ผ่านเลนส์ "CEO JMART" กับหุ้นซ่อนมูลค่า ถอดรหัสโฮลดิ้ง 2 ปีไซด์ชน 5 หมื่นลบ.

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday July 1, 2020 13:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

หากเอ่ยถึงชื่อ "JMART" หรือ บมจ.เจ มาร์ท คงคุ้นเคยกับร้านค้าปลีกโทรศัพท์มือถือที่เปิดตามห้างสรรพสินค้าทั่วประเทศ แต่วันนี้ JMART ก้าวเข้าสู่การเป็น Holding Company เต็มตัว โดยมีบริษัทในเครือที่ให้บริการธุรกิจการเงินแบบเต็มรูปแบบ เป็นที่มาของคำถามว่าหุ้น JMART กำลังซ่อนมูลค่าและโอกาสเติบโตในอนาคตได้อย่างไร ??

*เนื้อแท้ JMART คือธุรกิจการเงินเต็มรูปแบบ

นายอดิศักดิ์ สุขุมวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร JMART เปิดเผยกับ "อินโฟเควสท์"ว่า ย้อนกลับไปเมื่อ 31 ปี ก่อนก้าวเข้าสู่ธุรกิจการเงิน JMART มาจากการนำรูปแบบธุรกิจ (Business model) การเช่าซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าของ บมจ.ซิงเกอร์ประเทศไทย (SINGER) หรือราชาเงินผ่อนที่ติดหูคนไทยมาอย่างยาวนานมาเป็นต้นแบบของธุรกิจการขายเครื่องใช้ไฟฟ้าเงินผ่อน เป็นสิ่งสะท้อนว่าจุดเริ่มต้นธุรกิจ JMART เนื้อแท้จริงๆ คือธุรกิจการเงิน

สำหรับจุดเปลี่ยนสำคัญคือมีคู่แข่งต่างชาติเข้ามาในตลาดมีความได้เปรียบต้นทุนดอกเบี้ยต่ำ ช่วงเวลานั้นจึงปรับกลยุทธ์แต่ยังคงรูปแบบธุรกิจเงินผ่อนเช่นเดิม เริ่มจากเปลี่ยนขายเครื่องใช้ไฟฟ้ามาเป็นโทรศัพท์มือถือ ทำให้บริษัทเริ่มมองเห็นโอกาสหลังจากนั้นเริ่มขยายสาขามากขึ้น ส่งผลให้สร้างยอดขายเติบโตแบบก้าวกระโดด

"ช่วงที่มีคู่แข่งต่างชาติเข้ามาธุรกิจเงินผ่อนอยู่ในช่วง Slow Down บริษัทตัดสินใจเข้าไปทำธุรกิจจัดเก็บหนี้มีรายได้จากส่วนต่างค่าธรรมเนียมเท่านั้น โดยเดือนแรกมีรายได้ค่าธรรมเนียมจากการเก็บหนี้กว่า 3 หมื่นบาทจากก้อนหนี้แรกทั้งมหดที่นำมาบริหารมีจำนวนทั้งสิ้น 6 แสนบาท ต่อจากนั้นเริ่มขยายเข้าไปเก็บหนี้ให้กับธนาคารพาณิชย์ต่างๆเป็นที่มาของ JMT (บมจ. เจเอ็มที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส) ผู้ดำเนินธุรกิจติดตามหนี้ที่ปัจจุบันเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯมีมูลค่าบริษัทกว่า 2 หมื่นล้านบาท และมีมูลค่าหนี้ที่บริหารในพอร์ตมูลค่าเกือบ 2 แสนล้านบาท" นายอดิศักดิ์ กล่าว

*อาวุธเต็มคลังแสงรวบ License ธุรกิจการเงินครบวงจร-ร่วมทุนบิ๊กแบงก์เกาหลีปลดล็อกอัพไซด์

นายอดิศักดิ์ กล่าวต่อว่า ตลอดการเดินทางมา 31 ปีตั้งแต่ธุรกิจขายเครื่องใช้ไฟฟ้าเงินผ่อน มาถึงวันนี้ JMART มีใบอนุญาตให้บริการทางการเงินครบวงจรผ่านบริษัทลูกภายใต้การบริหาร นอกเหนือจาก JMT ที่เป็นบริษัทติดตามเก็บหนี้แล้ว ในช่วงปี 58 บริษัทตัดสินใจเข้าซื้อ SINGER ดีลดังกล่าวจบอย่างรวดเร็วเพียง 1 สัปดาห์เท่านั้นเพราะเป็นความตั้งใจของตัวเองผ่านความคิด "ผมต้องได้บริษัทนี้" และภายในปีเดียวกันเริ่มก่อตั้งบริษัท JMT Plus เพื่อทำธุรกิจปล่อยสินเชื่อ ก่อนจะเปลี่ยนเป็นชื่อ J Fintech ที่ปัจจุบันให้บริการสินเชื่อบุคคลเต็มรูปแบบ

นอกจากนั้น สิ่งสำคัญในอนาคต คือ เทคโนโลยี เป็นที่มาการจัดตั้ง บริษัท เจ เวนเจอร์ส จำกัด (JVC) เพื่อทรานส์ฟอร์มระบบดิจิทัลให้กับกลุ่มบริษัทในเครือมุ่งเน้นด้านพัฒนาแพลตฟอร์มด้านการปล่อยสินเชื่อของ J Fintech และ SINGER ให้เกิดประสิทธิภาพและมีความปลอดภัยสูงสุดเป็นที่มาของการระดมทุนผ่านรูปแบบ ICO เจ้าแรกของเมืองไทบ

นายอดิศักดิ์ กล่าวอีกว่า ล่าสุด KB Kookmin Card Co., Ltd ผู้ให้บริการบัตรเครดิตการ์ดและสินเชื่อส่วนบุคคลรายใหญ่ของเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นเครือของธนาคารที่มีขนาดใหญ่อันดับ 60 ของโลก เข้ามาสนใจร่วมลงทุนใน J Fintech เพื่อร่วมกันดำเนินธุรกิจของทั้งสองฝ่ายให้เติบโตมากขึ้น เบื้องต้นจะส่งผลดีให้กลุ่ม JMART ยกระดับพัฒนาเทคโนโลยีไปสู่ระดับ World Class เพื่อให้บริการลูกค้าในไทย และมีต้นทุนทางการเงินที่ต่ำ บวกกับการ Synergy กลยุทธ์ทางธุรกิจในด้านต่างๆ ผ่านทุกบริษัทในเครือ จึงเชื่อมั่นว่าจะสามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการรายอื่นๆ ในอุตสาหกรรมเดียวกันได้อย่างแน่นอน

*ดันมูลค่า JMART แตะ 5 หมื่นลบ.เข็นบริษัทลูกเข้าจดทะเบียนอีกเพียบ

นายอดิศักดิ์ กล่าวว่า แผน 2 ปีข้างหน้า หรือภายในปี 65 มีเป้าหมายผลักดันมูลค่าของ JMART หรือเพิ่มขนาดมาร์เก็ตแคปเป็น 5 หมื่นล้านบาทจากปัจจุบันที่มีมูลค่าประมาณ 1 หมื่นล้านบาท เพราะเชื่อว่าด้วยโครงสร้างพื้นฐานแต่ละธุรกิจสร้างขึ้นตลอดช่วงที่ผ่านมา ช่วยให้บริษัทเติบโตได้อย่างชัดเจน และยิ่งได้พันธมิตรที่เป็นธนาคารขนาดใหญ่ระดับโลกจากเกาหลีใต้เข้ามาเสริมด้านเงินทุนและเทคโนโลยีจะช่วยให้กลุ่มบริษัทเติบโตได้อย่างรวดเร็วขึ้น

แม้ในมุมมองนักลงทุนจะประเมินว่าหุ้นที่เป็นลักษณะ Holding Company จะไม่ค่อยโดดเด่นมากนัก แต่ด้วยความตั้งใจอยากเปลี่ยนความคิดของทุกคนด้วยความเชื่อมั่นในการเติบโตของแต่ละธุรกิจของ JMART ที่มีการกระจายในหลากหลายกลายเป็น Synergy ร่วมกันจะเกิดเป็นพลังรูปแบบใหม่ที่ผู้ประกอบการรายอื่นไม่มี

นายอดิศักดิ์ กล่าวอีกว่า แนวโน้มการเติบโตของบริษัทในเครือเริ่มจาก JMT ผลประกอบการปีนี้มีโอกาสเติบโตทุบสถิติสูงสุดใหม่ต่อเนื่อง หลังจากที่ตลอด 5 ปีที่ผ่านมามีอัตราการเติบโตอย่างน้อยปีละไม่ต่ำกว่า 30% ส่วน SINGER คาดว่าในครึ่งปีหลังจะเห็นการเติบโตโดดเด่นอย่างมาก และมีโอกาสที่ผลประกอบการทั้งปีนี้จะทำลายสถิติสูงสุดในรอบ 20 ปีได้เช่นกัน

นอกจากนั้น การเข้ามาของพันธมิตรธนาคารเกาหลีใต้ KB Kookmin Card ที่จะเข้าร่วมทุนใน J Fintech หากสำเร็จและมีการรีไฟแนนซ์ J Fintech จะสามารถคืนเงินกู้ยืมให้กับ JMART วงเงินราว 3 พันล้านบาท ซึ่งจะส่งผลให้ JMART บันทึกกำไรพิเศษในส่วนนี้เข้ามาด้วย

ขณะที่ธุรกิจร้านค้าปลีกมือถือภายใต้ บริษัท เจมาร์ท โมบาย (J Mobile) มีผลต่อกำไรโดยรวมของ JMART ประมาณ 10% ในอนาคตธุรกิจของ SINGER และ J Fintech จะเป็นธุรกิจหลักที่คอยขับเคลื่อนรายได้และกำไรให้กับกลุ่มบริษัทฯมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

"ธุรกิจการจำหน่ายโทรศัพท์มือถือภายใต้ J Mobile บริษัทฯยังคงมุ่งเน้นในเรื่องของความพึงพอใจของลูกค้า และความมีมาตรฐานของสินค้า ซึ่งในอนาคตจะถือเป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่จะทำให้ภาพ Ecosystem ของกลุ่มบริษัทฯแข็งแรงสามารถแข่งขันกับคู่แข่งได้ในทุกมิติ ขณะเดียวกัน บมจ.เจ เอ เอส แอสเซ็ท (J) ก็เป็นธุรกิจที่มีรายได้เข้ามาในระยะยาว คาดว่าอีก 3 ปีข้างหน้าจะเห็นภาพชัดเจนมากขึ้น"นายอดิศักดิ์ กล่าว

เมื่อประสบความสำเร็จจากการจับมือกับพันธมิตรเกาหลีใต้แล้ว กลุ่ม JMART มีแผนผลักดัน J Fintech เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯต่อไป นอกจากนั้น มีแผนนำบริษัทลูกอื่นเข้าตลาดฯเช่นกัน ประกอบด้วย บริษัท เอส จี แคปปิตอล จำกัด (SGC) ผู้ดำเนินธุรกิจให้เช่าซื้อสินค้า ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ SINGER ถือหุ้นในสัดส่วน 100%, บมจ.เจพี ประกันภัย บริษัทย่อยของ JMT ที่ถือหุ้นในสัดส่วน 55% เบื้องต้นคาดว่าจะเห็นความชัดเจนการนำบริษัทดังกล่าวเข้าตลาดหุ้นภายใน 2 ปีข้างหน้า

"การลงทุนในรูปแบบอื่นๆบริษัทเปิดโอกาสมองหาธุรกิจที่สร้างรายได้และกำไรเข้ามาอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างการเติบโตให้กับกลุ่มบริษัทฯมุ่งเน้นให้เกิด Synergy มีความแข็งแรงมากขึ้น อาจเป็นลักษณะการเลือกลงทุนธุรกิจสตาร์ทอัพที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีเพื่อตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงไปของยุคดิจิทัล"นายอดิศักดิ์ กล่าว

https://youtu.be/LORBYGiwIFE


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ