IRPC จัดหาวงเงินกู้เพื่อชำระคืนหนี้ปีนี้ 8 พันลบ.-รองรับแผนดำเนินงาน-ทบทวนแผนลงทุนรับมือโควิด หลังงบฯ Q1/63 ขาดทุนหนัก

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday May 8, 2020 09:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.ไออาร์พีซี (IRPC) จัดทำแผนเพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยเตรียมจัดหาวงเงินกู้ระยะสั้นและระยะยาวเพื่อคืนเงินกู้ปีนี้ 8,000 ล้านบาท พร้อมรองรับการดำเนินกิจการ ตลอดจนปรับกลยุทธ์การผลิตและการตลาด ลดค่าใช้จ่าย ทบทวนโครงการลงทุนตามแผน 5 ปี เพื่อรับมือสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง ด้านผลประกอบการไตรมาส 1/63 พลิกขาดทุนสุทธิ 8,905 ล้านบาท จากรายได้และมาร์จิ้นที่ลดลง รับผลกระทบต่อเนื่องจากสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ และสถานการณ์โควิด-19 รวมถึงยังมีผลขาดทุนจากสต็อกน้ำมันสุทธิสูงถึง 6,811 ล้านบาท

IRPC ระบุว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ทวีความรุนแรงอย่างรวดเร็วทั่วโลก ทำให้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ปรับคาดการณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ของโลกปี 63 อยู่ที่ -3% จากเดิมที่คาดการณ์ 3.3% ส่งผลกระทบต่อปริมาณความต้องการใช้น้ำมันของโลกที่คาดว่าจะลดลงประมาณ 5 ล้านบาร์เรล/วันในปีนี้ โดยในเดือนเม.ย.63 ความต้องการใช้น้ำมันของโลกลดลงถึง 17 ล้านบาร์เรล/วัน ทำให้แนวโน้มส่วนต่าง (สเปรด) ราคาของผลิตภัณฑ์ปรับตัวลดลง ส่งผลต่อผลประกอบการของธุรกิจโรงกลั่นและปิโตรเคมีทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบที่อยู่ในระดับต่ำ และต้นทุนการซื้อน้ำมันดิบ (Crude Premium) ที่ลดลงจากสงครามราคาน้ำมัน (Price War) ของผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ ทำให้ต้นทุนการผลิตมีแนวโน้มต่ำลง ประกอบกับการที่ราคาน้ำมันดิบอยู่ในระดับที่ต่ำมาก ทำให้ความเสี่ยงที่จะเกิดผลขาดทุนจากสต็อกน้ำมันในอนาคตลดลง เป็นปัจจัยสนับสนุนธุรกิจโรงกลั่นและปิโตรเคมี

บริษัทได้ประเมินสถานการณ์และจัดทำแนวทางการดำเนินงานเพื่อรองรับสถานการณ์ โดยด้านการดำเนินธุรกิจ บริษัทมีความพร้อมในเรื่องของแผนการบริหาความต่อเนื่องทางธุรกิจ (BCP/BCM) โดยมีการจัดทำคู่มือการปฏิบัติงานในภาวะวิกฤติ และมีการซ้อมแผนการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ ทั้งในส่วนของโรงงานและสำนักงาน เพื่อรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้น

ส่วนแผนบรรเทาผลกระทบต่อผลการดำเนินงาน (Mitigation Plan) ประกอบด้วย

การบริหารสภาพคล่องทางการเงิน เพื่อให้สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนดและมีเงินทุนหมุนเวียนเพียงพอสำหรับการดำเนินกิจการ โดยการทบทวนการประเมินคู่ค้าและลูกค้าของบริษัท รวมทั้งการวางแผนสำรองสำหรับการหาแหล่งเงินทุนทดแทนและการเก็บเงินสดไว้ในมือให้เพียงพอ ทั้งนี้ เงินกู้ที่ครบกำหนดชำระในปีนี้ประมาณ 8,000 ล้านบาท บริษัทได้จัดหาเงินเตรียมไว้แล้วจากวงเงินกู้ระยะสั้นและระยะยาวที่ยังไม่ได้เบิกถอน

การปรับกลยุทธ์ด้านการผลิตและการตลาด เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการที่เปลี่ยนแปลงในระยะสั้นจากสถานการณ์โควิด-19 เช่น การบริโภคพลาสติกประเภท Food packaging และ หน้ากากอนามัย ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น การเพิ่มปริมาณการส่งออกไปยังประเทศที่มีการผ่อนคลายมาตรการปิดประเทศ (Lockdown) รวมทั้งการปรับกลยุทธ์ในระยะยาวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค โดยเฉพาะการเข้าสู่ยุคดิจิทัลที่มากขึ้นกว่าเดิม

การปรับลดค่าใช้จ่ายดำเนินการ จากการทบทวนแผนการใช้จ่ายที่สามารถชะลอหรือปรับลดได้ และไม่มีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจหลัก เช่น ค่าใช้จ่ายธุรกิจสัมพันธ์ โดยมีการตั้งเป้าหมาย และให้ทุกหน่วยงานปรับลดค่าใช้จ่ายให้ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

การทบทวนโครงการลงทุน CAPEX ในโครงการต่าง ๆ โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่ เช่น โครงการผลิตอะโรเมติกส์ หรือโครงการ MARS โครงการร่วมทุนต่าง ๆ ตามแผนธุรกิจ 5 ปี การเลื่อนลงทุนในโครงการที่ยังไม่มีความเร่งด่วน ทั้งนี้ โดยไม่ให้กระทบต่อการปฏิบัติตามกฎหมายและความปลอดภัยของโรงงาน เป็นต้น

จัดทำโครงการ Strengthen IRPC โดยมุ่งเน้นโครงการที่เพิ่มรายได้ เพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุนการผลิตด้วยเงินลงทุนที่ต่ำ เช่น ABS Powder Expansion เพื่อเพิ่มปริมาณการผลิต 6,000 ตัน/ปี และการลดต้นทุนการผลิตโดยการปรับปรุงกระบวนการผลิตตามแผน ABS Modernize รวมถึงการติดตามโครงการ E4E และ IRPC 4.0 ให้ได้ตำมแผนที่ตั้งไว้ เป็นต้น

IRPC ระบุถึงผลการดำเนินงานในไตรมาส 1/63 มีผลขาดทุนสุทธิ 8,905 ล้านบาท จากกำไรสุทธิ 153 ล้านบาทในไตรมาส 1/62 โดยมีรายได้จากการขายสุทธิลดลง 10,657 ล้านบาท หรือ 20% เนื่องจากราคาขายลดลง 14% และปริมาณลดลง 6% โดยโรงกลั่นน้ำมันใช้อัตราการกลั่นอยู่ที่ 188,000 บาร์เรล/วัน ลดลง 6% กำไรขั้นต้นจากการผลิตตามราคาตลาด (Market GIM) ซึ่งไม่รวมผลกระทบจากสต็อก อยู่ที่ 6.82 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จาก 8.68 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลในไตรมาส 1/62 เนื่องจากส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์ทั้งปิโตรเลียมและปิโตรเคมีปรับตัวลดลง จากผลกระทบต่อเนื่องของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน รวมถึงผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19

โดยบริษัทมีผลขาดทุนจากสต็อกน้ำมันสุทธิ 6,811 ล้านบาท กำไรลดลง 7,531 ล้านบาท เมื่อเทียบกับกำไร 720 ล้านบาท ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้กำไรขั้นต้นจากการผลิตทางบัญชี (Accounting GIM) ซึ่งรวมผลกระทบจากสต็อก อยู่ที่ -5.84 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จาก 9.94 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ในไตรมาส 1/62 ขณะที่มีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ,ภาษี,ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ลดลง 8,791 ล้านบาท ขณะที่ค่าเสื่อมราคาเพิ่มขึ้น 211 ล้านบาท หรือ 10% จากโครงการปรับปรุงและขยายงานที่แล้วเสร็จในปี 62 เช่น โครงการ Catalyst Cooler เป็นต้น

บริษัทบันทึกขาดทุนจากการทำสัญญาอนุพันธ์ทางการเงิน จำนวน 558 ล้านบาท ขณะที่มีกำไร 86 ล้านบาทในไตรมาส 1/62 และบันทึกขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนจำนวน 500 ล้านบาท เทียบกับไตรมาส 1/62 มีกำไร 127 ล้านบาท จากค่าเงินบาทอ่อนค่า บริษัทมีเครดิตภาษีเงินได้เพิ่มขึ้น 2,237 ล้านบาท จากผลการดำเนินงานที่ปรับตัวลดลง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ