บมจ.อีสเทอร์น พาวเวอร์ กรุ๊ป (EP) แจ้งว่า ที่ประชุมคณะกรรมการเมื่อวันที่ 31 ก.ค. อนุมัติให้บมจ.อีเทอร์นิตี้ พาวเวอร์ (ETP) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ถือหุ้นอยู่ 75% ขายหุ้นในบริษัทที่ดำเนินธุรกิจผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์ฟาร์ม) ในไทย มีกำลังการผลิตรวม 20 เมกะวัตต์ (MW) ให้บมจ.บีซีพีจี (BCPG) มูลค่า 871 ล้านบาท
ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวทาง ETP จะขายหุ้น 99.99% ของหุ้นทั้งหมดในบริษัท อาร์พีวี พลังงาน จำกัด (RPV) ที่ตนถืออยู่ รวมถึงดำเนินการใด ๆ เพื่อให้ผู้ถือหุ้นรายย่อยขายหุ้น RPV ของตน รวมทั้งสิ้น 100% ให้แก่ BCPG โดยมีบริษัทเป็นผู้ค้ำประกัน สำหรับการโอนหุ้น RPV ที่ซื้อขายนั้น BCPG จะจัดตั้งบริษัท บีเอสอี เพาเวอร์ โฮลดิ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยใหม่ถือหุ้น 100% และบีเอสอีฯ จะชำระเงินค่าซื้อขายหุ้นและเข้าเป็นผู้ถือหุ้นใน RPV เมื่อเงื่อนไขบังคับก่อนทั้งหมดตามสัญญาซื้อขายหุ้นระหว่าง ETP, BCPG และ EP ลงวันที่ 31 ก.ค.63 (สัญญาซื้อขายหุ้น) สำเร็จลงแล้วเพื่อเป็นผู้รับโอนหุ้น RPV ที่ซื้อขายทั้งหมด
ปัจจุบัน RPV เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ มีขนาดกำลังผลิต 5 เมกะวัตต์ และเริ่มขายไฟฟ้าให้แก่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ตั้งแต่ วันที่ 15 ต.ค.55 และถือหุ้น 99.99% ในบริษัท เจเคอาร์ พลังงาน จำกัด (JKR) และบริษัท อะควาติส เอ็นเนอร์จี จำกัด (AQU) โดย JKR เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ มีขนาดกำลังผลิต 5 เมกะวัตต์ และเริ่มขายไฟฟ้าให้แก่กฟภ. ตั้งแต่วันที่ 15 ต.ค.55
ขณะที่ AQU เป็นโฮลดิ้งคอมพะนี ถือหุ้น 99.99% ในบริษัท ลพบุรี โซล่า จำกัด (LS) และบริษัท ปราจีน โซล่า จำกัด (PS) โดย LS และ PS เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ มีขนาดกำลังผลิตบริษัทละ 5 เมกะวัตต์ และเริ่มขายไฟฟ้าให้แก่กฟภ. ตั้งแต่วันที่ 4 ก.พ.57 และ 30 ธ.ค.59 ตามลำดับ
สำหรับมูลค่าสินทรัพย์ที่จำหน่ายไปโดยประมาณอยู่ที่ 871 ล้านบาท แบ่งการชำระเงินเป็น 3 งวด ได้แก่ งวดแรก วงเงิน 601 ล้านบาท โดยจ่ายชำระในวันที่โอนหุ้นในบริษัท RPV ให้แก่บีเอสอีฯ เรียบร้อยแล้ว (Completion Date) ,งวดที่สอง วงเงิน 120 ล้านบาท โดยจ่ายชำระภายใน 30 วันหลังจากวันที่โอนหุ้นในบริษัท RPV ให้แก่บีเอสอีฯ เรียบร้อยแล้ว (Completion Date) หรือภายใน 30 วันหลังจากวันที่มีงบการเงินรวมของบริษัท สำหรับงวดระหว่างกาลสิ้นสุด ณ วันที่ 30 มิ.ย.63 ที่ผ่านการสอบทานจากผู้สอบบัญชีของบริษัท
และงวดสุดท้าย 150 ล้านบาท จ่ายชำระณ วันที่ 17 ต.ค.65 ในกรณีที่มีการต่อระยะเวลาของสัญญาซื้อขายไฟฟ้าของ JKR และกฟภ. ไม่ได้ยกเลิกสัญญาซื้อขายไฟฟ้าดังกล่าว ด้วยเหตุเกิดจากสัญญาซื้อขายไฟฟ้าดังกล่าวครบอายุสัญญา หรือ ณ วันที่ BCPG โอนหุ้น RPV ที่ซื้อขายดังกล่าวให้แก่บุคคลภายนอกใด ๆ ที่ไม่ใช่บริษัทย่อยของ BCPG (แล้วแต่วันใดจะเกิดขึ้นก่อน)
EP ระบุว่าบริษัทจะนำเงินที่ได้รับ ไปใช้เป็นเงินทุนเพื่อรองรับการขยายธุรกิจ และการลงทุนของบริษัทในอนาคตต่อไป ซึ่งจะทำให้บริษัทมีเงินสดรับเพิ่มขึ้น หรือมีเงินทุนเพียงพอเพื่อรองรับการขยายธุรกิจ และการลงทุนในอนาคต หรือชำระคืนเงินกู้ของบริษัท เพื่อลดอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนของบริษัท และจะส่งผลให้บริษัทมีฐานะทางการเงินที่มั่นคง และผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นต่อไป
นายยุทธ ชินสุภัคกุล ประธานกรรมการ ของ EP กล่าวว่า บริษัทได้ลงนามในสัญญาซื้อขายหุ้นระหว่าง ETP ซึ่งเป็นบริษัทย่อย กับ BCPG โดยจะขายโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทย ทั้ง 4 โรง ซึ่งประกอบด้วย โรงไฟฟ้าที่บ่อพลอย ขนาด 5 เมกะวัตต์ 2 โรง โรงไฟฟ้าลพบุรี ขนาด 5 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าปราจีนบุรี ขนาด 5 เมกะวัตต์ รวม 20 เมกะวัตต์ ให้กับ BCPG คิดเป็นมูลค่าขายเบื้องต้น 871 ล้านบาท คาดว่าจะได้รับเงินภายในสิ้นเดือนส.ค.นี้ เป็นจำนวน 721 ล้านบาท และอีก 150 ล้านบาท ภายในเดือนต.ค.65
"การขาย 4 โรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มในประเทศไทยทั้งหมด ให้กับ BCPG ถือได้ว่าเป็น deal ที่ win-win ทั้งสองฝ่าย โดยบริษัทจะได้รับผลตอบแทนที่น่าพอใจ โดยจะทำให้บริษัทมีเงินสดเพิ่มขึ้น และมีเงินทุนเพียงพอเพื่อรองรับการขยายธุรกิจและการลงทุนในอนาคต ที่ผ่านมา บริษัทได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ เรื่องการขยายธุรกิจไฟฟ้าพลังงานลมในประเทศเวียดนาม จำนวน 60 เมกะวัตต์แล้ว นอกจากนี้บริษัทยังมีโครงการอื่น ๆ ที่อยู่ระหว่างการศึกษา และพิจารณาถึงความคุ้มค่าในการลงทุนโครงการพลังงานลมในประเทศเวียดนาม อีกกว่า 200 เมกะวัตต์ ซึ่งคาดว่าจะเห็นความชัดเจนได้ไม่เกินไตรมาส 3 ของปีนี้"นายยุทธ กล่าว
ด้านนายบัณฑิต สะเพียรชัย กรรมการผู้จัดการใหญ่ ของ BCPG กล่าวว่า โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่บริษัทเข้าซื้อครั้งนี้ ประกอบด้วย โครงการทั้งหมด 4 โครงการ ตั้งอยู่ในบริเวณ 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดลพบุรี และจังหวัดปราจีนบุรี มีกำลังการผลิตรวม 10 เมกะวัตต์ 5 เมกะวัตต์ และ5 เมกะวัตต์ ตามลำดับ โดยเป็นโรงไฟฟ้าที่ได้รับส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (adder) จำนวน 15 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าที่ได้รับค่าขายไฟฟ้าในแบบ Feed-in-Tariff (FiT) จำนวน 5 เมกะวัตต์ ซึ่งโรงไฟฟ้าทุกแห่ง เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้ว และสามารถรับรู้รายได้ทันทีเมื่อการซื้อขายแล้วเสร็จ ซึ่งคาดว่าจะอยู่ภายในไตรมาส 3/63
"การเข้าซื้อกิจการโซลาร์ฟาร์มดังกล่าว เป็นไปตามแผนกลยุทธ์ 5 ปีของบริษัท ซึ่งบีซีพีจีมีแผนการขยายการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้า และการเร่งพัฒนาโครงการที่มีอยู่ในพอร์ต เพื่อให้ผลการดำเนินงานเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้" นายบัณฑิต กล่าว