บอร์ด AOT ยืดเวลา "คิงเพาเวอร์" เข้าประกอบกิจการดิวตี้ฟรีใน 4 สนามบินจากผลกระทบโควิด

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday July 30, 2020 09:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) หรือทอท. แจ้งว่าที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทมีมติให้ขยายระยะเวลาการปรับปรุงตกแต่งพื้นที่ และเลื่อนระยะเวลาการเริ่มต้นและสิ้นสุดของการอนุญาตประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) และสิทธิประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร ณ ท่าอากาศยานภูเก็ต (ทภก.) ท่าอากาศยานเชียงใหม่ (ทชม.) และท่าอากาศยานหาดใหญ่ (ทหญ.) ให้กับบริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด (KPD) และการอนุญาตให้ประกอบกิจการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ ภายในอาคารผู้โดยสาร ทสภ. ให้กับบริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด (KPS) ซึ่งเป็นผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19

สำหรับการเลื่อนระยะเวลาดังกล่าว เป็นดังนี้ ขยายระยะเวลาของขั้นตอนการดำเนินการปรับปรุงก่อสร้างตกแต่งพื้นที่ประกอบกิจการที่กำหนดไว้เดิมในระยะที่ 1 ออกไปอีก 1 ปี เป็นตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 2563 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2565 , เลื่อนระยะเวลาการเริ่มต้น และสิ้นสุดการประกอบกิจการที่กำหนดไว้เดิมในระยะที่ 2 เป็นตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2565 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2575

ทั้งนี้ หาก ทอท. เปิดให้บริการอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 ทสภ. ซึ่งเป็นพื้นที่ประกอบกิจการส่วนหนึ่งของ KPD และ KPS อย่างเป็นทางการเมื่อใด KPD และ KPS จะต้องจัดให้มีร้านค้าเปิดให้บริการแก่ผู้โดยสารภายในอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 อย่างเหมาะสม โดยไม่ส่งผลกระทบกับการให้บริการในภาพรวมของ ทสภ.

ทอท. สงวนสิทธิ์ในการเปลี่ยนแปลงการขยายระยะเวลาการปรับปรุงตกแต่งพื้นที่และเลื่อนระยะเวลาการประกอบกิจการฯ ดังกล่าวให้สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และพื้นที่การเปิดให้บริการของแต่ละท่าอากาศยาน พร้อมทั้งให้ฝ่ายบริหาร ทอท. แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อเจรจาเงื่อนไขในการขยาย และเลื่อนระยะเวลาให้กับ KPD และ KPS ต่อไป

คณะกรรมการทอท. อนุมัติให้เรียกเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำต่อผู้โดยสาร (Sharing Per Head) และจำนวนผู้โดยสารที่เกิดขึ้นจริง ดังนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2565 จนถึงปีที่จำนวนผู้โดยสารจริงของ ทอท. มีจำนวนเท่ากับหรือมากกว่าจำนวนผู้โดยสารตามประมาณการของ KPD หรือ KPS แล้วแต่กรณี ในปี 2564 ที่อ้างอิงจากเอกสารการประมูล ให้นำค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำที่บริษัท ใช้ยื่นข้อเสนอในปีแรก (ปี 2564) หารด้วยจำนวนผู้โดยสารตามประมาณการของบริษัท ในปี 2564 เพื่อคำนวณหา Sharing Per Head และนำมูลค่าที่ได้มาคูณกับจำนวนผู้โดยสารจริงของ ทอท. ในปีนั้นๆ เพื่อกำหนดเป็นค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำในปีนั้นๆ ตามสูตรการคิดคำนวณ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ