VPO เผยศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งแก้คำสั่งศาลปกครองชั้นต้นให้บ.ย่อยจ่ายค่าตอบแทนแก่กรมป่าไม้

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday May 5, 2020 10:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.วิจิตรภัณฑ์ปาล์มออยล์ (VPO) แจ้งว่า ตามที่บริษัท วิจิตรภัณฑ์สวนปาล์ม จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ประกอบกิจการเกี่ยวกับการทำประโยชน์บนพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งสัญญาเช่าพื้นที่ป่าสงวนได้สิ้นสุดเมื่อพ.ศ.2558 และอยู่ในขั้นตอนการดำเนินการขออนุญาตใหม่และทำให้บริษัทย่อยต้องดำเนินการฟ้องร้องต่อศาลปกครองเพื่อให้เร่งดำเนินการขออนุญาตใช้ประโยชน์ที่ดินของรัฐ และได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองเพื่อให้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวในการเข้าทำประโยชน์ในเขตพื้นที่ป่าสงวนเพื่อบริษัทย่อยเคยเช่าจากกรมป่าไม้และประสงค์จะทำการเช่าใหม่ในพื้นที่เดิม

ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งรับคำฟ้อง ลงวันที่ 6 มิถุนายน 2559 และมีคำสั่งคุ้มครอง ลงวันที่ 17 มิถุนายน 2559 อนุญาตให้บริษัทย่อยเข้าดูแลทรัพย์สินในพื้นที่ขออนุญาตใหม่ 16,256 ไร่ 2 งาน 34 ตารางวา เพื่อดูแลบำรุงรักษาต้นปาล์ม อุปกรณ์ เครื่องจักรและทรัพย์สินอื่น ตลอดจนจัดเก็บผลปาล์มได้ตั้งแต่วันที่ 10 นับจากได้รับคำสั่งศาล โดยให้บริษัทย่อยจ่ายค่าตอบแทนเป็นการเฉพาะกรณี ในอัตราไร่ละ 500 บาท/ปี โดยแบ่งชำระเป็นรายเดือนให้แก่กรมป่าไม้

และเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2559 รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและอธิบดีกรมป่าไม้ได้ยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษา

เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2563 บริษัทได้รับหนังสือนัดฟังคำสั่งศาลปกครองสูงสุด ชี้ขาดคำร้องอุทธรณ์คำสั่งเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษา ฉบับลงวันที่ 14 กันยายน 2559 ในวันที่ 30 เมษายน 2563 โดยมีคำสั่งแก้คำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น ในส่วนข้อ 2 เป็นบริษัทย่อยชำระค่าตอบแทนให้แก่กรมป่าไม้ในระหว่างการบังคับใช้วิธีการเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของผู้ขอในระหว่างการพิจารณาตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องกำหนดอัตราค่าตอบแทนให้ผู้รับอนุญาตทำการปลูกสร้างสวนป่า หรือปลูกไม้ยืนต้นต้องชำระให้แก่รัฐบาล ลงวันที่ 10 พฤศจิกายน 2558 ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่ใช้บังคับ ในขณะศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งกำหนดวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษา

ส่วนค่าตอบแทนผลอาสินจากต้นปาล์มน้ำมันและทรัพย์สินอื่นซึ่งมิได้เป็นประเด็นพิพาทในคดีนี้ ให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด หากบริษัทไม่ยินยอมชำระค่าตอบแทนหรือค่าธรรมเนียมตามที่กฎหมายกำหนด ให้วิธีการเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของผู้ขอในระหว่างการพิจารณาเป็นอันสิ้นผล และให้ยกคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น ข้อ 3 และ ข้อ 4 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำสั่งศาลปกครองชั้นต้น

บริษัทฯจะนำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทเพื่อพิจารณาหาแนวทางในการดำเนินการ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ