ภายในเดือน ส.ค.63 IIG เตรียมยกระดับองค์กรก้าวขึ้นเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายเติบโตระยะยาว เบื้องต้นเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน 25 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ 0.50 บาท คิดเป็น 25% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทภายหลังการเสนอขายหุ้นครั้งนี้
IIG ประกอบธุรกิจเป็นที่ปรึกษาด้านดิจิทัลและเทคโนโลยีให้แก่ภาคธุรกิจต่าง ๆ แบ่งเป็น 1.ให้คำปรึกษาและให้บริการออกแบบติดตั้งระบบบริหารจัดการความสัมพันธ์กับลูกค้า (CRM) และให้เช่าใช้ระบบซอฟท์แวร์ของ Salesforce 2.ให้คำปรึกษาและให้บริการออกแบบติดตั้งระบบวางแผนทรัพยากรองค์กร (ERP) และเป็นตัวแทนจำหน่ายระบบซอฟท์แวร์ Oracle 3.ให้คำปรึกษาด้านการวางแผนกลยุทธ์แบรนด์ (Brand Strategy) การสร้างและบริหารประสบการณ์ลูกค้า (Customer Experience Management) และการตลาดดิจิทัล (Digital Marketing) 4. ให้บริการจัดหาบุคลากรในส่วนงานสารสนเทศ เป็นต้น
*เจาะมูลค่า Enterprise Software ในไทย 4 หมื่นลบ.
นายสมชาย เมฆะสุวรรณโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร IIG กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"ว่า ปัจจุบันองค์กรชั้นนำในไทยทุกแห่งนิยมใช้ระบบ ERP และ CRM โดยกลุ่มลูกค้าหลักของบริษัทเป็นธุรกิจชั้นนำรายใหญ่ในไทย กระจายในหลายกลุ่มอุตสาหกรรม เช่น สถาบันการเงิน, ประกันภัย, อสังหาริมทรัพย์, ค้าปลีก เป็นต้น เป็นสิ่งสะท้อนว่าในอนาคตแนวโน้มการหันมาใช้ของกลุ่มบริษัทขนาดกลางจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
และภายใต้ยุค "Digital Economy" พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยหันมาใช้แพลตฟอร์มออนไลน์กันมากขึ้น ดังนั้น ภาคธุรกิจจะต้องเร่งปรับตัวเพื่อทันกับการเปลี่ยนแปลงและการแข่งขันบนโลกออนไลน์ เป็นที่มาว่านอกเหนือจากการให้บริการวางระบบ ERP และ CRM แล้วบริษัทยังมีธุรกิจที่ปรึกษาด้านการวางแผนกลยุทธ์แบรนด์ (Brand Strategy) การสร้างและบริหารประสบการณ์ลูกค้า (Customer Experience Management) และการตลาดดิจิทัล (Digital Marketing) ให้กับลูกค้าควบคู่ไปด้วย
โครงสร้างธุรกิจของ IIG เป็นแบบครบวงจร ตั้งแต่การให้บริการหน้าบ้านไปถึงหลังบ้าน โดยระบบ CRM เป็นการดูแลหน้าบ้านช่วยนำข้อมูลของลูกค้ามาวิเคราะห์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพผลักดันยอดขายบริษัทให้ได้สูงสุด และข้างหลังบ้านคือระบบ ERP เป็นลักษณะบริหารจัดการข้อมูลภายในองค์กรด้วยเทคโนโลยีที่มีความทันสมัย
นายสมชาย กล่าวต่อว่า เมื่อนำข้อมูลแนวโน้มตลาด "Enterprise Software" หรือซอฟท์แวร์สำหรับองค์กรในปี 63 คาดมีมูลค่ากว่า 4 หมื่นล้านบาท โดยในส่วนที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจของบริษัท ได้แก่ ตลาดระบบ CRM มีมูลค่าอย่างน้อย 1 หมื่นล้านบาท ขณะที่ตลาดของระบบ ERP มีมูลค่าอย่างน้อย 1 หมื่นล้านบาทเช่นเดียวกัน
"ผมคิดว่ามูลค่าตลาด Enterprise Software จะขยายตัวได้อีกมาก เพราะเมื่อสังเกตโมเดล Technology Adoption เป็นลักษณะของระฆังคว่ำ เป็นการอธิบายเรื่องการเปิดรับเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมของคนในสังคม หากเปรียบเทียบการใช้ระบบ ERP ในไทยถือว่าอยู่ในขั้น Majority stage ซึ่งบริษัทภาคธุรกิจนิยมใช้กันเป็นจำนวนมาก แต่เมื่อหากมาวิเคราะห์การใช้ระบบ CRM ในไทยยังอยู่ในขั้น Early Adopters หรือเรียกกันว่ากลุ่มคนหัวก้าวหน้ามองเห็นประโยชน์จากเทคโนโลยีหรือเทรนด์ต่างๆ ภาคธุรกิจยังใช้กันเป็นจำนวนไม่มาก"นายสมชาย กล่าว
*รายได้โตเฉลี่ย 20-30% ต่อปี รับผลบวกช่วงโควิด-19
นายสมชาย กล่าวว่า การเติบโตของรายได้บริษัท แบ่งเป็น รายได้จากการเป็นตัวแทนจำหน่าย License ระบบซอฟท์แวร์จากทาง Oracle ลักษณะโมเดลจะเป็น "Software as a Service" หรือ "SaaS" ให้บริการซอฟท์แวร์ผ่านอินเทอร์เน็ต คล้ายกับการเช่าใช้ เพียงแค่ผู้ซื้อจ่ายค่าซอฟท์แวร์ตามลักษณะการใช้งานที่ต้องการ เช่น ตามจำนวนผู้ใช้และตามระยะเวลาที่ต้องการใช้ ซึ่งเป็นส่วนช่วยให้บริษัทรับรู้รายได้ในลักษณะรายได้ประจำ (Recurring Income)
ขณะที่รายได้จากงานบริการ เป็นลักษณะรับรู้รายได้ตั้งแต่เข้าไปเริ่มต้นออกแบบพัฒนาระบบ แม้ว่าจะเป็นการรับรู้รายได้เพียงครั้งเดียว แต่เมื่อระบบดังกล่าวช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและสนับสนุนรายได้ให้กับลูกค้าประสบความสำเร็จ เป็นที่มาว่าลูกค้าส่วนใหญ่ก็จะให้บริษัทขยายระบบอื่น ๆ เพิ่มเติมต่อเนื่อง
"ปัจจุบันซอฟท์แวร์ CRM เป็นลักษณะโมเดล "Software as a Service" เป็นธุรกิจสร้างรายได้ประจำคิดเป็นสัดส่วน 60% ของรายได้ทั้งหมด ลูกค้ารายแรกของบริษัทเมื่อ 20 ปีที่แล้ววันนี้ก็ยังใช้บริการกับผมอยู่เลย เมื่อเข้าไปวิเคราะห์โครงสร้างรายได้บริษัทจะพบว่ารายได้ส่วนใหญ่เกิดจากฐานลูกค้าเดิมที่มีความไว้ใจให้บริษัทขยายงานวางระบบต่างๆ เพิ่มเติม เป็นสิ่งสะท้อนว่าบริการของบริษัทได้รับความน่าเชื่อถือกับลูกค้าระยะยาว ยกตัวอย่าง กรณีเมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยนหรือการแข่งขันเปลี่ยน การอัพเกรดระบบก็จำเป็นต้องพัฒนาตามไปด้วย"
แม้ว่าปี 62 บริษัทมีรายได้รวมกว่า 390 ล้านบาท โดยมีเงื่อนไขเข้าไปควบรวมบริษัทลูกแล้วเสร็จในเดือน มี.ค.62 นั่นแปลว่าปีที่แล้วบริษัทบันทึกรายได้บริษัทลูกเข้ามาเพียงแค่ 3 ไตรมาสเท่านั้น ทำให้ผลประกอบการในปี 63 จะรับรู้รายได้ของบริษัทลูกเข้ามาเต็มปี จึงมีโอกาสเห็นผลประกอบการบริษัทเติบโตชัดเจน ขณะที่ภาพรวมรายได้ช่วงที่ผ่านมาเติบโตเฉลี่ย 20-30% ต่อปีและเชื่อว่าแนวโน้มหลังจากนี้ยังสามารถรักษาระดับการเติบโตเช่นนี้อย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในไตรมาส 2/63 จะเกิดผลกระทบวิกฤติโควิด-19 แต่บริษัทมีงานใหม่ๆ เข้ามามากขึ้น โดยในปี 62 บริษัทมีจำนวนพนักงาน 150 คน แต่ปัจจุบันเพิ่มจำนวนขึ้นเป็น 230 คน บริษัทรับพนักงานเพิ่มเข้ามาตลอดเพื่อเตรียมตัวรองรับกับการเติบโตที่กำลังจะเกิดขึ้นอย่างชัดเจนหลังจากที่บริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯแล้ว
"ภาพรวมศักยภาพทำกำไรในระยะยาวบริษัทมีโอกาสเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แบ่งเป็นอัตรากำไรขั้นต้นในส่วนธุรกิจซอฟท์แวร์จะเฉลี่ยอยู่ที่ 12-17% ส่วนธุรกิจให้บริการจะมีอัตรากำไรขั้นต้นสูงกว่าจะเฉลี่ยอยู่ที่ 40% ตลอดระยะเวลาหลายปีบริษัทมุ่งเน้นแนวทางบริหารต้นทุนที่ส่วนใหญ่เป็นค่าใช้กับพนักงานเป็นหลัก"
*เชื่อมั่นพื้นฐานดีลุยเข้า mai เมินตลาดผันผวน
นายสมชาย กล่าวว่า แม้ว่าหลายคนจะมองว่าขณะนี้ตลาดหุ้นไทยมีความผันผวน แต่ส่วนตัวมีความเชื่อมั่นอย่างมากต่อการเติบโตธุรกิจระยะยาว โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดโควิด-19 ก็พิสูจน์ว่าธุรกิจของบริษัทอยู่ในแนวโน้มของการเติบโตอย่างแท้จริง เพราะธุรกิจแต่ละองค์กรต้องปรับตัวครั้งใหญ่เพื่อรับมือกับยุค New Normal ดังนั้น มีทางเลือกเดียวคือต้องลงทุนกับเทคโนโลยีทันที
"สิ่งแรกที่ผมอยากให้นักลงทุนเห็นคุณค่าในหุ้น IIG คือการพิสูจน์ความเป็น Growth Stock เพราะย้อนหลังหลายปีผลประกอบการบริษัทเติบโตเฉลี่ย 20-30% และในอนาคตยังมีความมั่นใจว่าจะสามารถรักษาระดับการเติบโตได้เช่นเดิม เป็นหุ้นปันผลตามนโยบายจ่ายเงินปันผลไม่น้อยกว่า 50% ของกำไรสุทธิแต่ละปี
และด้วยโมเดลธุรกิจที่ไม่ต้องแบกภาระค่าเสื่อมจากการลงทุนทำให้มีความสามารถทำกำไรที่ดีตอบแทนให้กับผู้ถือหุ้นได้ในระยะยาว แม้ว่าจำนวนหุ้นที่นำมาขายไอพีโออาจมีจำนวนไม่มาก แต่บริษัทมีอัตราทำกำไรดี ซึ่งเชื่อว่านักลงทุนจะให้การตอบรับเป็นอย่างดีกับการเข้าตลาดหุ้นของบริษัทฯในครั้งนี้"
สำหรับแผนการระดมทุนครั้งนี้ส่วนหนึ่งจะนำเงินไปใช้รองรับกับพนักงานเพิ่มขึ้น, สร้างศูนย์พัฒนาซอฟท์แวร์ (Development Center) เพื่อพัฒนาพนักงานมีความเชี่ยวชาญกับเทคโนโลยีที่มีความทันสมัยระดับโลก และสร้าง Innovation Lab เพื่อ R&D ผลิตซอฟท์แวร์เป็นของตัวเอง รองรับการเติบโตเพื่อขยายเข้าสู่ธุรกิจใหม่ที่มีความเกี่ยวเนื่องสร้างความเป็นเลิศก้าวชั้นเป็นบริษัทที่ปรึกษาและพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลในประเทศไทยช่วยให้องค์กรลูกค้าสามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคดิจิทัลและเติบโตได้อย่างแท้จริง
https://youtu.be/18sQnVrbhR0