QTC เข้าโหมดลดเสี่ยงแตกไลน์เทรดแผงโซลาร์-ต่อยอดพลังงานทดแทน หนุนเป้ารายได้ปี 63 ทะลุพันลบ.

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday August 4, 2020 14:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพูลพิพัฒน์ ตันธนสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.คิวทีซี เอนเนอร์ยี่ (QTC) เปิดเผยกับ"อินโฟเควสท์"ว่า บริษัทมุ่งเน้นกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจ ด้วยกลยุทธ์เดินหน้าขยายธุรกิจใหม่ที่เพิ่งเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เดือน ม.ค.63 คือธุรกิจเทรดดิ้งเป็นตัวแทนจำหน่ายแผงโซลาร์แบรนด์ชั้นนำระดับโลก "Longi Solar" รวมถึงเป็นตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์การเปลี่ยนไฟฟ้ากระแสตรงให้เป็นไฟฟ้ากระแสสลับ(AC)เพื่อใช้กับแผงโซลาร์เซลล์แบรนด์ "Huawei Solar Inverter" เบื้องต้นปี 63 ตั้งเป้ายอดขายอุปกรณ์แผงโซลาร์จากธุรกิจดังกล่าวทั้งหมด 50 เมกะวัตต์ (MW) คิดเป็นจำนวนเงินกว่า 400 ล้านบาท

"สำหรับตลาดแผงโซลาร์ยังมีโอกาสอีกมาก เพราะแนวนโยบายรัฐบาลก็สนับสนุนเอกชนติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปที่ใช้เงินลงทุนไม่สูงเหมือนในอดีต ขณะที่ปลายปีนี้ "Longi Solar" เตรียมเปิดตัวแผงโซลาร์รุ่นใหม่ที่มีเทคโนโลยีทันสมัยสร้างกำลังการผลิตไฟฟ้าต่อแผงมากกว่าอดีต 5-6 เท่าตัว เป็นแรงจูงใจให้เอกชนหันมาลงทุนกันมากขึ้นเพราะมีความคุ้มทุนรวดเร็ว"นายพูลพิพัฒน์ กล่าว

ส่วนธุรกิจพลังงานทดแทนนั้น ปัจจุบันบริษัทมีโรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มที่อยู่ภายใต้การบริหารจัดการ 1 โครงการ กำลังการผลิต 8.6 เมกะวัตต์ ล่าสุดอยู่ในขั้นตอนศึกษาการลงทุนธุรกิจพลังงานทดแทนหลายโครงการ เป็นรูปแบบการลงทุนโดยที่บริษัทถือหุ้นเต็ม 100% หรือการร่วมทุนกับพันธมิตร แต่ต้องเป็นโครงการโรงไฟฟ้าที่มีการจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) เรียบร้อยแล้ว เพื่อลดความเสี่ยงจากการลงทุนช่วงเริ่มต้น และต้องมีผลตอบแทนจากการลงทุน (IRR) อย่างน้อย 10% ขึ้นไป

ทั้งนี้ บริษัทมีความพร้อมตลอดเวลาที่จะเดินหน้าขยายธุรกิจพลังงานทดแทนทั้งด้านแหล่งเงินทุนที่ปัจจุบันมีกระแสเงินสดที่เหลือจากเพิ่มทุนแก่นักลงทุนแบบเฉพาะเจาะจง (Private Placement) ในครั้งที่ผ่านมาเป็นวงเงินกว่า 300 ล้านบาท และหากมีโครงการที่ดีก็สามารถหาแหล่งเงินทุนรูปแบบ "Project Finance" ได้เช่นกัน

"ไม่จำเป็นต้องเป็นโครงการใหญ่หรือเล็ก แต่สิ่งสำคัญคือผลตอบแทนจากการลงทุนต้องคุ้มค่าเป็นประโยชน์ต่อผู้ถือหุ้น แม้ว่าโครงการพลังงานทดแทนในประเทศจะมีโอกาสอยู่บ้าง แต่พบว่ามีอุปสรรคคือผู้ที่นำมาเสนอขายแต่ละโครงการมีราคาสูงเกินไป ส่วนในต่างประเทศก็มองหาโอกาสในประเทศเวียดนาม แต่ก็อยู่ในขั้นตอนศึกษารายละเอียด หากมีความชัดเจนแล้วจะเปิดเผยข้อมูลให้ทราบอีกครั้ง"นายพูลพิพัฒน์ กล่าว

ขณะที่แผนธุรกิจระยะยาว 3-5 ปีข้างหน้า บริษัทยังคงแนวทางต่อยอดขยายธุรกิจในอุตสาหกรรมพลังงานที่หลากหลาย แม้ว่าปัจจุบันโมเดลธุรกิจหลักของ QTC จะเป็นธุรกิจหม้อแปลงไฟฟ้า ,ธุรกิจพลังงานทดแทน ,ธุรกิจเทรดดิ้งแผงโซลาร์ ซึ่งกลุ่มธุรกิจดังกล่าวเป็นฐานลูกค้าที่อยู่กลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกันและเป็นตลาดที่มีแนวโน้มการเติบโตในอนาคตมีมูลค่ามหาศาล แต่ในอนาคตอันใกล้บริษัทมีแนวทางการลงทุนในธุรกิจ "สตาร์ทอัพ" หยิบนำโครงการที่ดีนำมาต่อยอดเพื่อให้เกิดเป็นรูปธรรม ส่งเสริมศักยภาพการเติบโตของ QTC ต่อไปในอนาคต

นายพูลพิพัฒน์ กล่าวอีกว่า ท่ามกลางความไม่แน่นอนของปัจจัยเสี่ยงต่างๆ บริษัทได้เพิ่มแนวทางรองรับหากสถานการณ์โควิด-19 ยกระดับรุนแรงมากขึ้น โดยมุ่งเน้นปรับปรุงระบบบริหารจัดการภายในองค์กร อันดับแรกคือการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาต่อยอดลดต้นทุนและเสริมศักยภาพด้านการผลิต เช่น การจัดเก็บข้อมูลบนระบบคลาวด์ ทำให้พนักงานของบริษัทสามารถทำงานนอกสถานที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับแนวโน้มผลประกอบการตลอดทั้งปี 63 บริษัทเชื่อมั่นว่าจะเติบโตได้ตามเป้าหมายมีรายได้รวมเติบโตไม่ต่ำกว่า 1 พันล้านบาท พร้อมกับรักษาการเติบโตของกำไรไม่ให้ต่ำกว่าปี 62 หลังจากงบการเงินไตรมาส 1/63 บริษัทมีกำไรสุทธิ 31.4 ล้านบาท

แม้ว่าช่วงไตรมาส 2/63 จะเกิดวิกฤติโควิด-19 สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจไปทั่วโลก แต่บริษัทสะสมปริมาณงานผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าในมือ (backlog) ณ สิ้นไตรมาส 1/63 จำนวนกว่า 450 ล้านบาท แบ่งเป็นงานจากราชการและเอกชนในประเทศ 270 ล้านบาท งานต่างประเทศ 180 ล้านบาทสามารถทยอยรับรู้รายได้ต่อเนื่องตลอดทั้งปีนี้

นอกจากนั้น บริษัทยังอยู่ระหว่างติดตามโครงการประมูลงานใหม่ๆ เบื้องต้นยังไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะมีเข้ามามากน้อยอย่างไร เพราะขึ้นอยู่กับสถานการณ์โควิด-19 หากคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้นก็เชื่อว่าน่าจะเห็นความชัดเจนในช่วงปลายปีนี้

"แม้ว่าช่วงเดือน เม.ย. ทุกอย่างจะหยุดชะงัก แต่บริษัทของเราก็ยังเดินหน้าผลิตสินค้าต่อเนื่องและมีโอทีให้กับพนักงาน เพื่อส่งมอบสินค้าให้กับลูกค้าให้ทันตามเป้าหมาย อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่ามีผลกระทบบ้างด้านการสั่งซื้อวัตถุดิบนำเข้าจากต่างประเทศเข้ามาในไทย และส่งออกสินค้าให้กับลูกค้าในต่างประเทศคิดเป็นสัดส่วน 30% ของรายได้รวมแต่ละปี เนื่องจากการขนส่งระหว่างประเทศมีความล่าช้ากว่ากำหนดเดิม แต่บริษัทมีแนวทางบริหารจัดการในมิติต่างๆเพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการดำเนินงานให้มากที่สุด"นายพูลพิพัฒน์ กล่าว

https://youtu.be/d1srItcUPJI


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ