร้างธุรกิจรองรับกับความท้าทายรอบด้านยิ่งขึ้น แม้ว่าก่อนหน้านี้ปรับโครงสร้างไปแล้วเพื่อรองรับกับยุคดิจิทัลทรานส์ฟอร์มเมชั่นแต่วิกฤตโควิด-19 เข้ามารอบนี้เป็นสิ่งที่คาดไม่ถึงเช่นกันว่าจะกระทบธุรกิจได้มากขนาดนี้ ดังนั้นโครงสร้างธุรกิจต้องเปลี่ยนแปลงไปพัฒนาระบบ AI นำมาใช้งานมากขึ้นเพิ่มช่องทางเข้าถึงลูกค้าควบคู่กับพัฒนาศักยภาพของบริษัทให้ดีขึ้นกว่าเดิม สอดคล้องกับแผนการเติบโตในระยะยาว 3-5 ปีข้างหน้า

6.Resilient คือกลยุทธ์ยืดหยุ่นเพื่อให้เกิดความยั่งยืนทางธุรกิจ พร้อมรับมือกับทุกสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ต้องคาดเดาความต้องการของลูกค้าในปัจจุบัน แต่สิ่งที่ต้องเพิ่มตลอดเวลาคือดักความต้องการของลูกค้าในอนาคตด้วย

"การบริหารสภาพคล่องทางการเงินในช่วงวิกฤติ แม้ว่าบริษัทมีกระแสเงินสดหลายพันล้านบาท แต่ล่าสุดบริษัทเตรียมแผนขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินวงเงิน 4.4 พันล้านบาทเพื่อใช้เป็นเงินลงทุนและเป็นเงินทุนหมุนเวียน ปัจจุบันสถานะทางการเงินบริษัทมีความแข็งแกร่งสะท้อนจากหนี้สินต่อทุน (D/E) อยู่ระดับ 0.5 เท่าต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับผู้ประกอบการรายใหญ่ในธุรกิจเดียวกัน ดังนั้นการระดมทุนเพิ่มสภาพคล่องจึงไม่มีปัญหาอย่างแน่นอน" นายรณชิต กล่าว

https://youtu.be/nAJSgE2JWuU


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ