"ความสุขทุกสิ่งเป็นจริงที่ SINGER" สโลแกนฮิตติดหูคนไทยมานานหลายทศวรรษ แม้แบรนด์ SINGER จะมีอายุเข้าสู่ 131 ปี แต่ผลจากการปรับโครงสร้างโมเดลธุรกิจในมิติต่างๆ ส่งผลให้วันนี้ บมจ.ซิงเกอร์ประเทศไทย (SINGER) สามารถยืนหยัดเป็นบริษัทชั้นนำในไทยได้อย่างเนื่อง และเมื่อย้อนดูราคาหุ้น SINGER เกิดสัญญาณบวกขึ้นทะลุกว่า 200% แค่ระยะเวลาเพียง 3-4 เดือนเท่านั้น
เป็นที่มาของคำถามว่าปัจจุบันธุรกิจของ SINGER ภายหลังปรับโครงสร้างนับตั้งแต่กลุ่มบมจ.เจ มาร์ท (JMART) เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในช่วงปี 58 จะเป็นชนวนจุดระเบิดให้กับผลประกอบการและราคาหุ้นของ SINGER ในรอบนี้ (ของ) จริงหรือไม่ ??
*ยกเครื่องเทคโนโลยีทันสมัย
นายกิตติพงศ์ กนกวิไลรัตน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ซิงเกอร์ประเทศไทย (SINGER) เปิดเผยกับ"อินโฟเควสท์"ว่า ภายหลัง"กลุ่มเจมาร์ท" เข้ามาปรับโครงสร้างครั้งใหญ่เมื่อปี 58 ก็ได้ปรับเปลี่ยนระบบหลังบ้านใหม่ทั้งหมดยกระดับความทันสมัยด้านเทคโนโลยี เช่น ระบบ ERP,POS ระบบบริหารจัดการลูกหนี้ เป็นต้น รวมถึงการนำส่งข้อมูลผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์รูปแบบต่างๆ ช่วยเพิ่มศักยภาพการบริหารจัดการคุณภาพหนี้และยืนยันตัวตนของลูกค้าได้เป็นอย่างดี
"แกนหลักของ SINGER วันนี้เป็นระบบเทคโนโลยีที่ทันสมัยจริงๆ ทำให้ยกระดับการปฏิบัติงานในรูปแบบต่างๆได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วงเวลาที่ปรับโครงสร้างเปรียบเหมือนการย้ายต้นไม้ใหญ่ เราต้องตัดส่วนที่ไม่จำเป็นทิ้งไป เพื่อเก็บแกนหลักของบริษัทเอาไว้ ส่วนสถานที่ใหม่ที่จะนำต้นไม้ไปปลูกเราก็เตรียมเอาไว้หมดแล้ว"
นายกิตติพงศ์ ยกตัวอย่างโครงสร้างธุรกิจ SINGER ว่าสมัยในอดีตบริษัทมีรายได้เพียง "ขาเดียว นั้นคือธุรกิจเงินผ่อนเครื่องใช้ไฟฟ้าเป็นที่มาของฉายา "ราชาเงินผ่อน" โดยอายุการผ่อนแต่ละสินค้าปกติเฉลี่ยอายุยาวที่สุดคือ 24 เดือน หรือ 2 ปี เป็นสิ่งที่ทำให้งบการเงินของ SINGER ในอดีตไม่ได้มีความหวือหวา เพราะกรณีที่บริษัทไม่สามารถหาลูกค้าใหม่มาชดเชยกับบัญชีที่ผ่อนหมดแล้ว ส่งผลให้รายได้จากดอกเบี้ยก็จะไม่เติบโต หรืออาจจะลดลงในบางช่วงเวลาด้วยซ้ำ ถ้าพูดง่ายๆก็คือต้นทุนคงที่แต่รายได้ลดลงนั่นเอง
*ชูสินเชื่อรถทำเงิน ปิดช่องโหว่กำไรโตไม่เสถียร
นายกิตติพงศ์ กล่าวต่อว่า การปรับโครงสร้าง SINGER ครั้งนี้ได้นำผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่เข้ามาช่วยเสริมความแข็งแกร่งนั้นคือสินเชื่อ "รถทำเงิน" เป็นสินเชื่อที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันจำนำทะเบียนรถ มีรายได้จากอัตราดอกเบี้ยสูงมีความเสี่ยงต่ำต่อการก่อเกิดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPLs ในอนาคต ทั้งนี้ บริษัทมีเป้าขยายพอร์ตสินเชื่อรถทำเงินภายในปีนี้เพิ่มเป็น 3.6 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นเท่าตัวเมื่อเทียบกับ ณ สิ้นปี 62 อยู่ที่ 1.5 พันล้านบาท
กลยุทธ์ที่ใช้เข้าไปแข่งขันกับผู้เล่นรายใหญ่ในตลาดนั้น นายกิตติพงศ์ ยอมรับว่า ในช่วงแรกที่เริ่มทำสินเชื่อรถทำเงินเคยตั้งคำถามว่าจะแข่งขันกับรายใหญ่ในอุตสาหกรรมได้จริงหรือไม่ แต่ด้วยความเป็นแบรนด์ SINGER เป็นที่รู้จักมีตัวแทนจำหน่ายสินค้าทั่วประเทศหลายพันคน แม้ว่าจะแข่งขันเรื่องจำนวนสาขาไม่ได้ แต่เป็นที่มาของกลยุทธ์เข้าไปขยายกลุ่มลูกค้าเฉพาะที่เป็น "Niche Market" ในต่างจังหวัดโดยเน้นรถทำเงินเป็นประเภทรถเพื่อการเกษตร หรือรถใช้ขนส่งในกิจการ ไม่ใช่แค่ประเภทรถยนต์ทั่วไป
ดังนั้น ทีมใหม่ที่เข้ามาขยายตลาดจึงมีต้นทุนไม่สูงนัก เป็นการสื่อสารรูปแบบเดินเข้าไปหากลุ่มเป้าหมายเพื่อให้บริการสินเชื่อรถทำเงิน และที่ผ่านมาได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีสะท้อนจากพอร์ตสินเชื่อเติบโตแบบก้าวกระโดด และความเสี่ยงที่จะเกิดเป็นหนี้ NPLs ค่อนข้างน้อย เพราะกลุ่มลูกค้านำสินเชื่อไปขยายธุรกิจต่อ ทำให้มีรายได้มาผ่อนชำระให้กับบริษัทได้ต่อเนื่อง
นอกจากนั้น แม้ว่าบริษัทต้องใช้มาตรฐานบัญชีใหม่ TFRS9 ที่ต้องตั้งสำรองเพิ่มขึ้น แต่ด้วยแนวทางบริหารจัดการควบคุม NPLs ตั้งเป้าว่าต้องลดลงมาอยู่ในกรอบ 6-7% เป็นสิ่งสะท้อนว่าคุณภาพของลูกหนี้ดีขึ้น เป็นผลให้บริษัทต้องสำรองลดลง ดังนั้น การนำ TFRS9 เข้ามาใช้ช่วงที่ปรับโครงสร้างกลับกลายเป็นผลกระทบด้านบวกเสริมความแข็งแกร่งทันที
"ในช่วงปี 60-62 บริษัทมีการเพิ่มทุนและระดมทุนรูปแบบต่างๆเพื่อมาขยายโปรเจ็คท์สินเชื่อรถทำเงิน แต่วันนี้เราก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าพอร์ตสินเชื่อรถทำเงินเติบโตได้ดีระดับหนึ่ง ณ สิ้นปี62 อยู่ที่ 1,500 ล้านบาท และล่าสุดเพิ่มขึ้นมาแตะ 2 พันล้านบาทแล้ว ช่วยเพิ่มความสมดุลพอร์ตสินเชื่อทั้งหมดเพราะสินเชื่อรถทำเงินมีระยะเวลาผ่อนนานขึ้นเป็น 4 ปี สะท้อนว่าโครงสร้างธุรกิจ SINGER มีท่อรายได้เข้ามาเพิ่มเป็น 2 ทาง ส่งผลให้ส่วนต่างกำไรที่ได้รับจากดอกเบี้ยเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง"
*เป้าปี 65 พอร์ตสินเชื่อรวมชน 1 หมื่นลบ.หวังกำไรโตทะลุไฮเดิม
นายกิตติพงศ์ ประเมินเป้าหมายภายในปี 65 พอร์ตสินเชื่อรวมของ SINGER จะเพิ่มขึ้นเป็น 1 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น สินเชื่อรถทำเงินจะมีมูลค่า 7-8 พันล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนกว่า 70% และที่เหลือ 2-3 พันล้านบาทเป็นสินเชื่อเงินผ่อนเครื่องใช้ไฟฟ้า พร้อมกับวางเป้าหมายสำคัญการขยายสาขาและตัวแทนขายของ SINGER เข้าไปในทุกอำเภอครอบคลุมทั่วประเทศไทย
"เชื่อมั่นว่าสินเชื่อรถทำเงินจะขยายได้เป็นเท่าตัวในอีก 2 ปีข้างหน้า เพราะมูลค่าตลาดใหญ่มากเป็นแสนล้านบาท รถยนต์เป็นล้านคัน"นายกิตติพงศ์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่อยากให้นักลงทุนติดตาม คือ ผลประกอบการเพียงแค่ในไตรมาส 1/63 ไตรมาสเดียว บริษัทมีกำไรสุทธิแล้วกว่า 86 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 50% ของกำไรสุทธิที่ทำได้ตลอดทั้งปี 62 ที่กว่า 160 ล้านบาท ซึ่งในมุมมองฝ่ายบริหารมีความเชื่อมั่นว่าผลประกอบการปีนี้จะสามารถเติบโตได้มากกว่าปีที่แล้วได้อย่างรวดเร็ว
และเมื่อย้อนหลังไปช่วงปี 39 พอร์ตสินเชื่อรวมของ SINGER อยู่ที่กว่า 8 พันกว่าล้านบาท มีกำไรสุทธิกว่า 600 ล้านบาท ช่วงนั้นมีธุรกิจแค่เพียงขาเดียว แต่วันนี้ SINGER มีธุรกิจ 2 ขาแล้ว ขณะที่ในอีก 2 ปีข้างหน้าพอร์ตสินเชื่อรวม 1 หมื่นล้านบาท คงต้องมาติดตามว่าบริษัทมีกำไรเติบโตได้แค่ไหน
"กำไรปีนี้จะโตแค่ไหนคงบอกไม่ได้ แต่สิ่งที่อยากเห็นก็คือกำไรปีนี้ต้องก้าวข้ามผ่านผลประกอบการปี 56 ที่บริษัทเคยมีกำไรกว่า 300 ล้านบาท เรามีเป้าหมายแรกก่อนว่าภายในปีนี้ต้องข้ามผ่านตรงนี้ไปให้ได้"นายกิตติพงศ์ กล่าว
*จ่อขึ้นชั้น"โฮลดิ้ง"ทยอยดัน 3 บริษัทลูกเข้าตลาดหุ้นตั้งแต่ปลายปี 64
นายกิตติพงศ์ กล่าวต่อว่า ในอนาคต SINGER อาจต้องก้าวสู่การเป็น "โฮลดิ้ง คอมพานี" เพราะอยู่ระหว่างเตรียมแผนนำบริษัทลูก 3 บริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ คือ บริษัท เอสจี แคปปิตอล จำกัด (SGC) เป็นบริษัทที่ให้บริการปล่อยสินเชื่อของกลุ่ม SINGER ทั้งหมด เบื้องต้นประเมินว่า ณ สิ้นปีนี้พอร์ตสินเชื่อรวมจะเพิ่มขึ้นเป็น 5.6 พันล้านบาท คาดว่ามีความชัดเจนการนำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯช่วงปลายปี 64 หรืออย่างช้าเป็นต้นปี 65
บริษัทที่สอง บริษัท เอสจี โบรคเกอร์ จำกัด (SGB) เป็นผู้ให้บริการประกันชีวิตและวินาศภัย และ บริษัทที่สามคือ บริษัท เอสจี เซอร์วิสพลัส จำกัด (SGS) เป็นผู้ดูแลหลังบ้านให้กับบริษัทแม่ เช่น งานซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น สามารถเชื่อมโยงเครือข่ายกับช่างทั่วประเทศในอนาคตอาจนำสตาร์ทอัพที่เป็นลักษณะการพัฒนาแพลตฟอร์มด้านเซอร์วิสเป็นหลักที่เป็นส่วนช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับแบรนด์สินค้าของ SINGER ต่อไป
https://youtu.be/_tKdLdtEbTI