INTERVIEW: TEAMG ปั้นพอร์ตรายได้ประจำแตะ 25% ใน 5 ปีลุยสัมปทาน-เล็ง M&A อัพมูลค่าธุรกิจ

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday October 16, 2020 08:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

แผนยุทธศาสตร์ระยะยาวของ บมจ.ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ (TEAMG) กำหนดเป้าหมายเติบโตอย่างยั่งยืน สะท้อนความพยายามขยับโมเดลธุรกิจจากการพึ่งพิงรายได้หลักจากงานที่ปรึกษาด้านวิศวกรรมและสิ่งแวดล้อมเพียงอย่างเดียว ล่าสุดหันเข้าสู่ธุรกิจสร้างรายได้ประจำ (Recurring income) ด้วยการร่วมลงทุนกับพันธมิตรในโครงการสัมปทานระยะยาวอย่างน้อย 20 ปีเพื่อเก็บเกี่ยวผลตอบแทนตลอดอายุสัญญา

*CEO วางเป้าขยับสัดส่วนสัดส่วนรายได้ประจำเพิ่มเป็นอย่างน้อย 25% ภายใน 5 ปี

นายอภิชาติ สระมูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TEAMG ให้สัมภาษณ์กับ "อินโฟเควสท์"ว่า แม้ว่าปัจจุบันธุรกิจบริษัทยังคงมุ่งเน้นงานประเภทที่ปรึกษาด้านวิศวกรรมและสิ่งแวดล้อมแบบครบวงจรตั้งแต่การศึกษา ออกแบบ จัดทำรายงานบริหารโครงการและควบคุมงานก่อสร้าง รวมถึงการจัดทำรายงานประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่เป็นโครงการขนาดใหญ่ของประเทศ

แต่ด้วยแนวทางการกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจ เพื่อก้าวสู่เป้าหมายเติบโตยั่งยืน ทำให้บริษัทได้กำหนดเป้าหมายเข้าสู่ธุรกิจที่สร้างรายได้ประจำในลักษณะการต่อยอดธุรกิจหลัก เบื้องต้นบริษัทวางแผนระยะ 5 ปีข้างหน้ามีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนธุรกิจสร้างรายได้ประจำเป็น 25% ของรายได้รวม โดยเปิดโอกาสลงทุนหลายรูปแบบ นอกเหนือจากการรับงานสัมปทานเหมือนที่ผ่านมา เช่น การลงทุนบริษัทอื่น หรืออาจเป็นการซื้อกิจการที่สร้างรายได้ประจำได้เช่นกัน แต่ความเสี่ยงก็ต้องอยู่ในระดับที่ควบคุมได้

"บริษัทมีนโยบายมานานแล้วเกี่ยวกับแนวทางสร้างรายได้จาก 4 ส่วนหลักคือ G P I R แบ่งเป็น G คืองานรัฐบาล ,P งานเอกชน ,I งานต่างประเทศ และ R คือ Related Business เป็นการเข้าลงทุนธุรกิจเกี่ยวข้อง แม้ว่าวันนี้ยังคงเร็วไปว่าจะตอบว่าเราจะเป็นโฮลดิ้งคอมพานีหรือไม่ แต่ในอนาคตหากสัดส่วนรายได้ประจำจากการลงทุนหลายๆ บริษัทเพิ่มขึ้น ก็มีโอกาสปรับเป็นโฮลดิ้งคอมพานีได้เช่นกัน"นายอภิชาติ กล่าว

*ร่วมถือหุ้น 14% โปรเจ็กต์สัมปทาน 20 ปี มูลค่า 7.5 พันลบ.

นายอภิชาติ กล่าวว่า กลยุทธ์แผนการลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องนั้น ก่อนหน้านี้บริษัทเข้าลงทุนประมาณ 10 ล้านบาทในโครงการให้เอกชนร่วมลงทุนบำบัดน้ำเสียและนำกลับมาใช้ใหม่ (Water Recycling) บริเวณพื้นที่สวนหลวง-สามย่าน ระยะเวลาสัมปทาน 10 ปี โดยรับน้ำทิ้งจากอาคารในพื้นที่ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาใช้รดน้ำต้นไม้ของอุทยานจุฬาฯ 100 ปี แม้ว่าช่วงเริ่มต้นจะเป็นโครงการขนาดไม่ใหญ่ แต่เป็นจุดเริ่มต้นของโมเดลที่ช่วยเสริมสร้างความมั่นคงระยะยาว

และโครงการล่าสุดที่บริษัทเข้าไปร่วมลงทุน คือ โครงการระบบผลิตความเย็นจากส่วนกลาง (District Cooling System) ที่ร่วมลงทุนกับ บมจ.บีซีพีจี (BCPG) และ กลุ่ม"เคพเพล" ขนาดกำลังผลิตติดตั้ง 18,000 ตันความเย็น เพื่อให้บริการในพื้นที่"สวนหลวง-สามย่าน"ครอบคลุมอาคารสำนักงาน ร้านค้าปลีก และที่อยู่อาศัย ซึ่งอยู่ภายใต้โครงการ"เมืองจุฬาฯ อัจฉริยะ"

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวเป็นสัญญาสัมทาน 20 ปี คิดเป็นรายได้รวมตลอดอายุสัมปทานประมาณ 7,500 ล้านบาท หลังจากบริษัทร่วมลงทุนแล้วในสัดส่วน 14% จะเก็บเกี่ยวผลตอบแทนระยะยาว คาดว่าจะเริ่มออกแบบอาคารและระบบผลิตน้ำเย็นช่วงต้นปี 64 ก่อนจะเริ่มต้นก่อสร้างในไตรมาส 3 และ 4 จากนั้นช่วงกลางปี 65 ก็จะเริ่มรับรู้รายได้จากโครงการดังกล่าวอย่างเป็นทางการตลอดอายุสัมปทาน 20 ปี

นายอภิชาติ กล่าวว่า โครงการดังกล่าวเป็นต้นแบบด้านการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม ด้วยพลังงานทดแทน และนวัตกรรมด้านการบริหารจัดการพลังงาน และเป็นก้าวสำคัญของบริษัทในการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างยั่งยืน

"การลงทุนเฟสแรกต้องใช้เงินลงทุนรวม 700 ล้านบาท บริษัทจะลงทุนตามสัดส่วนถือหุ้น 14% คิดเป็นเงินลงทุนประมาณกว่า 100 ล้านบาท ล่าสุดก็อยู่ระหว่างการตัดสินใจว่าแหล่งเงินทุนจะเป็นรูปแบบใด แต่เบื้องต้นคาดว่าจะเป็นลักษณะ "โปรเจ็กต์ไฟแนนซ์" หรือยื่นเงื่อนไขเงินกู้กับสถาบันการเงินน่าจะมีความเหมาะสมมากที่สุด"นายอภิชาติ กล่าว

*ชูกลยุทธ์ลดต้นทุน ปี 63 กำไรลุ้นทุบสถิติสูงสุดอีกครั้ง

นายอภิชาติ กล่าวถึงภาพรวมผลประกอบการปี 63 แม้ว่าจะมีเหตุการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ถ้าในมุมของผลประกอบการโดยรวมแทบจะไม่มีผลกระทบเกิดขึ้นต่อบริษัท สะท้อนจากผลประกอบการไตรมาส 2/63 ยังเติบโตได้ดี ส่วนหนึ่งมาจากนโยบายการบริหารต้นทุนและลดค่าใช้จ่ายอย่างมีนัยสำคัญ และเชื่อว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะต่อเนื่องในช่วงครึ่งหลัง ผลักดันภาพรวมรายได้ตลอดทั้งปี 63 ไม่น่าจะต่ำกว่าปีก่อน เช่นเดียวกับแนวโน้มกำไรสุทธิก็มีโอกาสเติบโตทุบสถิติสูงสุดใหม่อีกครั้งต่อเนื่องจากที่เคยทำได้ในปี 62

"ปัจจุบันบริษัทมีความแกร่งด้านงานที่ปรึกษาด้านวิศวกรรมและสิ่งแวดล้อมในโครงการขนาดใหญ่ที่มีการแข่งขันด้านราคาค่อนข้างน้อย ไม่เหมือนกับธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง เพราะเป็นการยื่นข้อเสนอให้กับผู้ว่าจ้างตัดสินใจ โดยคำนึงถึงคุณภาพ ประสบการณ์ทำงาน และบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเป็นสำคัญ โดยโครงสร้างรายได้ปัจจุบัน แบ่งเป็น โครงการงานภาครัฐ 50% งานภาคเอกชน 30-35% และที่เหลือเป็นโครงการงานในต่างประเทศ 10-15% ของรายได้รวม"นายอภิชาติ กล่าว

*ตุน Backlog 3.5 พันลบ. ลุ้นรัฐคลอดงานใหม่ปลายปี 63

นายอภิชาติ ระบุว่า ปัจจุบันบริษัทมีปริมาณงานในมือ (Backlog) มีมูลค่า 3.5 พันล้านบาท เป็นสัญญาระยะยาวทยอยรับรู้รายได้ต่อเนื่อง 3-4 ปี แบ่งเป็น โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ,โครงการสนามบินอู่ตะเภาขยายรันเวย์เฟส 2 เป็นต้น แต่ละปีบริษัทมีแผนเข้าประมูลงานใหม่เพื่อเข้ามาเสริม Backlog สร้างการเติบโตมั่นคงในอนาคต ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว มีความเป็นไปได้ว่าโครงการใหม่ที่จะทยอยออกจะเป็นส่วนของงานภาครัฐ เนื่องจากเป็นงบลงทุนที่มีความจำเป็นต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ ภายใต้ความเสี่ยงผลกระทบจากการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ที่สร้างความเสียหายต่อเอกชนหลายภาคส่วน

ส่วนโครงการใหม่ที่อยู่ระหว่างติดตามมูลค่าหลายพันล้านบาท เป็นงานที่ปรึกษาและบริหารโครงการ เช่น โครงการก่อสร้างอุโมงค์ยักษ์ระบายน้ำในส่วนงานของกรุงเทพมหานคร ,โครงการอุโมงค์ส่งน้ำของการประปานครหลวง ,โครงการสนามอู่ตะเภา ทั้งนี้ การเปิดยื่นข้อเสนองานใหม่คาดเกิดขึ้นอย่างเร็วที่สุดน่าจะเป็นช่วงปลายปี 63 หรืออย่างช้าน่าจะเห็นได้ภายในไตรมาส 1 หรือไตรมาส 2 ของปี 64

"บริษัทมีความเชื่อมั่นว่าจะได้รับงานโครงการของภาครัฐ แต่ต้องติดตามว่าจะออกมาได้เมื่อใด ซึ่งโครงการขนาดใหญ่จะเข้ามาช่วยเสริมความมั่นคงให้กับ Backlog เพราะส่วนใหญ่เป็นสัญญาระยะยาว 3-4 ปี ส่งผลบวกต่อแผนการรับรู้รายได้ในอนาคต"นายอภิชาติ กล่าว

ด้านแผนขยายงานที่ปรึกษาในต่างประเทศ ปัจจุบันอยู่ระหว่างติดตามแผนการลงทุนบริษัทเอกชนไทยรายใหญ่หลายรายที่มีแผนขยายการลงทุนแถบประเทศ CLMV เช่น โครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังงานน้ำขนาดใหญ่บริเวณแม่น้ำโขงประเทศ สปป.ลาว เป็นต้น ซึ่งข้อดีของการขยายงานในต่างประเทศด้วยการรับงานของเอกชนไทยถือเป็นการป้องกันความเสี่ยงได้ดีระดับหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม หากจะประเมินผลกระทบที่มีความเสี่ยงที่จะกระทบต่อธุรกิจบริษัทคือภาพของเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ส่งผลให้ภาคอสังหาฯ ชะลอการลงทุนในโครงการใหม่ๆด้วย แต่บริษัทมีแนวทางบริหารจัดการด้วยการนำบุคลากรที่เคยทำงานฝั่งเอกชนย้ายเข้ามาช่วยงานฝั่งภาครัฐ ซึ่งสามารถชดเชยผลกระทบได้เป็นอย่างดี ปัจจุบัน TEAMG มีบุคลากรกว่า 1,500 คน ซึ่งบริษัทมีนโยบายพัฒนาบุคลากรมาต่อเนื่อง เพื่อรองรับกับการเพิ่มขึ้นของปริมาณโครงการก่อสร้างในอนาคต

https://youtu.be/564aRVUV_pM


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ