บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทมีมติอนุมัติในหลักการให้บริษัทย่อย ได้แก่ บริษัท อีเอ โมบิลีตี โฮลดิง จำกัด (EMH) เข้าลงทุนใน บมจ.เน็กซ์ พอยท์ (NEX) โดยจะเข้าถือหุ้นในอัตราส่วน 40.013% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและจำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของ NEX โดย NEX จะออกและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนแบบเฉพาะเจาะจงให้แก่บุคคลในวงจำกัด (Private Placement) ให้แก่ EMH เป็นจำนวนไม่เกิน 670,000,000 หุ้น โดย EMH จะชำระราคาค่าหุ้นรวมเป็นเงินไม่เกิน 1,500,000,000 บาท
ทั้งนี้ เพื่อร่วมลงทุนในธุรกิจด้านกิจการพัฒนาคุณภาพ ผลิต ประกอบชิ้นส่วนและจัดจำหน่าย ตลอดจนการขายและให้บริการหลังการขายเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์รถยนต์โดยสาร รถยนต์เชิงพาณิชย์ และรถยนต์ส่วนบุคคล
เงื่อนไขสำคัญก่อนการเข้าลงทุน เนื่องจากการเข้าลงทุนดังกล่าวมีผลให้ EMH ได้รับการจัดสรรหุ้นสามัญใน NEX ในจำนวนที่ข้ามจุดที่ต้องทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของ NEX ที่สัดส่วน 25% แต่ EMH จะขอผ่อนผันการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของกิจการ (Whitewash)
นายอมร ทรัพย์ทวีกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ของ EA เปิดเผยว่า สำหรับการดำเนินงานธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า (EV) จำเป็นต้องเลื่อนการผลิตและส่งมอบรถยนต์ไฟฟ้า MINE SPA1 เนื่องจากลูกค้าหลักซึ่งเป็นผู้ให้บริการรถยนต์สาธารณะในบริเวณโดยรอบสนามบินสุวรรณภูมิได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 จึงมีการปรับเลื่อนระยะเวลาการผลิตและส่งมอบออกไปเป็นช่วงไตรมาสที่ 4/63 ถึงไตรมาส 4/64
ขณะเดียวกันบริษัทยังคงมองหาโอกาสการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ โดยเริ่มเน้นศึกษาโครงการ Biomass และ Biogas มากขึ้น และเพื่อรองรับการขยายธุรกิจที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งได้จัดตั้งบริษัทย่อยใหม่อีก 2 แห่ง ประกอบด้วย บริษัท อีเอเวสท์ แมเนจเม้นท์ จำกัด (EWM) เพื่อดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการลงทุนในสินทรัพย์ของบริษัทในกลุ่มที่ดำเนินงานเกี่ยวกับการกำจัดขยะ รวมถึงการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าที่ผลิตจากขยะ และ บริษัท แอ๊บโซลูท แอสเซมบลี จำกัด (AAB) เพื่อดำเนินธุรกิจในการผลิต ประกอบยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงจำหน่ายและให้บริการเกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้าทุกประเภท ซึ่งจะได้เปิดเผยความคืบหน้าต่าง ๆ ต่อไป
สำหรับผลการดำเนินงานในไตรมาส 1/63 มีรายได้รวมอยู่ที่ 4,761 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 54% จากงวดเดียวกันปีก่อน และมีกำไรสุทธิ1,452 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20% จากงวดเดียวกันปีก่อน จากการรับรู้รายได้จากธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และลม ซึ่งมีขนาดกำลังการผลิตรวม 664 เมกะวัตต์ (MW) โดยในไตรมาส 1/63 หน่วยการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานลมเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลมาจากโครงการหนุมาน โรงไฟฟ้าพลังงานลมขนาด 260 เมกะวัตต์ที่ตั้งอยู่ในจังหวัดชัยภูมิ ที่เริ่มทยอยผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ในช่วงไตรมาสที่ 1-2 ของปีก่อน เมื่อเปรียบเทียบกับปีนี้ ที่สามารถผลิตไฟฟ้าได้เต็มกำลังตลอดไตรมาส จึงสามารถผลิตไฟฟ้าได้สูงขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนถึง 362%
ประกอบกับโครงการหาดกังหัน โรงไฟฟ้าพลังงานลมขนาด 126 เมกะวัตต์ ที่ตั้งอยู่ในจังหวัดสงขลาและนครศรีธรรมราช สามารถผลิตไฟฟ้าได้สูงขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนถึง 14% จากการที่พื้นที่ดังกล่าวมีกระแสลมแรงตลอดไตรมาสที่ผ่านมา ส่วนโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 4 แห่ง ที่มีกำลังการผลิตรวมกัน 278 เมกะวัตต์ สามารถผลิตไฟฟ้าได้ใกล้เคียงกับงวดเดียวกันของปีก่อน
นอกจากนี้รายได้จากธุรกิจไบโอดีเซล มีการเติบโตที่สูงขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนถึง 120% อันเป็นผลมาจากราคาขายน้ำมันไบโอดีเซลที่สูงขึ้นตามราคาน้ำมันปาล์มดิบที่เป็นวัตถุดิบหลักที่ปรับตัวสูงขึ้นเนื่องมาจากการที่ภาครัฐส่งเสริมการใช้น้ำมัน B10 เป็นดีเซลพื้นฐานของประเทศตั้งแต่เดือนมกราคมเป็นต้นมาทำให้เกิดความต้องการเพิ่มขึ้น ประกอบกับต้องมีการปรับคุณสมบัติของ B100 เพื่อให้นำไปใช้เป็น B10 ได้ จึงทำให้ราคาขายขยับสูงขึ้น
"ภาพรวมของผลการดำเนินงานในไตรมาสแรกของปีนี้ เติบโตได้สูงกว่าเป้าหมายที่วางไว้แม้ว่าในปลายไตรมาสจะเริ่มมีสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งนี้ คาดว่าตั้งแต่ไตรมาส 2/63 ผลการดำเนินงานจากสายธุรกิจไบโอดีเซล จะมีแนวโน้มที่ลดลงจากปริมาณการจำหน่ายที่แปรตามการเดินทางที่ลดลงจากมาตรการของภาครัฐเพื่อควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาด ส่วนการเริ่มรับรู้รายได้จากธุรกิจใหม่ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์สารเปลี่ยนสถานะหรือ Bio-PCM จะมีสัญญาณที่ดี โดยคาดว่าจะเริ่มผลิตและจำหน่ายในช่วงกลางปี"นายอมร กล่าว