นายนริศ เชยกลิ่น เลขานุการคณะกรรมการ บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา(CPN) เปิดเผยว่า เนื่องจากเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2550 ราคาหุ้นของ CPN ปรับตัวลดลงผิดปกติ ทำให้มีนักลงทุนสอบถามบริษัทฯ เกี่ยวกับการต่อสัญญาที่ดินโครงการลาดพร้าวว่ามีข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ตามที่เป็นข่าวที่ปรากฏในสื่อต่างๆ ว่าคณะกรรมาธิการคมนาคมแห่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติมีมติให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ยกเลิกการเจรจาสัญญาเช่าที่ดินและทรัพย์สินในโครงการสามเหลี่ยมย่านพหลโยธินกับเซ็นทรัล และให้มีการเปิดประมูลใหม่นั้น บริษัทขอชี้แจงว่า การพิจารณาโครงการดังกล่าว กำลังอยู่ในระหว่างดำเนินการ และยังไม่ได้มีการยกเลิกการเจรจาตามที่เป็นข่าว
เพียงแต่ บริษัทฯ ได้เคยทำหนังสือขอต่อสัญญาไปยังการรถไฟฯ เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2543 หลังจากนั้น รฟท. ได้มีหนังสือตอบกลับมาเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2544 ว่า "ยังไม่อาจพิจารณาดำเนินการใดให้ได้" ซึ่งหนังสือดังกล่าวไม่ได้เป็นการชี้ขาดแต่อย่างใด
รฟท.ได้เคยทำหนังสือขอหารือไปยังสำนักงานอัยการสูงสุด และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้วเกี่ยวกับปัญหาข้อกฎหมายกรณีบริษัท เซ็นทรัลอินเตอร์พัฒนาฯ ประสงค์จะขอเช่าทรัพย์สินตามโครงการเซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว บริเวณสามเหลี่ยมย่านพหลโยธิน เพื่อประกอบกิจการต่อไป ซึ่งความเห็นทางกฎหมายของทั้งสองสำนักงานที่ตอบกลับมายังการรถไฟฯ ก็สอดคล้องกัน สรุปได้ว่า เนื่องจากสัญญาเช่าที่ดินที่กระทำกันในปี พ.ศ. 2521 กำหนดเงื่อนไขไว้ว่า เมื่อครบ 30 ปี อาคาร สิ่งก่อสร้าง อุปกรณ์ และระบบต่างๆ ในที่เช่า ให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของการรถไฟฯ ทั้งสิ้น
และ รฟท.จะให้บริษัทฯ เช่าทั้งหมดนี้เพื่อประกอบกิจการต่อไป ในอัตราค่าเช่าและผลประโยชน์ตอบแทนตามที่จะได้ตกลงร่วมกัน หากคู่สัญญาไม่สามารถตกลงกันได้ ให้ผู้เช่าส่งมอบอาคารและสิ่งก่อสร้างทั้งหมดให้แก่ผู้ให้เช่าทั้งสิ้น ดังนั้น ขั้นตอนที่จะ ต้องดำเนินการต่อไป ก็ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535
กล่าวคือ รฟท.ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการตามมาตรา 13 ของพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว เพื่อเจรจาต่อรองค่าตอบแทนและผลประโยชน์ของรัฐ โดยไม่ต้องดำเนินการประกาศเชิญชวนให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการใหม่ และคณะกรรมการกฤษฎีกา
ยังให้ความเห็นเพิ่มเติมอีกด้วยว่า สมควรที่รฟท.จะต้องเร่งรัดการดำเนินการ โดยให้คำนึงถึงระยะเวลาการสิ้นสุดของสัญญา รวมทั้งปัญหาและอุปสรรคในการประกอบกิจการของเอกชนประกอบด้วย ทั้งนี้ เพื่อรักษาไว้ซึ่งผลประโยชน์ของรัฐ
บริษัทฯ เชื่อว่าหน่วยงานของรัฐย่อมจะถือปฏิบัติตามแนวทางการวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกา เพราะมีมติคณะรัฐมนตรีที่กำหนดให้หน่วยงานของรัฐ ที่ได้ส่งปัญหาทางกฎหมายให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาหาข้อยุติ เมื่อคณะกรรมการกฤษฎีกาให้ความเห็นในทางกฎหมายเป็นประการใด ก็ให้เป็นไปตามความเห็นนั้น
ดังนั้น การเจรจาต่อรองค่าตอบแทนและผลประโยชน์ของรัฐในเรื่องนี้ ตามความเห็นทางกฎหมายทั้งของคณะกรรมการกฤษฎีกาและสำนักงานอัยการสูงสุด จึงเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการที่การรถไฟฯ ได้แต่งตั้งขึ้นตามมาตรา 13 ของพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 ซึ่งมาตรา 13 กำหนดให้องค์ประกอบของคณะกรรมการมีจำนวนรวม 12 คน ประกอบด้วยผู้แทนจากหลายกระทรวงและหน่วยงานราชการรวมทั้งผู้ทรงคุณวุฒิ ทั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ในการป้องกันการแทรกแซงใด ๆ และ ป้องกันการพิจารณา มิให้เป็นอำนาจของบุคคลผู้เดียวหรือหน่วยงานเดียว อันอาจเป็นไปโดยไม่มีหลักเกณฑ์ที่แน่นอน
ขณะนี้ เท่าที่ทราบ คณะกรรมการชุดดังกล่าวอยู่ระหว่างการว่าจ้างผู้ประเมินราคาทรัพย์สินอิสระรายแรก และกำลังสรรหาผู้ประเมินราคาทรัพย์สินอิสระรายที่สอง เพื่อให้ดำเนินการศึกษา ประเมินราคาที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และนำข้อมูลมาประกอบการพิจารณากำหนดราคาเพื่อใช้ในการเจรจาต่อไป
"บริษัทฯ จึงมั่นใจว่าการดำเนินการในขั้นตอนการเจรจาจะเป็นไปตามกระบวนการทางกฎหมายด้วยความโปร่งใส อย่างมีหลักเกณฑ์ที่แน่นอนและเป็นธรรม โดยบริษัทฯ ขอยืนยันว่า พร้อมที่จะปฏิบัติตามเงื่อนไขในการเจรจาและการทำสัญญาใหม่ทุกประการ" นายนริศชี้แจงในหนังสือที่ยื่นต่อตลาดหลักทรัพย์
--อินโฟเควสท์ โดย เสาวลักษณ์ อวยพร/รัชดา โทร.0-2253-5050 ต่อ 317 อีเมล์: rachada@infoquest.co.th--