เกาะติดกับกระแสหุ้นน้องใหม่ IPO ที่เตรียมเสนอขายเป็นตัวแรกในรอบครึ่งหลังของปี 63 นั่นคือ บมจ.ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) (STGT) บริษัทลูกของ บมจ.ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี (STA) ผู้ประกอบธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายยางธรรมชาติแบบครบวงจรรายใหญ่ของโลก
ทั้งนี้ STGT นำเสนอขายหุ้นทั้ง 444.78 ล้านหุ้นกำหนดช่วงราคาขายหุ้น IPO ที่ 34 บาทเป็นระดับราคาสูงสุดจากช่วงราคาที่กำหนด 32-34 บาท ปัจจุบันได้เปิดให้นักลงทุนเข้าจองซื้อหุ้น IPO แล้วตั้งแต่วันที่ 23–25 มิ.ย.63 และคาดนำหุ้นเข้าซื้อขายวันแรกในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศ (SET) ในวันที่ 2 ก.ค.นี้
นางสาวจริญญา จิโรจน์กุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ STGT เปิดเผยกับ "อินโฟเควสท์"ว่า ตลอด 2 สัปดาห์ที่ผ่านบริษัทเดินสายนำเสนอข้อมูลให้กับนักลงทุนสถาบันในประเทศและต่างประเทศจำนวนกว่า 30 ราย รวมถึงนักลงทุนรายย่อย มีกระแสการตอบรับเป็นอย่างดี เพราะด้วยความที่ STGT เป็น 1 ใน 5 เป็นผู้ผลิตถุงมือยางรายใหญ่ของโลก และ 4 บริษัทคู่แข่งรายใหญ่ก็เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯของประเทศมาเลเซีย ทำให้ STGT เป็นบริษัทไทยรายเดียวที่สามารถไปแข่งขันระดับโลกได้อย่างทัดเทียมรายอื่น เป็นอีกหนึ่งปัจจัยช่วยเสริมความเชื่อมั่นนักลงทุนเข้ามาสนใจในหุ้นของ STGT เป็นจำนวนมาก
นอกจากนั้น ธุรกิจบริษัทกำลังอยู่ในช่วงเติบโตค่อนข้างสูง หลังจากดีมานด์ในตลาดโลกเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากผลกระทบการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ขณะเดียวกันผลประกอบการไตรมาส1/63 ยังสามารถเติบโตได้ค่อนข้างดี
สาเหตุที่บริษัทกำหนดราคาหุ้นไอพีโอ 34 บาทมีค่า P/E อยู่ที่ 54 เท่าเป็นกรอบบนของช่วงราคาที่กำหนดเบื้องต้น 32-34 บาท เป็นสิ่งสะท้อนความต้องการของนักลงทุนสถาบันที่มีเข้ามาจำนวนมาก โดยเฉพสะสถาบันต่างประเทศส่วนใหญ่สนใจหุ้นไอพีโอของบริษัท ส่วนหนึ่งเป็นนักลงทุนที่ถือหุ้นในธุรกิจถุงมือยางในประเทศมาเลเซียอยู่แล้ว ทำให้มีความเข้าใจธุรกิจ STGT เป็นอย่างดี
ส่วนมุมมองเรื่อง P/E ระดับ 54 เท่านั้น นางสาวจริญญา กล่าวว่า เบื้องต้นได้นำหุ้นไอพีโอ STGT ไปเปรียบเทียบกับมูลค่าหุ้นของบริษัทคู่แข่งที่เป็นรายใหญ่ในอุตสาหกรรมเดียวกันที่เป็นบริษัทจดทะเบียนในประเทศมาเลเซียพบว่ามีค่าเฉลี่ย P/E สูงกว่า P/E ของ STGT เป็นสิ่งสะท้อนว่ามูลค่าหุ้นไอพีโอที่เคาะมาในราคา 34 บาทยังมีมุมมองค่อนข้างอนุรักษ์นิยม (conservative)
"ราคาไอพีโอ 34 บาทเป็นสมมติฐานตามปัจจัยพื้นฐานของนักวิเคราะห์แนวโน้มผลประกอบการที่จะเติบโตตามแผนในอนาคต และนำไปเปรียบเทียบกับมูลค่าบริษัทผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเดียวกันที่เป็นรายใหญ่ของโลกที่เป็นบริษัทจดทะเบียนประเทศมาเลเซีย ดังนั้นเรามองว่าเป็นราคาไอพีโอที่เหมาะสม"นางสาวจริญญา กล่าว
สำหรับแผนการระดมทุนบริษัทเพื่อขยายกำลังการผลิตถุงมือยางในระยะยาว 12 ปี โดยในปี 2024 มีกำลังการผลิตเพิ่มเป็น 5 หมื่นล้านชิ้น ,ในปี 2028 เพิ่มเป็น 7 หมื่นล้านชิ้น และเพิ่มขึ้นเป็น 1 แสนล้านชิ้นภายในปี 2032 เบื้องต้นตามแผนขยายกำลังการผลิตดังกล่าวต้องใช้ลงทุนประมาณ 2 หมื่นล้านบาท
และนำเงินบางส่วนไปลงทุนในระบบ SAP เพื่อปรับเปลี่ยนระบบการทำงานและฐานข้อมูลของบริษัทเป็นหนึ่งเดียวกันรายงานข้อมูลแบบ Real Time ประกอบการในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาบริษัทขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 40% ทุกปีส่วนหนึ่งใช้เป็นเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน ซึ่งเงินส่วนที่เหลือจะนำไปชำระคืนเงินกู้ยืมด้วย ส่งผลให้หนี้สินต่อทุน (D/E) ลดลงมาต่ำกว่า 1 เท่าจากปัจจุบันอยู่ที่ 1 เท่ากว่า ช่วยเสริมสถานะทางการเงินบริษัทมีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น
นางสาวจริญญา กล่าวต่อว่า ปัจจุบันความต้องการใช้ถุงมือยางในตลาดโลกเติบโตเฉลี่ย 12% ต่อปียิ่งช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 ผลักดันแนวโน้มความต้องการสูงขึ้นกว่าในภาวะปกติ ซึ่งหากนำมาเปียบเทียบกับแผนขยายกำลังการบริษัทใน 12 ปีที่ระดับ 1 แสนล้านชิ้นจะพบว่ากำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเพียง 10% ต่อปีเท่านั้นดังนั้นมั่นใจว่าการผลิตเพิ่มขึ้นจะมีดีมานด์เข้ามาสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง
สำหรับแผนการตลาดบริษัทมุ่งเน้นประเทศกำลังพัฒนา เนื่องจากมีความต้องการถุงมือยางประเภทธรรมชาติมีมูลค่าสูงเป็นสินค้าหลักของบริษัท ขณะเดียวกันบริษัทมีความได้เปรียบจากกรณีเป็นผู้นำรายใหญ่ในตลาดประเทศดังกล่าว ตามสถิติพบว่ามีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 70-80% ต่อปีเนื่องจากฐานของผู้ใช้ต่อคนต่อปียังต่ำเฉลี่ย 4-10 ชิ้นเท่านั้นมองเป็นโอกาสสร้างการเติบโตอย่างมากระยะยาว
"ที่ผ่านมาเราขยายตลาดไปเยอะมากจากเดิม 90 ประเทศปัจจุบันมาเป็น 140 ประเทศ และมีเป้าหมายเข้าไปถึง 200 ประเทศพยายามเข้าไปเจาะทุกตลาดที่เราสามารถเข้าไปได้ถึง"นางสาวจริญญา กล่าว
ส่วนแนวโน้มผลประกอบการปีนี้มีโอกาสเติบโตโดดเด่นเป็นตามกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นโดยปีที่ผ่านบริษัทมียอดขายอยู่ที่ 2 หมื่นล้านชิ้น และ ณ สิ้นปีคาดอยู่ที่ 2.8 หมื่นล้านชิ้น นั้นเป็นสาเหตุให้รายได้ปีนี้อาจเติบโตประมาณ 40% เมื่อกับปีก่อน ส่วนปีถัดไปจะเติบโตตามกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นอย่างน้อยเติบโตเฉลี่ย 10% แต่ละปี
ขณะที่แนวทางการบริหารจัดการความเสี่ยงโดยด้านอัตราแลกเปลี่ยน แม้ว่าปีที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทแข็งกว่าค่าเงินประเทศมาเลเซีย แต่บริษัทมีประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนและมีการนำเข้าสินค้าเพื่อมาชดเชยผลกระทบความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเช่นกัน ส่วนความผันแปรของราคาวัตถุดิบนั้นเบื้องต้นบริษัทไม่ได้กังวลเพราะอุตสาหกรรมยายนต์หยุดชะงักไป แต่ยางพาราที่เป็นต้นน้ำและกลางน้ำยังล้นอยู่ในประเทศมากส่วนใหญ่จะนำไปแปรรูปเป็นยางแผ่นหรือยางแท่ง ดังนั้นหากมีดีมานด์ในตลาดถุงมือยางเพิ่มก็สามารถนำวัตถุดิบภายในประเทศมาแปรรูปเพื่อจำน่ายและส่งออกได้ในระยะยาว
https://youtu.be/ttUnq14UV9o