เริ่มต้นปีกับผลกระทบอย่างหนักหน่วงจากการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ลุกลามกลายเป็นวิกฤติเศรษฐกิจรอบใหม่ สร้างความเสียหายต่อธุรกิจหลายภาคส่วนต้องล้มหายตายจากกันเป็นจำนวนมาก แต่ภายใต้วิกฤติก็ย่อมมาพร้อมโอกาสให้กับผู้รอดเสมอ อย่ากรณีของ บมจ.เอเชี่ยนซี คอร์ปอเรชั่น (ASIAN) ที่มีผลประกอบการเติบโตโดดเด่นท่ามกลางวิกฤติโควิด-19
ผลประกอบการของ ASIAN ในครึ่งปีแรกกวาดกำไรสุทธิกว่า 400 ล้านบาท สูงกว่าผลงานทั้งปี 62 ที่มีผลกำไรสุทธิ 132 ล้านบาท ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจตั้งแต่ปี 62 เพื่อรับมือกับปัจจัยเสี่ยงรอบด้าน และมุ่งเน้นขยายธุรกิจที่สร้างผลกำไรอย่างมั่นคง
และหลังจากนี้บริษัทเตรียมพร้อมเดินหน้าเติบโตแบบก้าวกระโดดอีกครั้งผ่านโมเดลการเข้าซื้อกิจการ (M&A) เพื่อก้าวสู่เป้าหมายยอดขายทะลุ 1 หมื่นล้านบาทและรักษาเสถียรภาพของอัตรากำไรขั้นต้น (Gross Profit Margin:GPM) ไม่ต่ำกว่า 15% ต่อเนื่องตลอด 5 ปีข้างหน้า
*พลิกกลยุทธ์อัพมาร์จิ้น-ปรับพอร์ตสินค้าก้าวข้ามวิกฤติโควิด-19
นายเอกกมล ประสพผลสุจริต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการเงิน ASIAN เปิดเผยกับ"อินโฟเควสท์"ว่า แม้ว่าการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 จะกลายเป็นวิกฤติลุกลามไปทั่วโลก แต่จากการปรับกลยุทธ์สร้างสมดุลในแต่ละธุรกิจที่เป็นสาเหตุของอัตรากำไรขั้นต้นและอัตรากำไรสุทธิดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ด้วยการปรับสัดส่วนรายได้จากธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงมาที่เกือบ 40% ในปี 63 จากปีก่อนอยู่ที่ 30% และสัดส่วนรายได้ธุรกิจแช่เยือกแข็งจาก 47% ลดลงมาเหลือ 30% ทำให้บริษัทได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 ค่อนข้างน้อย สะท้อนได้จากภาพรวมผลประกอบการในไตรมาส 2/63 และการเติบโตอย่างต่อเนื่องช่วงครึ่งหลังของปี 63
อีกหนึ่งความโดดเด่นของบริษัทในช่วงวิกฤติโควิด-19 คือ การมีทีมผู้เชี่ยญชาญด้านงานรับจ้างผลิตสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยง (OEM) ให้กับแบรนด์ที่มีชื่อเสียงต่างๆ ทำให้บริษัทสามารถพัฒนาคุณภาพและตอบโจทย์ความต้องการของตลาดได้เป็นอย่างดี ยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันได้อย่างต่อเนื่อง
หากเจาะลึกธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงที่บริษัทเป็นผู้ผลิต OEM มีอัตราการเติบโตที่ดีต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วงที่เกิดโควิด ตามข้อมูลเชิงสถิติพบว่าความต้องการในตลาดโลกของธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงสุนัขและแมวมีมูลค่าสูงถึง 9.5 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งตลาดหลักคือสหรัฐฯที่มีความต้องการสูงในสัดส่วน 30% สอดคล้องกับที่บริษัทมียอดขายจำนวนมากในสหรัฐฯ ขณะที่อีกหนึ่งตัวแปรสำคัญ คือ ความนิยมเลี้ยงสัตว์เลี้ยงมีมากขึ้น ส่งผลให้จำนวนสัตว์เลี้ยงต่อครัวเรือนเพิ่มขึ้นชัดเจนในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา และเมื่อนับแค่เฉพาะปี 62-63 พบว่ามีอัตราเติบโตก้าวกระโดดอย่างมีนัยสำคัญ
สำหรับธุรกิจอาหารแช่เยือกแข็ง แม้ว่าอาจจะรับผลกระทบบ้างช่วงเกิดวิกฤติโควิด-19 เนื่องจากคำสั่งซื้อกลุ่มลูกค้าต่างประเทศชะลอตัว โดยเฉพาะร้านอาหารโซนยุโรปที่ต้องปิดชั่วคราว แต่ผลกระทบต่อกำไรค่อนข้างน้อย เนื่องจากบริษัทได้ปรับกลยุทธ์หันมามุ่งเน้นสร้างมูลค่าเพิ่มรายสินค้าที่มีอัตรากำไรขั้นต้นดีกว่าสินค้าแช่แข็งทั่วไป เช่น กุ้งชุบแป้งแช่แข็ง เป็นต้น ตอบโจทย์ความต้องการช่วงที่โควิด-19 แพร่ระบาด
*บริหารความเสี่ยงค่าเงิน-ต้นทุนวัตถุดิบ รักษาเสถียรภาพกำไร
นายเอกกมล กล่าวต่อว่า ธุรกิจของบริษัท ประกอบด้วย อาหารแช่เยือกแข็ง,อาหารสัตว์เลี้ยง,อาหารสัตว์น้ำ มีทั้งการผลิตแบบ OEM และแบรนด์ของบริษัทเอง โดยโครงสร้างรายได้หลักในปัจจุบันกว่า 80% มาจากการส่งออก ดังนั้น หากวิเคราะห์ความเสี่ยงอันดับต้นๆ ที่ต้องเผชิญ คือความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งบริษัทมีนโยบายป้องกันความเสี่ยง (Hedging) กำหนดกรอบระยะเวลาขายเงินดอลลาร์สหรัฐฯประมาณ 120 วัน แม้ว่าความผันผวนดังกล่าวจะมีผลกระทบต่อกำไรตามหลักมาตรฐานทางบัญชี แต่ไม่มีผลกระทบต่อภาพรวมของกระแสเงินสด เป็นเพียงผลกระทบเชิงตัวเลขตามการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนในแต่ละช่วงเวลา
อีกหนึ่งความเสี่ยง คือ ความผันผวนของราคาต้นทุนวัตถุดิบอาหารแช่เยือกแข็ง โดยบริษัทได้เริ่มปรับกลยุทธ์เมื่อปี 62 ด้วยการลดสัดส่วนสินค้าที่มีความเสี่ยงสูงในด้านราคาต้นทุนวัตถุดิบ และค่อยๆ ปรับเพิ่มสัดส่วนธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงที่มีความมั่นคงด้านศักยภาพการทำกำไรมาทดแทนมากขึ้น สะท้อนจากภาพรวมอัตรากำไรขั้นต้น (GPM) กลับมาดีขึ้น
"แม้ว่าตลอดหลายปีที่ผ่านมาปัจจัยเสี่ยงจะสร้างความผันผวนให้กับภาพรวมผลประกอบการ โดยเฉพาะตัวเลขกำไรแต่ละปี แต่ด้วยกลยุทธ์การใช้นโยบายควบคุมและดูแลเรื่องความเสี่ยงที่เกิดขึ้นกับธุรกิจในทุกๆมิติอย่างใกล้ชิด ทำให้การเติบโตผลประกอบการหลังจากนี้จะเริ่มเห็นความมีเสถียรภาพมากขึ้น"นายเอกกมล กล่าว
*วางเป้าดันยอดขายหมื่นล้านโตลัดด้วย M&A-รักษามาร์จิ้น 15% ยาว 5 ปี
นายเอกกมล กล่าวอีกว่า เป้าหมายระยะสั้นในปี 63 บริษัทคาดหวังจะผลักดันรายได้ให้เติบโตมาที่ 8.4 พันล้านบาท แม้จะเป็นการเติบโตในลักษณะ Organic Growth แบบค่อยเป็นค่อยไปตามกำลังการผลิต แต่ในอนาคตบริษัทวางเป้าเติบโตระยะถัดไปในรูปของ Inorganic Growth ซึ่งเป็นการเติบโตเชิงลึกจากแผนการเข้าซื้อกิจการ เพื่อตอบโจทย์สร้างการเติบโตก้าวกระโดดแต่มั่งคงอีกครั้ง แต่ก็ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ โดยเชื่อว่าหากดำเนินการสำเร็จจะช่วยเพิ่มศักยภาพการประกอบธุรกิจในเครือ ทำให้มีโอกาสผลักดันรายได้รวมเติบโตขึ้นทะลุ 1 หมื่นล้านบาทได้อย่างแน่นอน
"ถ้าย้อนไปดูรายได้บริษัทเฉลี่ยย้อนหลัง 4-5 ปีอยู่ที่ประมาณ 8 พันล้านบาท บวก/ลบ ถามว่าวันนี้บริษัทอยากมีรายได้ทะลุ 1 หมื่นล้านบาทหรือไม่ คงต้องบอกว่าเป็นเป้าหมายที่เราวางไว้ แต่การเติบโตจะต้องเป็นแบบ Inorganic Growth คือ การซื้อกิจการเพื่อต่อยอดสร้างการเติบโต แต่เรามองว่าจะไม่เน้นธุรกิจที่เป็นต้นน้ำ จะเป็นการต่อยอดธุรกิจปลายน้ำมากกว่า เช่น ซื้อกิจการที่มาช่วยพัฒนาช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าของบริษัท เป็นต้น
แต่สิ่งที่ต้องระวังช่วงนี้คือปัจจัยแวดล้อม เราต้องมั่นใจว่าผลกระทบโควิด-19 จะเริ่มดีขึ้นอย่างชัดเจนจริงๆ ล่าสุดเราก็มองหาโอกาสซื้อกิจการหลายบริษัทได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แต่การตัดสินใจต้องศึกษารายละเอียดอย่างรอบคอบเพื่อเกิดผลประโยชน์สูงสุดต่อผู้ถือหุ้นและธุรกิจในอนาคต"นายเอกกมล กล่าว
ปัจจุบันโครงสร้างทางการเงินของบริษัทมีความพร้อมเพียงพอต่อการเข้าซื้อกิจการที่เหมาะสม โดยบริษัทยังมีศักยภาพอีกมากในการหาแหล่งเงินกู้ และอีกส่วนหนึ่งมาจากกระแสเงินสดที่มีความพร้อมสำหรับขยายการลงทุนรองรับการเติบโตตามแผนระยะยาว
"การลงทุนซื้อกิจการไม่ได้จำกัดว่าต้องอยู่ในโซนไหนของโลก เพียงแต่ว่าต้องดูที่ความพร้อมและขนาดของกิจการว่าสามารถเติมเต็มให้กับโครงสร้างธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพแค่ไหน"นายเอกกมล กล่าว
ส่วนกลยุทธ์การขับเคลื่อนองค์กร ASIAN ระยะยาวนั้น นายเอกกมล กล่าวว่า ต้องเน้นประสิทธิภาพทำกำไรเป็นสำคัญ เช่น การนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพิ่มศักยภาพการผลิตด้านต่างๆ ส่วนหนึ่งช่วยลดต้นทุนด้านแรงงาน และอีกกลยุทธ์คือต้องหาแนวทางประกอบธุรกิจโดยเน้นเป้าหมายอัตรากำไรขั้นต้นสูงที่สุด
ยกตัวอย่างเมื่อปี 62 บริษัทปรับสัดส่วนโครงสร้างรายได้ของธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงจาก 30% ขยับขึ้นมาเป็นเกือบ 40% ในปี63 และลดสัดส่วนรายได้ธุรกิจแช่เยือกแข็งจาก 47% ลงมาเหลือ 30% เป็นเหตุผลว่าอัตรากำไรขั้นต้นและอัตรากำไรสุทธิบริษัทดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยปีนี้บริษัทคาดอัตรากำไรขั้นต้นอยู่ช่วง 13-15% สูงขึ้นจากปีก่อนที่อยู่ระดับ 8% และเป้าหมายอีก 5 ปีข้างหน้าภายหลังจากที่บริษัทปรับโครงสร้างธุรกิจต่างๆแล้วจะพยายามรักษาสมดุลแต่ละธุรกิจเพื่อปรับฐานให้อัตรากำไรขั้นต้นมีเสถียรภาพไม่ต่ำกว่า 15% แต่ละปี
https://youtu.be/bePNcR5iJDw