PTTEP ลดเป้าปริมาณขายปีนี้อีกรอบเหลือ 3.55 แสนบาร์เรล/วันจากผลโควิดฉุด Q2/63 หดตัว

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday July 30, 2020 13:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) คาดการณ์ปริมาณการขายเฉลี่ยของไตรมาส 3/63 และทั้งปี 63 จะอยู่ที่ประมาณ 340,000 และ 355,000 บาร์เรล/วัน ตามลำดับ ซึ่งลดลงจากปริมาณการขายเฉลี่ยปี 63 ที่คาดการณ์เดิมประมาณ 9% จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ความต้องการพลังงานลดลง ประกอบกับมีการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เพื่อใช้ในประเทศเพิ่มขึ้นจากการที่ราคา Spot LNG ปรับตัวลดลงเป็นอย่างมาก แต่อย่างไรก็ตาม ปริมาณการขายก๊าซธรรมชาติของบริษัทเป็นไปตามเงื่อนไขในสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติระยะยาวที่มีการกำหนดปริมาณขั้นต่ำในการรับก๊าซไว้ล่วงหน้าตามสัญญา (DCQ)

ขณะที่ผลการดำเนินงานในไตรมาส 2/63 มีกำไรสุทธิ 134 ล้านเหรียญสหรัฐ (เทียบเท่า 4,323 ล้านบาท) ลดลง 51% เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 1/63 และลดลง 69% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีปริมาณการขายเฉลี่ย 327,004 บาร์เรล/วัน ลดลงจากระดับ 363,411 บาร์เรล/วันในไตรมาส 1/63 และลดลงจาก 334,627 บาร์เรล/วันในช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยหลักจากโครงการบงกช และโครงการคอนแทร็ค 4 เนื่องจากผู้ซื้อรับก๊าซธรรมชาติในปริมาณที่ลดลง ขณะที่มีราคาขายเฉลี่ยอยู่ที่ 34.97 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ลดลง 22% จากไตรมาส 1/63 และลดลง 28% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

สำหรับกำไรไตรมาส 2/63 ที่ลดลง 69% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มาจากรายได้การขายที่ลดลง 478 ล้านเหรียญสหรัฐ จากราคาขายเฉลี่ยและปริมาณขายเฉลี่ยลดลง แม้ว่าค่าใช้จ่ายรวมลดลง ซึ่งส่วนใหญ่จากค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้ลดลง 158 ล้านเหรียญสหรัฐ จากรายได้จากการขายที่ลดลง รวมถึงค่าภาคหลวงลดลง 59 ล้านเหรียญสหรัฐ ตามรายได้จากการขายในประเทศที่ลดลง

กำไรจากรายการที่ไม่ใช่การดำเนินงานปกติสำหรับไตรมาส 2/63 จำนวน 6 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 38 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 2/62 ที่มีกำไร 44 ล้านเหรียญสหรัฐ สาเหตุหลักมาจากการรับรู้ขาดทุนจากเครื่องมือทางการเงินเพิ่มขึ้นจำนวน 70 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยหลักจากสัญญาประกันความเสี่ยงราคาน้ำมันและสัญญาซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยนล่วงหน้า รวมทั้งมีการรับรู้ขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์จำนวน 47 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนใหญ่จากโครงการมาเรียนา ออยล์ แซนด์

ขณะที่ค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้จากผลกระทบของอัตราแลกเปลี่ยนลดลงจำนวน 96 ล้านเหรียญสหรัฐ จากการกลับรายการภาระภาษีเงินได้จากผลกระทบของอัตราแลกเปลี่ยนที่เคยรับรู้ในไตรมาส 1/63 เนื่องจากการเปลี่ยนสกุลเงินในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลในไตรมาส 2/63 มากกว่าค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้ที่ลดลงจากผลกระทบของอัตราแลกเปลี่ยนจากเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น 1.07 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในไตรมาส 2/62

สำหรับงวด 6 เดือนแรกปีนี้ PTTEP มีกำไรสุทธิ 409 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 418 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 51% เมื่อเทียบกับผลการดำเนินงานสำหรับงวด 6 เดือนแรกสิ้นสุดเดือนมิถุนายน 2562 ที่มีกำไรสุทธิ 827 ล้านเหรียญสหรัฐ

ณ วันที่ 30 มิ.ย.63 PTTEP มีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด รวมทั้งเงินลงทุนระยะสั้นซึ่งเป็นเงินฝากประจำธนาคารที่มีอายุมากกว่า 3 เดือนแต่ไม่เกิน 12 เดือน จำนวน 3,090 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 67 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อเปรียบเทียบกับ ณ วันที่ 31 ธ.ค.62 ซึ่งมีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดรวมทั้งเงินลงทุนระยะสั้น จำนวน 3,023 ล้านเหรียญสหรัฐ และมีอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นประมาณ 0.33 เท่า

สำหรับระยะต่อไปผลการดำเนินงานของบริษัทขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ ปริมาณการขาย ราคาขายและต้นทุน ซึ่งบริษัทได้ติดตามและปรับเปลี่ยนแนวโน้มผลการดำเนินงานสำหรับปี 63 ให้สอดคล้องกับแผนการดำเนินงานและสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยประเมินภาพรวมตลาดน้ำมันในครึ่งหลังของปี 63 คาดว่าจะเป็นการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องจากจุดต่ำสุดของวิกฤติโควิด-19 ในเดือนเม.ย.และ พ.ค.แต่การฟื้นตัวจะไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก โดยคาดว่าราคาเฉลี่ยจะอยู่ระหว่าง 40-45 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล

ด้านสถานการณ์ LNG ในตลาดโลกยังคงอยู่ในสภาวะล้นตลาดในปีนี้ โดยกำลังการผลิตรวมจากโครงการเดิมและโครงการใหม่จะเพิ่มขึ้นประมาณ 27 ล้านตัน (คิดเป็น 7%) จากปี 62 ในขณะที่ความต้องการใช้ LNG ในการผลิตกระแสไฟฟ้า และในภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลงอย่างมากจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัวลง โดยคาดว่าภาวะล้นตลาดของ LNG จะเริ่มกลับเข้าสู่จุดสมดุลในปี 67

และสถานการณ์ที่ราคาอยู่ในระดับต่ำส่งผลให้ปี 63 มีการนำเข้า LNG เพื่อใช้ในประเทศเพิ่มขึ้น ประกอบกับความต้องการพลังงานที่ลดลง ทำให้มีการเรียกซื้อก๊าซธรรมชาติลดลง บริษัทได้รวมผลกระทบดังกล่าวในคาดการณ์ปริมาณการขายในปีนี้แล้ว โดยคาดว่าปริมาณการขายจะลดลงประมาณ 9% เมื่อเทียบกับประมาณการเดิมช่วงต้นปี

ทั้งนี้ ราคาก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์หลักของบริษัทนั้นมีโครงสร้างราคาส่วนหนึ่งผูกกับราคาน้ำมันย้อนหลังประมาณ 6-24 เดือน บริษัทคาดว่าราคาก๊าซธรรมชาติเฉลี่ยของไตรมาส 3/63 และทั้งปี 63 จะอยู่ที่ประมาณ 6.1 และ 6.0 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู ตามลำดับ เป็นผลจากการปรับตัวของราคาน้ำมันในตลาดโลก ขณะที่การประกันความเสี่ยงราคาน้ำมัน ณ สิ้นไตรมาส 2/63 มีปริมาณน้ำมันภายใต้สัญญาประกันความเสี่ยงที่ยังไม่ครบกำหนดอยู่ที่ประมาณ 6 ล้านบาร์เรล ทั้งนี้ บริษัทมีความยืดหยุ่นในการปรับแผนการประกันความเสี่ยงราคาน้ำมันตามความเหมาะสม

สำหรับไตรมาส 3/63 และทั้งปี 63 บริษัทคาดว่าจะสามารถรักษาต้นทุนต่อหน่วยได้ที่ประมาณ 30 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ซึ่งสอดคล้องกับแผนการดำเนินงานตามสถานการณ์ปัจจุบัน

PTTEP ได้กำหนดกรอบแนวคิดด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนเป็นหลักการในการดำเนินงานร่วมกันขององค์กร อันประกอบไปด้วย 3 องค์ประกอบหลัก ได้แก่ การมุ่งสู่องค์กรแห่งความเป็นเลิศ (HPO) , การกำกับดูแลกิจการที่ดี การบริหารความเสี่ยง และการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ (GRC) และการสร้างคุณค่าในระยะยาวให้แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (SVC)

ทั้งนี้ ในส่วนของการมุ่งสู่องค์กรแห่งความเป็นเลิศ ยังคงพร้อมเดินหน้าแผนงานปี 63 โดยเน้นการดำเนินงานตามกลยุทธ์หลัก EXECUTE และต่อยอดการ EXPAND ท่ามกลางความท้าทายที่หลากหลาย ได้แก่ 1.เสริมความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจหลัก โดยพิจารณาปรับแผนพัฒนาและแผนการผลิตให้เหมาะสมด้วยต้นทุนที่แข่งขันได้ โดยบริษัทได้กำหนดเป้าหมายในการลดต้นทุนต่อหน่วย (Unit Cost) อย่างต่อเนื่อง ให้อยู่ในระดับ Top quartile ของกลุ่มอุตสาหกรรม (ที่ระดับประมาณ 25 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล) ในขณะที่ยังคงสามารถรักษาอัตราการเติบโตของการผลิตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) ที่ 5% ภายในปี 73 โดยการทบทวนแผนงานและพิจารณาปรับลดงบประมาณลงทุนสำหรับปี 63 และปีถัด ๆ ไป โดยเน้นการเพิ่มมูลค่าของโครงการทั้งหมด

2. ขยายพอร์ตการสำรวจและผลิต โดยการแสวงหาโอกาสการลงทุนในช่วงวิกฤติครั้งนี้ร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจ (Strategic Alliance) ที่มีประสบการณ์ในด้านการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม เพื่อรักษาอัตราส่วนปริมาณสำรองปิโตรเลียมต่อการผลิตที่ 7 ปี

3. ขับเคลื่อนธุรกิจ LNG แบบครบวงจร โดยการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ LNG ของบริษัท และกำหนดเป้าหมายการลงทุนร่วมกันทั้งในต้นน้ำและในโรงงานผลิต (Upstream & Liquefaction) โดยมุ่งเน้นส่งเสริมการพัฒนาขีดความสามารถของบุคลากรควบคู่กันไปด้วย

4. แสวงหาโอกาสการลงทุนในธุรกิจใหม่ เช่น ธุรกิจไฟฟ้า การต่อยอดและขยายธุรกิจ A.I & Robotics Venture (ARV) ใน 4 ภาคส่วน ได้แก่ การตรวจสอบและซ่อมบำรุงอุปกรณ์ใต้ทะเล การเกษตร การแพทย์ และการใช้อากาศยานไร้คนขับ (Drone) ในการตรวจสอบทางเทคนิค โดยบริษัทมีเป้าหมายว่าภายในปี 2573 ประมาณ 20% ของกำไรสุทธิรวมจะมาจากธุรกิจใหม่เหล่านี้

5. ปรับเปลี่ยนการทำงานให้เข้ากับฐานวิถีชีวิตใหม่ (New Normal) ผ่านโครงการ Transformation และการบริหารทรัพยากรบุคคลภายในใหม่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ