เปิดอก "SUPER" ในวันที่หุ้นสุดฮ็อต ล้วงปฏิบัติการขึ้นชั้น "พลังงานทดแทน" เบอร์หนึ่งเอเชีย

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday June 1, 2020 15:17 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กลับเข้ามาอยู่ในเรดาห์ของนักลงทุนอีกครั้งสำหรับหุ้น บมจ.ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี คอร์เปอเรชั่น (SUPER) กราฟเทคนิคพบราคาหุ้น SUPER ดีดขึ้นมากว่าเท่าตัว จากที่ลงไปทำจุดต่ำสุดรอบนี้แถว 0.28 บาทในช่วงเดือน มี.ค.63 ส่วนหนึ่งตอบรับกับปัจจัยบวกกำไรไตรมาสแรกเติบโตก้าวกระโดด ทำให้เป็นที่น่าสนใจว่าแนวโน้มผลประกอบการ SUPER หลังจากนี้จะประคับประคองราคาหุ้นไปต่อได้อีกไกลแค่ไหน และถ้าไปต่อกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่จะขายหุ้นทิ้งออกมาหรือไม่ ??

นายจอมทรัพย์ โลจายะ ประธานคณะกรรมการ SUPER เปิดเผยกับ"อินโฟเควสท์"ว่า ผลประกอบการในไตรมาส 1/63 ของบริษัทกลับมาเติบโตชัดเจนอีกครั้ง เนื่องจากการรับรู้รายได้โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนในมือที่มีการขายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) กำลังผลิตรวม 744 เมกะวัตต์ (MW) ประกอบด้วย โครงการโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ในไทยและเวียดนาม กำลังการผลิตรวม 720.96 เมกะวัตต์ และรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากเงินปันผลของกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้า ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี (SUPEREIF) กำลังการผลิต 118 เมกะวัตต์ที่บริษัทถือหุ้นสัดส่วน 20% และรับรายได้จากการบริหารโครงการดังกล่าว ขณะเดียวกันยังมีกำไรจากการขายโครงการบางส่วนออกไปและมีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเข้ามาด้วย

ขณะที่ในเดือน เม.ย.ที่ผ่านมาบริษัทได้ COD โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนจากขยะให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) อีก 1 โครงการ กำลังการผลิต 9 เมกะวัตต์ จากก่อนหน้าที่ COD โครงการโรงไฟฟ้าขยะจังหวัดสระแก้ว ทำให้รวม 2 โครงการดังกล่าวจะมีกำลังการผลิตรวม 18 เมกะวัตต์ และยังอยู่ระหว่างก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะอีก 4 โครงการในจังหวัดหนองคาย 8 เมกะวัตต์ ,เพชรบุรี 9.9 เมกะวัตต์ ,นนทบุรี 20 เมกะวัตต์ ,นครศรีธรรมราช 20 เมกะวัตต์ คาดว่าจะสามารถ COD ได้ในระยะถัดไป

ทั้งนี้ แม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 แต่ด้วยโครงสร้างธุรกิจของบริษัทที่มีรายได้สม่ำเสมอเพราะเป็นสัมปทานขายไฟฟ้าให้กับหน่วยงานภาครัฐ เป็นข้อดีที่ผลประกอบการบริษัทไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติครั้งนี้ อย่างไรก็ตาม อาจต้องปรับกระบวนการทำงานเพื่อสอดคล้องกับสถานการณ์ เช่น การประชุมกับพันธมิตรต่างประเทศต้องใช้ "Video Conference" แทนการเดินทางไปต่างประเทศ นอกจากนั้น กระบวนการก่อสร้างในเวียดนามมีขั้นตอนทำงานเพิ่มขึ้นเพราะต้องขออนุญาตกับหน่วยงานของทางการเวียดนามและสถานทูตเพื่อเข้าไปทำงานในไซด์ แต่โครงการก่อสร้างยังดำเนินการได้ตามปกติ

สำหรับแผนระยะยาว 3 ปีข้างหน้า (ปี 63-65) บริษัทวางเป้าหมายรายได้เติบโตต่อเนื่อง ตามแผนรับรู้รายได้จากการขายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ของโครงการใหม่ที่อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง แบ่งเป็น ในประเทศเวียดนามโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ กำลังการผลิต 550 เมกะวัตต์ คาดว่าสามารถ COD ได้ในช่วงปลายปีนี้ และโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม กำลังการผลิต 421 เมกะวัตต์ คาดว่าสามารถ COD ได้ภายในปี 64 ส่งผลให้ในปี 65 บริษัทจะมีกำลังการผลิตรวมเกือบ 1,800 เมกะวัตต์ เป็นส่วนสนับสนุนรายได้ปีนี้เพิ่มเป็นเกือบ 7 พันล้านบาท และในปี 64 เพิ่มเป็น 1 หมื่นล้านบาท ก่อนจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.3 หมื่นล้านบาทในปี 65

"โครงสร้างธุรกิจของ SUPER ข้อดีคือความมั่นคงด้านรายได้ เพราะโครงการโรงไฟฟ้าในไทยทั้งหมดเกือบ 600 เมกะวัตต์ มีสัญญาซื้อขายไฟเหลือเฉลี่ย 20 ปี ราคารับซื้อเฉลี่ย 5.66 บาท/หน่วย ด้านโครงการโรงไฟฟ้าในเวียดนามที่ COD จำนวน 286 เมกะวัตต์มีสัญญาซื้อขายไฟเหลือเฉลี่ย 19 ปี ราคารับซื้อเฉลี่ย 9.35 เซนต์/หน่วย ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าใหม่ในเวียดนามกำลังการผลิต 550 เมกะวัตต์จะมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าประมาณ 20 ปี ราคารับซื้อเฉลี่ย 7.09 เซนต์/หน่วย ขณะที่พลังงานลมมีสัญญาซื้อขายไฟประมาณ 20 ปีเช่นกัน มีราคารับซื้อเฉลี่ย 8.50-9.80 เซนต์/หน่วย"นายจอมทรัพย์ กล่าว

ทั้งนี้ ในช่วงเกิดวิกฤติโควิด-19 พบว่าประเทศเมียนมามีความต้องการดึงดูดนักลงทุนเข้าไปขยายโครงการพลังงานทดแทน โดยเปิดประมูลโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์จำนวน 1,000 เมกะวัตต์ แต่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขคือต้องเข้าประมูลภายในวันที่ 18 มิ.ย.63 เพื่อต้องการให้นักลงทุนก่อสร้างแล้วเสร็จภายใน 6 เดือนหรือต้นไตรมาส 1/64 ซึ่งบริษัทมีพันธมิตรในเมียนมาและอยู่ระหว่างประสานงานเกี่ยวกับความเป็นไปได้ถึงโอกาสเข้าร่วมประมูลในโครงการดังกล่าว

นายจอมทรัพย์ กล่าวว่า วันนี้ความฝันต่อไปของ SUPER คือมุ่งเป้าก้าวขึ้นเป็นบริษัทเบอร์หนึ่งด้านพลังงานทดแทนในเอเชีย เพราะในประเทศไทยบริษัทมีกำลังการผลิตที่มีจำนวนมากที่สุด ขณะที่ในประเทศเวียดนามหากเริ่ม COD ได้อีก 550 เมกะวัตต์จะทำให้บริษัทก้าวขึ้นเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนใหญ่ที่สุดในเวียดนามรวมกำลังการผลิตกว่า 800 เมกะวัตต์

นอกจากนั้น บริษัทอยู่ระหว่างแสวงหาโอกาสประมูลโครงการใหม่ๆในประเทศฟิลิปปินส์, อินโดนีเซีย และญี่ปุ่น มีแรงสนับสนุนจากสถาบันการเงินพันธมิตรหลายแห่งที่ขยายสาขาหลายประเทศในเอเชีย เช่น ธนาคากรุงเทพ ,ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย , ธนาคารไอซีบีซี เป็นต้น

"ต้องบอกว่าวันนี้เรามาเกินกว่าที่ฝันไว้ บริษัทมีกำลังการผลิตโซลาร์ที่ใหญ่สุดในไทย ก่อนที่ช่วงปลายปีนี้จะก้าวเป็นเบอร์หนึ่งโซลาร์ในเวียดนาม และความฝันต่อไปคืออยากเห็น SUPER เป็นเบอร์หนึ่งใหญ่ที่สุดในธุรกิจพลังงานทดแทนในเอเชีย เพราะหากวิเคราะห์โอกาสพบว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าทั่วโลกมีสัดส่วนถึง 75% ในประเทศโซนเอเชียแปซิฟิกที่อยู่ในช่วงกำลังพัฒนา ขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ยังเข้าถึงไฟฟ้าเป็นสัดส่วนที่น้อย นับเป็นโอกาสของ SUPER ที่เข้าไปขยายโครงการในต่างประเทศมากขึ้น"นายจอมทรัพย์ กล่าว

ส่วนสภาพคล่องทางเงิน บริษัทเตรียมความพร้อมหลายด้านหากมีความจำเป็นต้องใช้เงินลงทุนในอนาคต โดยไม่มีความจำเป็นที่ต้องใช้วิธีการเพิ่มทุน ประกอบด้วยแนวทางขายสินทรัพย์เข้ากองทุน SUPEREIF ,มีแผนขายหุ้นกู้จำนวน 1 พันกว่าล้านบาทในครึ่งปีแรก แม้ว่าปีนี้บริษัทมีหุ้นกู้ครบกำหนดจำนวน 1 พันล้านบาท แต่บริษัทเตรียมวงเงินตั๋วสัญญาใช้เงิน (PN) กับธนาคารกรุงเทพไว้รองรับแล้ว

"เราไม่เป็นห่วงเรื่องไถ่ถอนหรือโรลโอเวอร์หุ้นกู้ของบริษัท เพราะมีวงเงิน PN แบงก์กรุงเทพ รวมถึงมีเงินฝากประจำกับธนาคารกรุงเทพและธนาคารอื่นๆด้วย ขณะเดียวกันแม้ว่าจะมีกระแสสั่นคลอนความเชื่อมั่นตลาดตราสารหนี้ แต่ธุรกิจของ SUPER เป็นธุรกิจสัมปทานไม่ได้รับผลกระทบโควิด-19 เชื่อมั่นว่าหากขายหุ้นกู้ล็อตต่อไปจะมีนักลงทุนสนใจแน่นอน"นายจอมทรัพย์ กล่าว

สำหรับประเด็นราคาหุ้น SUPER ในวันนี้ นายจอมทรัพย์ ยอมรับว่า แม้ว่าราคาหุ้นจะปรับตัวเพิ่มขึ้นมาช่วงนี้ แต่กลุ่มผู้ถือหุ้นและครอบครัวที่ถือหุ้นสัดส่วนรวม 42% ยังไม่มีความคิดที่จะขายหุ้นออกมา เพราะมีความเชื่อมั่นการเติบโตธุรกิจในอนาคต ขณะเดียวกันยอมรับว่าหุ้น SUPER มีค่าเฉลี่ย P/E ที่ต่ำเมื่อเทียบกับหุ้นในอุตสาหกรรมเดียวกัน มองเป็นโอกาสของนักลงทุนที่พิจารณาเลือกหุ้นที่มีอัตราการเติบโตในช่วงต่อไป

"หุ้นล็อตหลังสุดที่ผมซื้อคือมา 10% จำนวน 2,700 ล้านหุ้น ผมซื้ออยู่ที่ราคา 1.20 บาท สะท้อนว่าฝ่ายบริหารมีความเชื่อมั่น และต้องยอมรับหุ้นบริษัทมี P/E เกือบจะต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับหุ้นในอุตสาหกรรมเดียวกัน แต่ก็มีบางคนถามว่าราคาหุ้นขึ้นช้าหรือไม่ ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมามีการออกไปของผู้ถือหุ้นใหญ่บางราย เป็นช่วงของการปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้น ทำให้มีหุ้นที่เข้าไปในตลาดจำนวนมาก เป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ราคาหุ้นเราลดลงต่ำกว่าปกติ เมื่อวิเคราะห์ทางพื้นฐาน SUPER ได้ปลดล็อกก้าวสู่การเติบโตรอบใหม่อีกครั้ง เหมือนกับช่วงที่เริ่มต้นจาก 0 ไป 800 เมกะวัตต์ เพราะ 2 ปีที่ผ่านมาบริษัทหยุดเติบโตมาประมาณ 1 ปีครึ่ง แต่วันนี้ SUPER จะกลับมาเห็นการเติบโตชัดเจนมากขึ้นกับโครงการในมือของเรา"นายจอมทรัพย์ กล่าว

https://youtu.be/2nCjGCqZ-Ug


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ