แม้ว่าบมจ.อาร์ แอนด์ บี ฟู้ด ซัพพลาย (RBF) จะเพิ่งเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยได้ไม่นาน (ต.ค.62) แต่ราคาหุ้นกลับทะยานทุบสถิติสูงสุดใหม่ (All-Time-High) อย่างต่อเนื่อง ผลักดันมูลค่าบริษัท หรือมาร์เก็ตแคปโตก้าวกระโดดเข้าไปคำนวณในดัชนี SET100 รอบนี้ (1 ก.ค.-31 ธ.ค.63)
"อินโฟเควสท์"มีโอกาสสัมภาษณ์ นายสุรนาถ กิตติรัตนเดช ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบัญชีและการเงิน RBF ถึงแนวโน้มการเติบโตของผลประกอบการในอนาคต ซึ่งจะสะท้อนและท้าพิสูจน์ราคาหุ้น RBF ที่ทะยานทุบสถิติ All-Time-High ได้หรือไม่ และเหตุผลอะไรที่ทำให้หุ้น RBF ถูกเลือกในเวลานี้ ??
*น้องใหม่ SET100 เข้าตานักลงทุนสถาบันไทย-เทศ
หุ้น RBF เสนอขาย IPO ที่ 3.30 บาท/หุ้น โดยเข้าซื้อขายใน SET วันแรก 24 ต.ค.62 จากนั้น ณ วันที่ 30 ธ.ค.ปิดปลายปีที่ 4.40 บาท/หุ้น ขณะที่ราคาดีดตัวขึ้นมาแรงจนถึงวันนี้ (23 มิ.ย.63) ขึ้นไปทำจุดสูงสุด 7.95 บาท/หุ้น ดังนั้น นับตั้งแต่ต้นปีมาถึงปัจจุบัน (YTD) ราคาปรับเพิ่มขึ้นไปถึง 80.68%
นายสุรนาถ กล่าวกับ "อินโฟเควสท์"ว่า ราคาหุ้น RBF พุ่งขึ้นแรงเป็นสิ่งที่นักลงทุนสะท้อนคุณค่าของบริษัท ส่วนหนึ่งเกิดจากความเชื่อมั่นในศักยภาพและประสบการณ์ของ RBF ที่โลดแล่นในอุตสาหกรรมนี้มาอย่างยาวนานกว่า 30 ปี ขณะเดียวกันยังมีความสามารถด้านการแข่งขันกับคู่แข่งที่เป็นบริษัทต่างชาติมาตลอด ประกอบกับผลประกอบเติบโตมาต่อเนื่อง มีความหลากหลายผลิตภัณฑ์สินค้า การบริการมีความรวดเร็วควบคู่กับรักษาคุณภาพ และที่สำคัญคือสูตรของลูกค้าจะเป็นความลับตลอดกาล เป็นโจทย์ที่ทำให้บริษัทเอาชนะใจของลูกค้าทั้งผู้ประกอบการไทย รวมถึงลูกค้าต่างชาติอีกหลายประเทศทั่วโลก
ทั้งนี้ ภายหลังจากบริษัทเข้าคำนวณในดัชนี SET100 แล้วล่าสุดยังได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีทั้งจากนักลงทุนสถาบันในประเทศและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง รวมถึงกลุ่มนักลงทุนบุคคล ซึ่งบริษัทรู้สึกขอบคุณนักลงทุนทุกคน แต่สุดท้ายแล้วผลลัพธ์ว่านักลงทุนจะให้คุณค่ากับบริษัทในระยะยาวหรือไม่นั้น ก็ต้องพิสูจน์ผลประกอบการให้เติบโตเป็นไปตามแนวโน้มที่นักลงทุนคาดหวังไว้
"ธุรกิจของบริษัทเป็นหนึ่งในปัจจัย 4 ที่จำเป็นต่อการใช้ในชีวิตประจำวัน แม้ช่วงที่เกิดวิกฤติโควิด-19 บริษัทก็ยังสามารถเติบโตได้เป็นอย่างดี ในมุมมองเรื่องราคาหุ้นบริษัทที่ปรับตัวขึ้นมานั้น เป็นสิ่งที่นักลงทุนเลือกให้คุณค่ากับบริษัท โดยฝ่ายบริหารเองต้องมองการเติบโตอนาคตเป็นสำคัญ ส่วนตัวผมเองอยู่กับบริษัทมา 18 ปีมีผลประกอบการเติบโตมาอย่างต่อเนื่องเป็นที่มาของความเชื่อมั่นว่าในวันนี้บริษัทยังมองเห็นโอกาสเติบโตอีกมาก ไม่ได้รู้สึกว่าธุรกิจเราตันเลย เป็นส่วนหนึ่งที่นักลงทุนมีความเชื่อมั่นในส่วนนี้ ก็เลยให้เครดิตกับบริษัทของเราในวันนี้"นายสุรนาถ กล่าว
*เป้า 5 ปีรายได้ทะยานแตะอย่างน้อย 4-5 พันลบ.
นายสุรนาถ กล่าวต่อว่า สำหรับแผนขยายกิจการทั้งในประเทศและต่างประเทศนั้น บริษัทตั้งเป้าในอีก 5 ปีข้างหน้ารายได้รวมน่าจะเติบโตขึ้นไปแตะ 4-5 พันล้านบาทเป็นอย่างน้อย เมื่อเทียบกับปี 62 ที่มีรายได้รวม 2,864.65 ล้านบาท โดยแต่ละปีบริษัทตั้งเป้าเติบโตเฉลี่ยเป็นตัวเลข 2 หลักต้นๆ หรืออย่างน้อยตัวเลขหลักเดียวในอัตราสูง
อย่างไรก็ตาม เป้าหมายรายได้ดังกล่าวเป็นการคาดการณ์ภายใต้การเติบโตตามปกติ (Organic Growth) แต่ล่าสุดบริษัทมีแผนพิจารณาโครงการใหม่ ซึ่งหากประสบความสำเร็จน่าจะช่วยผลักดันแนวโน้มผลประกอบการให้เติบโตได้มากกว่าค่าเฉลี่ยที่บริษัทประเมินไว้
ขณะที่แนวโน้มรายได้ปี 63 บริษัทยังคงเป้าหมายเติบโตราว 10-12% แม้ว่ามีสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้หลายอุตสาหกรรมต้องได้รับผลกระทบ แต่ในมุมของบริษัทกลับได้รับอานิสงส์จากลูกค้าทั้งรายใหญ่และรายเล็กเร่งสต็อกสินค้าเพื่อจำหน่ายในช่วงที่ยังมีความไม่แน่นอนในสถานการณ์ แม้อาจจะมีลูกค้าบางรายชะลอคำสั่งซื้อไปบ้าง แต่ด้วยความที่ฐานลูกค้าของบริษัทกระจายไปในหลายอุตสาหกรรม เป็นเหตุผลให้ภาพรวมผลประกอบการในไตรมาส 2/63 ยังสามารถรักษาการเติบโตได้ตามเป้า
"แม้ว่ารัฐบาลไทยจะทยอยคลายมาตรการล็อกดาวน์ เป็นส่วนผลักดันเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัว แต่ในมุมมองของบริษัทเองก็ยังไม่รีบปรับประมาณการ เพราะอยากเห็นแนวโน้มการฟื้นตัวที่ชัดเจนอีกครั้งในช่วงครึ่งปีหลัง ส่วนสิ่งที่จะสร้าง S-Curve ให้กับบริษัทในอนาคตคือการขยายตลาดในต่างประเทศ เพราะปัจจุบันบริษัทส่งออกสินค้าไปหลายประเทศทั่วโลก และมีพันธมิตรท้องถิ่นที่แข็งแกร่งในหลายประเทศเช่นเดียวกัน"นายสุรนาถ กล่าว
นายสุรนาถ กล่าวว่า แนวทางเติบโตแต่ละธุรกิจของ RBF กลุ่มแรก ธุรกิจกลุ่มวัตถุแต่งกลิ่นรส (Flavour) ที่มียอดขายเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญที่เกิดช่วงวิกฤติโควิด-19 และบริษัทเริ่มผลิตกลิ่นหอม (Fragance) ด้วยตัวเองจากเดิมที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ จึงช่วยลดต้นทุนลงได้มาก นอกจากนั้น ยังมีการขยายทีมเพื่อทำการตลาดต่างประเทศ มุ่งเน้นประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม กัมพูชา และจีน เป็นต้น
ถัดมา คือ กลุ่มแป้งและซอส บริษัทเข้าไปขยายตลาดกลุ่มประเทศอาเซียน ล่าสุด สร้างโรงงานผลิตในอินโดนีเซีย และเวียดนาม เพราะมองเห็นแนวโน้มการเติบโตเป็นตัวเลข 2 หลักทุกๆ ปี โดยทั้ง 2 ประเทศมีลักษณะของตลาดคล้ายกับประเทศไทยเมื่อ 10 ปีที่แล้ว นอกจากนี้ ยังมีอุตสาหกรรมส่งออกสินค้าอาหารที่ส่งสัญญาณเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเช่นกัน
ส่วนแนวโน้มอัตรากำไรขั้นต้นที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเกิดจากธุรกิจกลุ่มวัตถุแต่งกลิ่นรสและสีผสมอาหาร เป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนรายได้มากสุดที่ 39.6% มียอดขายเพิ่มขึ้น มีส่วนต่างกำไรที่ค่อนข้างดี เพราะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ต้องอาศัยความสามารถด้าน R&D
ตัวแปรถัดมาคือ บริษัทเริ่มผลิตกลิ่นหอมด้วยตัวเอง และ กลุ่มแป้งและซอสบริษัทมีวัตถุดิบซอสที่มีต้นทุนลดลง ส่งผลให้ต้นทุนลดลงสวนทางกับอัตรากำไรให้ดีขึ้น และยอดขายที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่ต้นทุนค่าใช้จ่าย SG&A เป็นต้นทุนคงที่ สะท้อนแนวโน้มกำไรสุทธิของบริษัทที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน
*รง.อินโดนีเซีย-เวียดนาม เข้าสู่จุดคุ้มทุนภายใน 1-2 ปี
นายสุรนาถ เปิดเผยอีกว่า โรงงานในประเทศอินโดนีเซีย เริ่มการผลิตเชิงพาณิชย์เฟส 1 เมื่อเดือน มี.ค.63 ส่วนโรงงานในเวียดนามมีความพร้อมเดินเครื่องการผลิตแล้ว แม้ยังติดปัญหาขั้นตอนการส่งทีมเข้าไปดูแลระบบเครื่องจักร เพราะอยู่ในช่วงการควบคุมสถานการณ์โควิด-19 แต่มีความเป็นไปได้ว่าภายในไตรมาส 3/63 น่าจะเดินเครื่องการผลิตเชิงพาณิชย์ได้อย่างแน่นอน
ทั้งนี้ เบื้องต้นบริษัทคาดว่าทั้ง 2 โรงงานจะเข้าสู่จุดคุ้มทุนภายใน 1-2 ปี หรืออย่างช้าที่สุดน่าจะประมาณ 3 ปีหลังจากนั้นทยอยเก็บเกี่ยวผลตอบแทนจากการลงทุนได้ในระยะยาว
"ตลาดเวียดนามและอินโดนีเซีย บริษัทเข้าไปทำตลาดมาเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว เรามีพันธมิตรและกลุ่มลูกค้าหลักหลายราย ทำให้เราต้องเข้าไปตั้งฐานการผลิตเพื่อขยายตลาดอย่างมีศักยภาพมากขึ้น จึงมีความได้เปรียบด้านต้นทุนการผลิตเชื่อว่าเป็นสิ่งสำคัญช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน นอกจากนั้นด้วยลักษณะของคนเอเชียด้วยกันคงได้รับการตอบรับสินค้าได้เป็นอย่างดี เช่นเดียวกับการบริการด้านคุณภาพและรวดเร็วการมีห้อง LAB ในประเทศนั้นยิ่งช่วยเสริมศักยภาพการให้บริการได้ดีขึ้น"นายสุรนาถ กล่าว
ขณะเดียวกัน บริษัทเข้าไปขยายตลาดในประเทศจีน ด้วยแผนเข้าไปจัดตั้งสำนักงานตัวแทนขายในรูปแบบเทรดดิ้ง โดยนำสินค้าจากไทยเข้าไปขยายตลาด มีความเป็นไปได้ที่จะได้รับการตอบเป็นอย่างดีจากลูกค้าชาวจีน ซึ่งเฟสแรกมีเป้าหมายผลักดันยอดขายในจีนให้เติบโตได้ดีก่อนในช่วง 5 ปีแรกหากประสบความสำเร็จมีโอกาสพัฒนาเฟสต่อไปในอนาคต
นายสุรนาถ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันบริษัทมีเงินทุนเพียงพอต่อการขยายกิจการในอีก 5 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นเงินจากการระดมทุนด้วยการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) ช่วงปลายปี 62 โดยส่วนหนึ่งนำไปลงทุนซื้อเครื่องจักรเข้ามาติดตั้งราวปลายไตรมาส 3/63 หรือ ต้นไตรมาส 4/63 และเงินส่วนที่เหลือมีแผนขยายโครงการใหม่ๆ ตามแผนที่จะลงทุนโรงงานเฟส 2 ในอินโดนีเซีย ราว 200-250 ล้านบาท คาดว่าสรุปและเริ่มก่อสร้างได้ภายในต้นปี 64
*CONSENSUS โบรกฯ ให้เป้า 6.80-8.70 บาท
โบรกเกอร์ คำแนะนำ ราคาเป้าหมาย (บาท/หุ้น) ทรีนีตี้ "ซื้อ" 8.70 กสิกรไทย "ซื้อ" 7.85 ทิสโก้ "ถือ" 7.40 เคทีบี (ประเทศไทย) "ถือ" 6.80