ตลท. ให้ 13 บจ.เทรดในระบบปกติได้ตั้งแต่ 4 ก.ค.หลังเลิกระบบ Call Market

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday July 2, 2007 17:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

         ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) สั่งให้ยกเลิกมาตรการ Call Market เพื่อให้หลักทรัพย์ของบริษัทกลับมาซื้อขายในระบบปกติ (Automatic Order Matching : AOM) แทน  ซึ่งจะช่วยเพิ่มสภาพคล่องในการซื้อขายและช่วยให้การกระจายหุ้นเป็นไปโดยสะดวกยิ่งขึ้น อีกทั้งการดำเนินการดังกล่าวยังไม่มีผลกระทบต่อผู้ถือหุ้นรายย่อย 
ตลท.จะให้ระยะเวลาบริษัทจดทะเบียนในการแก้ไขการกระจายการถือหุ้นให้ครบถ้วน โดยในปีแรก ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะแจ้งให้บริษัทจดทะเบียนได้ทราบเพื่อดำเนินการแก้ไขให้บริษัทจดทะเบียนมีคุณสมบัติในด้านการกระจายการถือหุ้นตามเกณฑ์ หากบริษัทจดทะเบียนยังไม่สามารถดำเนินการแก้ไขการกระจายการถือหุ้นได้ในปีที่ 2 ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะแจ้งการขาดคุณสมบัติของบริษัทจดทะเบียนให้ผู้ลงทุนได้ทราบ และเรียกเก็บค่าธรรมเนียมส่วนเพิ่มจนกว่าบริษัทจะแก้ไขเหตุดังกล่าวได้
บริษัทจดทะเบียนจะรายงานความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาทุก 6 เดือนนับจากวันครบกำหนดส่งรายงานการกระจายจนกว่าบริษัทจดทะเบียนจะมีคุณสมบัติครบถ้วน เพื่อให้ผู้ลงทุนได้ทราบความคืบหน้าในการดำเนินการดังกล่าว
เนื่องจากมีบริษัทจดทะเบียนจำนวน 21 บริษัทที่มีคุณสมบัติด้านการกระจายของผู้ถือหุ้นรายย่อยไม่ครบถ้วนตามข้อกำหนดติดต่อกันเป็นปีที่ 2 ขึ้นไป โดยบริษัทที่ขาดคุณสมบัติมากกว่า 2 ปีขึ้นไป จำนวน 15 บริษัท ในระบบการจับคู่ในช่วงเวลา (Call Market)
โดยให้ซื้อขายในระบบปกติ (Automatic Order Matching ) แทน จำนวน 13 บริษัท โดยเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 4 กรกฎาคม 2550 เป็นต้นไป
สำหรับ 13 บริษัทดังกล่าว ได้แก่ บริษัท รองเท้าบาจาแห่งประเทศไทย จำกัด (มหาชน) (BATA), บริษัท เทพธานีกรีฑา จำกัด (มหาชน) (CSR) , บริษัทนำสินประกันภัย จำกัด (มหาชน) (NSI), บริษัท ปทุม ไรซมิล แอนด์ แกรนารี่ จำกัด (มหาชน) (PRG), บริษัท แพ็คฟู้ด จำกัด (มหาชน) (PPC), บริษัท โรงแรมราชดำริ จำกัด (มหาชน) (RHC),บริษัท โรงแรมรอยัล ออคิด (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)(ROH), บริษัทไทยพาณิชย์นิวยอร์คไลฟ์ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน)(SCNYL), บริษัท แชงกรี-ลา โฮเต็ล จำกัด (มหาชน) (SHANG), บริษัท สมิติเวช จำกัด (มหาชน) (SVH), บริษัท ไทย อกริ ฟู้ดส์ จำกัด (มหาชน)(TAF), ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) (TBANK) และบริษัท ยูไนเต็ดฟลาวมิลล์ จำกัด (มหาชน) (UFM)
นอกจากนี้ ให้ยกเลิกการกำหนดให้หลักทรัพย์ของธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด (มหาชน) (SCBT)3/ และบริษัท นครหลวงเส้นใยสังเคราะห์ จำกัด (มหาชน) (HTX) ซื้อขายในระบบ Call Market มีผลตั้งแต่วันที่ 4 กรกฎาคม 2550 เป็นต้นไป โดยยังคงสั่งห้ามการซื้อหรือขายต่อไป
ส่วนบริษัทที่ขาดคุณสมบัติเป็นปีที่ 2 จำนวน 6 บริษัท ยังคงซื้อขายในระบบปกติ ได้แก่ บริษัท วาไทยอุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) (HT), บริษัท บางกอกแร้นช์ จำกัด (มหาชน) (RANCH), บริษัท ประกันคุ้มภัย จำกัด (มหาชน) (SAFE), บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (SHIN), บริษัท ยูไนเต็ดคอมมูนิเกชั่น อินดัสตรี จำกัด (มหาชน) (UCOM) และบริษัท วีนิไทย จำกัด (มหาชน) (VNT)
ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามแนวทางดำเนินการที่ได้ปรับปรุงใหม่ข้างต้น บริษัทดังกล่าวข้างต้นจะดำเนินการดังนี้ แก้ไขการกระจายรายย่อยให้ครบถ้วนภายใน 1 ปีนับจากวันครบกำหนดนำส่งรายงานการกระจายการถือหุ้นของแต่ละบริษัท
รายงานความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาทุก 6 เดือน ครั้งแรกวันที่ 14 พฤศจิกายน 2550 (สำหรับบริษัทที่มีงวดบัญชีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม) และครั้งต่อไปทุก 6 เดือนจนกว่าบริษัทจะมีคุณสมบัติเรื่องการกระจายรายย่อยครบถ้วน
กรณีบริษัทยังไม่สามารถแก้ไขคุณสมบัติการกระจายรายย่อยภายในเวลาดังกล่าว ตลท.จะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมส่วนเพิ่มในงวดถัดไป (กรกฎาคมปี 2551 - มิถุนายนปี 2552) โดยนับเป็นปีที่ 1 ตามจำนวนการกระจายผู้ถือหุ้นรายย่อยที่บริษัทยังไม่สามารถปฏิบัติได้ตามเกณฑ์ และจะเรียกเก็บต่อไปตามตารางอัตราค่าธรรมเนียมที่กำหนดจนกว่าบริษัทจะสามารถแก้ไขคุณสมบัติได้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ