บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) แจ้งว่าบริษัทได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (Shipper) จากสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เป็นปริมาณ 3 แสนตัน/ปี โดยบริษัทจะจำหน่ายก๊าซธรรมชาติปริมาณดังกล่าวให้แก่โรงไฟฟ้า SPP จำนวน 19 โครงการของกลุ่มบริษัทเพื่อผลิตไฟฟ้า จำหน่ายแก่กลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรม
นอกจากนี้บริษัท หินกองเพาเวอร์โฮลดิ้ง จำกัด (HKH) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนที่บริษัทถือหุ้น 49% และบมจ.ราช กรุ๊ป (RATCH) ถือหุ้น51% ได้รับอนุมัติใบอนุญาตประกอบกิจการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ จากกกพ.เช่นเดียวกัน โดย HKH จะเป็นผู้จัดหาและนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ปริมาณ 1.4 ล้านตัน/ปี เพื่อนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าหินกอง ขนาดกำลังการผลิต 1,400 เมกะวัตต์ (MW) ตั้งอยู่ที่ตำบลหินกอง อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี ซึ่งมีกำหนดเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในปี 67 และ 68
ทั้งนี้ ซึ่งการนำเข้าก๊าซธรรมชาติดังกล่าว จะช่วยทำให้ต้นทุนค่าก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าโดยรวมของโรงไฟฟ้า SPP ในกลุ่มบริษัท และโรงไฟฟ้าหินกองลดต่ำลง ซึ่งจะทำให้ต้นทุนค่าไฟของลูกค้าอุตสาหกรรมของโรงไฟฟ้า SPP รวมถึงค่าไฟฟ้าโดยรวมของประเทศ ลดต่ำลงด้วยเช่นกัน
ด้านแหล่งข่าวจากคณะกรรมการ กกพ. เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการกกพ.เมื่อวานนี้ (20 พ.ค.) อนุมัติให้ 2 บริษัทในกลุ่ม GULF ได้รับใบอนุญาต Shipper สามารถนำเข้า LNG รายใหม่ หลังจากก่อนหน้านี้มีเพียงบมจ.ปตท. (PTT) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นผู้ได้ใบอนุญาต Shipper เพียง 2 ราย โดยการนำเข้า LNG ดังกล่าวเพื่อรองรับการใช้ผลิตไฟฟ้า โดยกลุ่ม GULF ได้ยื่นเสนอขอเป็น Shipper ในนามของบริษัทร่วมทุน 1 บริษัท และในนามของ GULF อีก 1 บริษัท เนื่องจากมีโรงไฟฟ้าที่พร้อมรองรับการนำเข้า LNG
ส่วนความกังวลเรื่องปัญหาที่อาจจะไม่ได้รับอนุญาตจองใช้คลังจัดเก็บและแปรสภาพ LNG จากของเหลวมาเป็นก๊าซธรรมชาติ รวมถึงการจองใช้ท่อส่งก๊าซธรรมชาติจา PTT ซึ่งเป็นผู้ให้บริการอยู่ในปัจจุบันนั้น ก็ต้องเป็นเรื่องที่ทั้งสองฝ่ายจะต้องไปเจรจากัน แต่หากติดปัญหาอุปสรรคสามารถส่งข้อร้องเรียนมายังสำนักงานกกพ.เพื่อให้ช่วยบริหารจัดการได้
สำหรับกรณีที่บมจ.บี.กริม เพาเวอร์ (BGRIM) ที่ยื่นขอใบอนุญาต Shipper แต่ไม่ได้รับการอนุมัติก่อนหน้านี้ ก็มีการพิจารณาเมื่อวานนี้ด้วยเช่นกัน โดยให้ BGRIM กลับไปแก้ไขข้อมูลรายละเอียดอีกครั้งก่อนจะนำเข้าสู่การพิจารณาใหม่
หลังจากคณะกรรมการ กกพ.อนุมัติใบอนุญาต Shipper แก่ 2 บริษัทในกลุ่ม GULF ครั้งนี้ ก็ต้องรอการรับรองการรายงานการประชุม ก่อนที่จะแจ้งให้กับผู้ได้รับใบอนุญาตรับทราบต่อไป
"เมื่อวานนี้มีการพิจารณาผู้ยื่นข้อเสนอเข้ามาทั้งหมด คนที่เสนอข้อมูลมาถูกต้องครบถ้วนเราก็ให้ผ่านหมด ที่ยังไม่ถูกต้องก็ให้กลับไปแก้ไข ถ้ามีโรงไฟฟ้าพร้อมรองรับ ไม่มีปัญหาเราก็ให้อยู่แล้ว ช่วงนี้ LNG ก็ราคาต่ำ Capacity ของคลัง LNG ก็เหลือบางส่วน แต่ก็ไม่อยากให้คนมาขอเยอะเกินไป เพราะต้องไปดูเรื่องการจองท่อ จองคลังด้วย"แหล่งข่าว กล่าว
แหล่งข่าว กล่าวอีกว่า การที่กลุ่ม GULF ได้รับใบอนุญาตครั้งนี้ทำให้จะสามารถไปเริ่มเจรจากับ PTT เพื่อจองพื้นที่สำหรับการใช้คลัง LNG และการใช้ท่อส่งก๊าซฯ ส่วนจะมีการนำเข้าเมื่อใดและปริมาณเท่าใดนั้นก็ขึ้นอยู่กับการเจรจาของทั้งสองฝ่าย แต่คิดว่าคงไม่ใช่ในเร็ววันนี้ และอาจจะไม่สามารถนำเข้าได้ตามปริมาณที่กำหนด เพราะยังต้องคำนึงถึงความเหมาะสมทั้งในส่วนของคุณภาพก๊าซฯที่จะมารวมกันกับก๊าซฯในอ่าวไทย รวมถึงความจุของคลังก๊าซฯที่สามารถรองรับได้ ตลอดจนจุดหมายปลายทางในการส่งก๊าซฯออกไปด้วย
อย่างไรก็ตามแม้อาจจะมีปริมาณนำเข้า LNG เข้ามาเพิ่มเติมแต่ก็เชื่อว่าจะยังไม่มีความจำเป็นต้องปรับสูตรราคาก๊าซฯรวมแต่อย่างใด แต่การที่กกพ.ให้ใบอนุญาตดังกล่าวก็จะช่วยให้การเปิดเสรีก๊าซฯสามารถทำได้เร็วขึ้น
สำหรับสัญญาซื้อขายก๊าซฯที่กลุ่ม GULF มีกับ PTT ในส่วนของโรงไฟฟ้า SPP ของกลุ่มนั้นยังคงเป็นไปตามเดิม แต่การนำเข้า LNG เข้ามาเพิ่มเติมก็เพื่อใช้รองรับในส่วนที่อยู่นอกเหนือสัญญาซื้อขายก๊าซฯขั้นต่ำที่มีอยู่กับ PTT ซึ่งเป็นส่วนที่ทำให้สามารถบริหารจัดการก๊าซฯได้ โดยไม่ผิดสัญญาซื้อขายก๊าซฯแต่อย่างใด
ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดใหญ่ (IPP) ในโครงการหินกอง ขนาด 1,400 เมกะวัตต์นั้น ปัจจุบันยังไม่ได้มีการลงนามสัญญาซื้อขายก๊าซฯ ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้ากับ PTT แต่อย่างใด