บมจ.เอิร์ธ เท็ค เอนไวรอนเมนท์ ประกอบธุรกิจโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงจากขยะ มีสัญญาจำหน่ายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจำนวน 16.50 เมกะวัตต์ พร้อมเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ 18 ส.ค. นี้ ใช้ชื่อย่อในการซื้อขายหลักทรัพย์ว่า "ETC" ด้วยมูลค่าหลักทรัพย์ ณ ราคา IPO 5,824 ล้านบาท และมีการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน จำนวน 60 ล้านหุ้นในราคาเดียวกันกับราคา IPO
นายประพันธ์ เจริญประวัติ ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) เปิดเผยว่า ตลาดหลักทรัพย์ mai ยินดีต้อนรับ บมจ. เอิร์ธ เท็ค เอนไวรอนเมนท์ เข้าจดทะเบียนและเริ่มซื้อขายใน mai ภายใต้กลุ่มทรัพยากร โดยใช้ชื่อย่อในการซื้อขายหลักทรัพย์ว่า "ETC" ในวันที่ 18 สิงหาคม 2563
ETC และบริษัทย่อยประกอบธุรกิจ ผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าโดยใช้เชื้อเพลิงที่ได้มาจากการแปรรูปขยะอุตสาหกรรมที่ไม่เป็นอันตราย หรือเรียกโดยทั่วไปว่าเชื้อเพลิง RDF (Refuse Derived Fuel) ปัจจุบันมีโรงไฟฟ้าที่มีสัญญากับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และจำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) แล้วจำนวน 16.50 เมกะวัตต์ ซึ่งตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรม 3 จังหวัด ได้แก่ จ. สระบุรี จ. อยุธยา และ จ. พิจิตร ทั้งนี้ ETC เป็นบริษัทย่อยของ บมจ.เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน (BWG) ซึ่งเป็นผู้รับบริหารกำจัดกากอุตสาหกรรมรายใหญ่แห่งหนึ่งของประเทศไทย
ETC มีทุนชำระแล้ว 1,120 ล้านบาท มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท ประกอบด้วยหุ้นสามัญเดิม 1,640 ล้านหุ้น และหุ้นสามัญเพิ่มทุน 600 ล้านหุ้น โดยเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 95.8 ล้านหุ้นต่อผู้ถือหุ้นของ BWG (Pre-emptive Right) เมื่อวันที่ 4-6 สิงหาคม และเสนอขายต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) 504.20 ล้านหุ้น เมื่อวันที่ 7, 10-11 สิงหาคม ในราคาหุ้นละ 2.60 บาท คิดเป็นมูลค่าระดมทุน 1,560 ล้านบาท มีมูลค่าหลักทรัพย์ ณ ราคา IPO 5,824 ล้านบาท ทั้งนี้ มีการจัดสรรหุ้นส่วนเกินให้แก่ผู้ลงทุนจำนวน 60 ล้านหุ้น ในราคาเดียวกัน
การกำหนดราคาเสนอขายหุ้น IPO คิดเป็นอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (P/E ratio) ที่ 85.82 เท่า คำนวณจากกำไรสุทธิใน 4 ไตรมาสล่าสุด (ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2562 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2563) ซึ่งเท่ากับ 67.86 ล้านบาท หารด้วยจำนวนหุ้นสามัญทั้งหมดภายหลังการเสนอขายหุ้นครั้งนี้ (fully diluted) คิดเป็นกำไรสุทธิต่อหุ้น 0.03 บาท มี บล.เคทีบี (ประเทศไทย) เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน และ บล. ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่าย
นายเอกรินทร์ เหลืองวิริยะ กรรมการผู้จัดการ ETC เปิดเผยว่า บริษัทมีความเชี่ยวชาญในการสร้างและบริหารจัดการโรงไฟฟ้าที่ใช้ขยะเป็นเชื้อเพลิงอย่างครบวงจร ตั้งแต่การก่อสร้าง จัดหาเครื่องจักร คัดเลือกเทคโนโลยี จัดการปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างการผลิต การบำรุงรักษาโรงไฟฟ้าและเครื่องจักรอุปกรณ์ ตลอดจนการสร้างความสัมพันธ์และรักษาสิ่งแวดล้อมชุมชน ทำให้บริษัทมีข้อได้เปรียบสำหรับการเข้าประมูลโรงไฟฟ้าในอนาคต โดยบริษัทจะนำเงินที่ได้จากการระดมทุนในครั้งนี้ไปใช้ในการขยายธุรกิจของ ETC และบริษัทย่อยของ ETC ชำระคืนเงินกู้ และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบธุรกิจ
ETC มีผู้ถือหุ้นใหญ่หลัง IPO 3 อันดับแรก ได้แก่ BWG ถือหุ้น 43.93% นายภัคพล งามลักษณ์ ถือหุ้น 19.44% และบมจ. อัคคีปราการ ถือหุ้น 7.14% บริษัทมีนโยบายจ่ายปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในอัตราไม่น้อยกว่า 50% ของกำไรสุทธิของงบการเงินเฉพาะกิจการ ภายหลังจากหักเงินทุนสำรองต่าง ๆ ตามกฎหมาย