MICRO ปั้นพอร์ตรถบรรทุกมือสองปี 65 แตะ 5 พันลบ.เข็น IPO ฝ่าตลาดหุ้นโค้งสุดท้าย

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday September 17, 2020 08:33 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กระแสการตอบรับหุ้น IPO ก่อนเข้าโค้งสุดท้ายของปี 63 กลับมาได้รับความสนใจจากนักลงทุนมากขึ้น สะท้อนจากปริมาณซื้อขายไหลเข้ามาอย่างหนาแน่นผลักดันราคาหุ้นของทั้ง 5 บจ.น้องใหม่ที่เพิ่งเข้าจดทะเบียนใหม่ตั้งแต่กลางปีปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างโดดเด่น โดยเฉพาะช่วงวันแรกๆ ที่เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์

บมจ.ไมโครลิสซิ่ง (MICRO) เป็นหนึ่งในบริษัทที่อยู่ระหว่างเตรียมตัวเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ในช่วงเดือน ต.ค.นี้ โดยจะเสนอขายหุ้น IPO จำนวน 235 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ 1.00 บาทต่อหุ้น คิดเป็นสัดส่วน 25.13% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดภายหลังการเสนอขายหุ้น IPO โดยมีบริษัท ที่ปรึกษา เอเซีย พลัส จำกัด เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน และ บล.เอเซีย พลัส เป็นผู้จัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย

*เชื่อมั่นเข้า SET ต.ค.ผลตอบรับดี

นายวินิตย์ ปิยะเมธาง กรรมการผู้จัดการ MICRO เปิดเผยกับ"อินโฟเควสท์"ว่า ค่อนข้างมีความเชื่อมั่นว่าหุ้น MICRO จะได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้ลงทุน ทั้งกลุ่มผู้ลงทุนสถาบัน (กองทุน) และกลุ่มผู้ลงทุนรายย่อย จากปัจจัยพื้นฐานทิศทางผลประกอบการตั้งแต่อดีตมาถึงปัจจุบันเห็นการเติบโตต่อเนื่อง และแม้ว่าช่วงที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยเผชิญกับวิกฤติโควิด-19 แต่ธุรกิจสินเชื่อรถบรรทุกมือ 2 ยังทนทานต่อภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว อาจได้รับผลกระทบบ้างแต่ไม่มากนัก สะท้อนจากผลประกอบการไตรมาส 2/63 มีกำไรสุทธิ 33 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 1/63 ที่มีกำไร 29 ล้านบาท แปลว่าอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งด้วยรถบรรทุกก็ยังสามารถเติบโตได้ท่ามกลางความเสี่ยงที่หลายอุตสาหกรรมยังคงได้รับผลกระทบอยู่ในขณะนี้

"บริษัทมีนโยบายกระจายพอร์ตสินเชื่อหลากหลายธุรกิจ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงหากอุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่งได้รับผลกระทบ ประกอบด้วย ลูกค้ากลุ่มธุรกิจขนส่งสินค้าอุปโภคและบริโภค 60% กลุ่มธุรกิจก่อสร้าง 20% และกลุ่มธุรกิจการเกษตร 17-20% ซึ่งสถานการณ์ของกลุ่มธุรกิจขนส่งสินค้าอุปโภคและบริโภคก็ยังสามารถเติบโตได้ดี"นายวินิตย์ กล่าว

นายวินิตย์ กล่าวว่า MICRO เป็นหนึ่งในผู้ประกอบการให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถบรรทุกมือสองของประเทศ ด้วยประสบการณ์และความชำนาญในการดำเนินธุรกิจมาเป็นเวลากว่า 25 ปี โดยให้สินเชื่อเช่าซื้อรถบรรทุก 6 ล้อ 10 ล้อ 12 ล้อ และรถพ่วงมือสอง สำหรับใช้ในการประกอบธุรกิจ นอกจากนี้ บริษัทยังให้บริการสินเชื่อรถเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ประเภทอื่น เช่น รถหัวลาก และรถบรรทุกเฉพาะกิจต่างๆ เพื่อขยายกลุ่มลูกค้ากว้างขึ้น

บริษัทมุ่งเน้นให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถบรรทุกมือสองเฉพาะรุ่นและยี่ห้อที่มีตลาดซื้อขายรองรับ เช่น อีซูซุ (ISUZU) ฮีโน่ (HINO) และฟูโซ่ (FUSO) เป็นต้น คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 95% ของพอร์ตสินเชื่อโดยรวม นอกจากนั้น บริษัทยังมีบริการสินเชื่ออีก 2 ประเภทคือสินเชื่อทะเบียนรถบรรทุก และสินเชื่อรีไฟแนนซ์รถบรรทุก เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับกลุ่มลูกค้าประเภทรถบรรทุกเป็นหลัก

*คุม NPLs เข้มพักหนี้โควิดรับกระทบไม่มาก

นายวินิตย์ กล่าวว่า แนวทางการบริหารจัดการหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) บริษัทมีนโยบายควบคุมอย่างเข้มข้นเพื่อคัดกรองลูกหนี้ที่มีคุณภาพดี โดยปี 60 ได้นำระบบ "Credit Scoring" เป็นไปตามหลักเกณฑ์เดียวกับสถาบันการเงินต่างๆ เข้ามาใช้ประเมินความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้า รวมถึงศักยภาพของผู้ค้ำประกันให้เหมาะสมต่อวงเงินสินเชื่อ นอกจากนั้น บริษัทยังมีทีมงานติดตามหนี้ที่มีคุณภาพพร้อมกับจ้างทีม Outsource ที่เป็นบริษัทจดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายเข้ามาดูแลในส่วนงานดังกล่าวเพิ่มเติมด้วย

"หนี้ NPLs อดีตสูงกว่า 10% บริษัทมีนโยบายควบคุมและลดลงมาเรื่อยๆ ถึงปัจจุบันอ้างอิงงบการเงินไตรมาส 2/63 หนี้ NPLs ลดลงมาเหลือ 2.7% ขณะที่ในอนาคตบริษัทจะรักษาระดับควบคุมหนี้ NPLs ไม่ให้สูงเกิน 3% ต่อปี"นายวินิตย์ กล่าว

ปัจจุบัน บริษัทนำระบบ IT เข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการดูแลลูกค้าเพื่อตอบโจทย์ความต้องการสินเชื่อได้อย่างรวดเร็วและมีคุณภาพ เช่น นำส่งข้อมูลแบบ Real Time สามารถตรวจสอบข้อมูลของลูกค้าได้ทันที และแผนต่อไปคือการนำข้อมูลดังกล่าวเชื่อมโยงเข้ากับข้อมูล Credit Scoring ยิ่งช่วยเพิ่มความรวดเร็วการอนุมัติสินเชื่อเพื่อสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้าให้มากที่สุด

ขณะที่ในช่วงที่เกิดวิกฤติโควิด-19 บริษัทมีโครงการพักชำระหนี้ให้กับลูกค้า โดยมีเพียง 40 รายจากลูกค้าทั้งหมด 3,200 รายที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าว จึงกระทบต่อภาพรวมผลประกอบการเล็กน้อยเท่านั้น

"ยอมรับว่ามูลค่าของรถบรรทุกมือ 2 เป็นสินทรัพย์ที่ถูกด้อยค่ามาแล้วตามกลไกตลาด แตกต่างกับรถบรรทุกมือ 1 ที่เวลาขายต่อราคามักจะลดลงอย่างมาก โดยปกติแล้วราคาซื้อขายรถบรรทุกมือ 2 จะขึ้นอยู่กับความต้องการในช่วงเวลานั้นเป็นหลักหากเศรษฐกิจดีจากราคาคันละ 800,000 บาทก็สามารถขยับขึ้นไปมากกว่า 1,000,000 บาทได้เช่นกัน"

*เป้าปี 65 พอร์ตสินเชื่อโตเท่าตัวแตะ 5 พันล้านบาท

นายวินิตย์ กล่าวต่อว่า บริษัทตั้งเป้าว่าภายในสิ้นปี 63 มูลค่าพอร์ตสินเชื่อรวมจะเพิ่มขึ้นแตะ 2,500 ล้านบาท เติบโต 23% จากปีก่อน โดยเชื่อว่าทิศทางผลประกอบการช่วงครึ่งปีหลังจะเติบโตได้ตามที่คาดไว้ เพราะเข้าสู่ไฮซีซั่นธุรกิจขนส่งรถบรรทุก ส่งผลให้ความต้องการใช้บริการสินเชื่อเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ บริษัทมีเป้าขยายพอร์ตสินเชื่อรวมเพิ่มขึ้นไปแตะ 4 พันล้านบาทในปี 64 และปี 65 จะเพิ่มขึ้นแตะ 5 พันล้านบาท

"ปัจจุบันบริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาดของอุตสาหกรรมสินเชื่อรถบรรทุกมือ 2 อยู่ที่ 5.5% จากมูลค่าอุตสาหกรรมทั้งหมดที่มีกว่า 2 หมื่นล้านบาท ภายหลังจากเป็นบริษัทจดทะเบียนแล้ว เชื่อมั่นว่าจะสามารถขยายฐานลูกค้าใหม่ๆและก้าวขึ้นไปติดอันดับ 1 ใน 3 ของของผู้นำอุตสาหกรรมสินเชื่อรถบรรทุกมือ 2 ได้อย่างแน่นอน"

*ชูโดดเด่นเน้นศักยภาพกำไรสูง

สำหรับภาพรวมศักยภาพทำกำไรของบริษัทผ่านธุรกิจให้บริการสินเชื่อรถบรรทุกมือ 2 มีความโดดเด่นเรื่องของกำไรที่ดีจากส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ที่อยู่ในระดับสูง

หากอ้างอิงตามข้อมูลภาพรวมของ NIM ในอุตสาหกรรมสินเชื่อรถบรรทุกมือ 2 เฉลี่ยอยู่ที่ 12-13% อย่างไรก็ตาม เมื่อย้อนมาพิจารณาอัตรากำไรสุทธิ (Net Profit Margin) ของบริษัทพบว่าอยู่ที่ระดับมากกว่า 30% นับว่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยภาพรวมอุตสาหกรรม ขณะที่ภาพรวมการเติบโตของพอร์ตสินเชื่อรวมเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 30% ต่อปี เป็นสิ่งสะท้อนการเติบโตอย่างมั่นคงในอดีตต่อเนื่องไปถึงอนาคต

ทั้งนี้ ข้อมูล ณ สิ้นไตรมาส 2/63 บริษัทมีจำนวนลูกค้าที่ใช้บริการสินเชื่อรวม 3,200 ราย คิดเป็นมูลค่ากว่า 2,140 ล้านบาท

"พอร์ตสินเชื่อรวมที่เพิ่มขึ้นทุก 100 บาท บริษัทจะมีกำไรอย่างน้อย 7 บาทเป็นรายได้จากส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ย หากบริษัทเข้าตลาดแล้วลดต้นทุนทางการเงินก็จะยิ่งช่วยเพิ่มมาร์จิ้นได้ดีขึ้น"นายวินิตย์ กล่าว

และเสริมว่า "ปัจจุบันความต้องการเช่าซื้อรถบรรทุกมือ 2 เพิ่มขึ้นทุกๆปี สวนทางกับความต้องการรถบรรทุกมือ 1 ที่ส่งสัญญาณลดลงตามลำดับ ข้อมูลอ้างอิงจากกรมการขนส่งทางบกพบว่าช่วงไตรมาส 2/63 รถบรรทุกมือ 2 เติบโตแซงหน้าการใช้รถบรรทุกมือ 1 แล้ว ส่วนหนึ่งน่าจะเกิดจากการเปลี่ยนวิธีคิดของผู้ประกอบการที่หันมาใช้รถบรรทุกมือ 2 มากขึ้นเพราะซ่อมง่าย ประหยัดต้นทุนขนส่ง เป็นต้น"

ผลประกอบการปี 60-62 บริษัทมีรายได้รวม 227.0 ล้านบาท 258.6 ล้านบาท และ 330.2 ล้านบาท ตามลำดับ คิดเป็นอัตราการเติบโตของรายได้ (CAGR) ในช่วง 3 ปีดังกล่าวเท่ากับ 24.4% ต่อปี และกำไรสุทธิมีจำนวน 60.8 ล้านบาท 89.9 ล้านบาท และ 110.8 ล้านบาท คิดเป็นอัตรากำไรสุทธิเท่ากับ 26.8%, 34.8% และ 33.5% ตามลำดับ โดยอัตราการเติบโตของกำไรสุทธิ (CAGR) สูงถึง 30.6% ต่อปี

และในช่วง 6 เดือนแรกของปี 63 บริษัทมีกำไรสุทธิเท่ากับ 62.5 ล้านบาท คิดเป็นอัตรากำไรสุทธิเท่ากับ 30.8%

*หวังผลระดมทุนตลาดหุ้นขยายฐานทั่วประเทศ

นายวินิตย์ กล่าวอีกว่า แผนการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ครั้งนี้มีวัตถุประสงค์คือต้องการสร้างความเติบโตอย่างยั่งยืน โดยนำเงินจากการระดมทุนส่วนหนึ่งไปชำระหนี้กับสถาบันการเงินที่มีต้นทุนดอกเบี้ยเฉลี่ย 4-5% เพื่อลดต้นทุนทางการเงิน เสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับสถานะของบริษัท โดยปัจจุบัน บริษัทมีอัตราหนี้สินต่อทุน (D/E) อยู่ที่ 1.02 เท่า

ขณะเดียวกันยังมีแผนขยายสาขาเพิ่มเติมจาก 12 สาขาในปัจจุบัน เพิ่มเป็น 20 สาขาในปี 65 เพื่อรองรับการเติบโตของพอร์ตสินเชื่อในอนาคตอีกด้วย

"แนวทางขยายฐานลูกค้าทั่วประเทศ นอกเหนือจากแผนขยายสาขาครอบคลุมทั่วประเทศแล้ว บริษัทยังวางไว้หลายแนวทาง เช่น การร่วมเป็นพันธมิตรกับตัวแทนจำหน่ายรถบรรทุกมือ 2 ที่ปัจจุบันมีจำนวนกว่า 350 ราย และนายหน้าที่เป็นผู้เสนอบริการสินเชื่อให้กับลูกค้ามากกว่า 90 รายครอบคลุมทั่วประเทศ"นายวินิตย์ กล่าว

https://youtu.be/lKgqGy6FBR8


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ