แม้เข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายของปี 63 แต่หุ้นน้องใหม่ยังดาหน้าเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนรัว ๆ เช่นเดียวกับ บมจ.เน็คซ์ แคปปิตอล (NCAP) ที่เพิ่งเคาะกำหนดราคาเสนอขายหุ้นให้กับประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) 300 ล้านหุ้น ราคาหุ้นละ 2.20 บาท เปิดจองซื้อตั้งแต่วันที่ 30 ต.ค.และวันที่ 2-3 พ.ย.63 ก่อนเดินหน้าเข้าซื้อขายในกระดานตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) เป็นวันแรกวันที่ 9 พ.ย.63
เบื้องหลังของ NCAP เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 2 กลุ่มสำคัญ คือ บมจ.คอมเซเว่น (COM7) และ บมจ.ซินเน็ค (ประเทศไทย) (SYNEX) ถือหุ้นเท่า ๆ กันฝ่ายละ 40% ซึ่งภายหลังจาก NCAP เข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯแล้วทั้ง 2 บริษัทจะลดสัดส่วนการถือหุ้นมาเหลือฝ่ายละ 26.67% ส่วนที่เหลือเป็นกลุ่มผู้ลงทุนผ่าน "วิสต้า อินเวสท์เม้นท์ ลิมิเต็ด"ที่ถือหุ้นก่อนและหลัง IPO ที่ 7.50% และ 5% ตามลำดับ
นายสมชัย ลิมป์พัฒนสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร NCAP เปิดเผยกับ "อินโฟเควสท์" ว่า การเดินสายให้ข้อมูลกับกลุ่มผู้ลงทุนในช่วงที่ผ่านมาได้รับการตอบรับที่ค่อนข้างดี แม้ภาพรวมบรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นไทยจะมีความผันผวนจากผลกระทบหลายปัจจัยเสี่ยงที่ฉุดความเชื่อมั่นผู้ลงทุน แต่ส่วนตัวมีความเชื่อว่าการขึ้นหรือลงของราคาหุ้นขึ้นอยู่กับปัจจัยพื้นฐานของผลประกอบการบริษัทเป็นหลัก ซึ่งแนวโน้มผลประกอบการบริษัทมีโอกาสเติบโตในอนาคต
"เมื่อผู้ลงทุนพิจารณาตัวเลขที่ควรจะเป็นตามที่เปิดเผยข้อมูลผ่านไฟลิ่งก็คงจะค่อนข้างสร้างความมั่นใจกับผู้ลงทุนได้ว่าแนวโน้มผลประกอบการบริษัทมีโอกาสเติบโตแบบก้าวกระโดดได้ในอนาคต"นายสมชัย กล่าว
อ้างอิงข้อมูลการกำหนดราคาเสนอขาย IPO ครั้งนี้ กำหนดตามมูลค่าเชิงเปรียบเทียบกับมูลค่าของบริษัทเทียบเคียงที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) และตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) ที่สามารถอ้างอิงได้ (Market Comparable) โดยพิจารณาจากอัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิต่อหุ้นของบริษัท (P/E) ทั้งนี้ ราคาหุ้นสามัญที่เสนอขายหุ้นละ 2.20 บาท คิดเป็นอัตราส่วน P/E เท่ากับ 9.3 เท่า เมื่อเทียบกับกำไรสุทธิที่ 0.24 บาทต่อหุ้น คำนวณจากกำไรสุทธิของบริษัทในช่วง 4 ไตรมาสย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.62 -30 มิ.ย.63
การเสนอขายหุ้น IPO แบ่งจัดสรรให้กับ บุคคลตามดุลยพินิจของผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์จำนวนไม่เกิน 225 ล้านหุ้น หรือคิดเป็นไม่เกิน 75% ของจำนวนหุ้นสามัญเพิ่มทุนที่จะเสนอขายในครั้งนี้ ,ผู้มีอุปการคุณของบริษัทไม่เกิน 45 ล้านหุ้น และกรรมการ ผู้บริหาร พนักงานของบริษัท และบุคคลที่มีความสัมพันธ์กับบริษัท แต่เมื่อรวมกับหุ้นที่จัดสรรให้กับผู้มีอุปการคุณแล้วจำนวนไม่เกิน 75 ล้านหุ้น หรือคิดเป็นไม่เกิน 25% ของจำนวนหุ้นสามัญเพิ่มทุนที่จะเสนอขายในครั้งนี้
*เจาะพอร์ตลิสซิ่งมอเตอร์ไซค์ใหม่มูลค่า 4 พันลบ.
นายสมชัย กล่าวว่า โครงสร้างธุรกิจหลักของ NCAP มุ่งเน้นบริการสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ใหม่ (Hire Purchase) คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 99% ของมูลค่าลูกหนี้ตามสัญญาเช่าซื้อรวม ประกอบด้วย Small bike 57.8% Top small 34.7% Mediam bike 7.4% และ Big bike 0.2% ผ่านตัวแทนจำหน่ายรถเป็นพันธมิตรของบริษัทในพื้นที่ต่างๆราว 600 ราย และสัดส่วนที่เหลือเป็นธุรกิจให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์มือสอง
ปัจจุบัน NCAP มีมูลค่าพอร์ตสินเชื่อรวมอยู่ที่ 4,000 ล้านบาท และมีจำนวนบัญชีราว 100,000 ราย มีสาขารวมทั่วประเทศ 24 แห่งและมีตัวแทนจำหน่ายรถเป็นพันธมิตรประมาณ 600 รายมีความแข็งแกร่งและเป็นผู้นำในพื้นพื้นที่ภาคใต้ พร้อมเตรียมขยายพอร์ตสินเชื่อและการให้บริการไปสู่ภูมิภาคอื่น ๆ เพิ่มอีกในอนาคต
"แผนอนาคต NCAP มีโครงการขยายสาขาตามพื้นที่ต่างจังหวัดและเพิ่มพันธมิตรกับร้านค้าตัวแทนจำหน่ายเพิ่มขึ้นเพื่อครอบคลุมตามจังหวัดหัวเมืองที่สำคัญ เบื้องต้นมีแนวทางขยายสาขาเพิ่มอีก 1 แห่งในปี 64 และเพิ่มอีก 2 แห่งในปี 65"
*ระดมทุนผ่านตลาดหุ้นช่วยลดต้นทุนการเงิน
แผนระดมทุนด้วยเสนอขายหุ้น IPO ครั้งนี้ บริษัทจะนำเงินทุนส่วนหนึ่งไปลงทุนระบบสารสนเทศทุกส่วนงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ได้แก่ ระบบ Mobile Application, ระบบ Credit Scoring และ ระบบการวางแผนทรัพยากรทางธุรกิจขององค์กร (ERP) คาดว่าจะเริ่มใช้อย่างเป็นทางการช่วงต้นปี 64
ส่วนที่เหลือจะนำไปชำระหนี้เงินกู้กับสถาบันการเงิน เพื่อลดอัตราดอกเบี้ยที่เป็นต้นทุนทางการเงินสำคัญ นอกจากนั้นจะนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนและนำไปขยายสินเชื่อใหม่เติบโตต่อเนื่องในปี 64
"ย้อนอดีตต้นทุนทางการเงินของบริษัทอัตราดอกเบี้ยเคยขึ้นไปถึง 4.75% แต่หากเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯแล้วต้นทุนทางการเงินที่เป็นอัตราดอกเบี้ยจะลดลงมาเหลือ 4-4.25% ส่งผลดีต่อศักยภาพทำกำไรของบริษัทในอนาคตจากปัจจุบันบริษัทมีอัตรากำไรขั้นต้นเฉลี่ยอยู่ที่ 19% และอัตรากำไรสุทธิเฉลี่ยอยู่ที่ 12-13% ขณะเดียวกันเป็นส่วนช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับบริษัท และการพัฒนาระบบไอทีหลายภาคส่วนธุรกิจเสริมศักยภาพด้านการให้บริการช่วงชิงความได้เปรียบทางการแข่งขันกับคู่แข่งได้เป็นอย่างดี"นายสมชัย กล่าว
*ปรับโมเดลหลังบ้านพร้อมเบียดขึ้นเบอร์ใหญ่ลิสซิ่งมอไซค์
นายสมชัย กล่าวต่อว่า ภายหลังจากทีมผู้บริหารใหม่เข้ามาก็มองเห็นจุดที่ควรปรับปรุงของหลังบ้าน เช่น กระบวนการจัดเก็บเงินที่ยังไม่ค่อยกระชับ เป็นที่มาการปรับกระบวนการใหม่ตั้งแต่ไตรมาส 3/62 เริ่มจากเข้าไปปรับกระบวนการการจัดเก็บค่าปรับและค่าติดตาม รวมถึงการทำ back debt recovery เป็นสิ่งช่วยผลักดันผลประกอบการพอสมควรสะท้อนจากผลประกอบการ 6 เดือนแรกและ 6 เดือนหลังของปีที่แล้วจะสังเกตเห็นว่าเติบโตขึ้นมาอย่างมีนัยสำคัญ
อย่างไรก็ตาม ผลจากการปรับหลังบ้านและการเพิ่มประสิทธิภาพการปล่อยสินเชื่อจะช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขันและเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดได้ในระยะถัดไปจากปัจจุบันที่บริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาดเป็นอันดับ 5 ในอุตสาหกรรมเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ใหม่ของประเทศ
นายสมชัย ระบุอีกว่า นับว่าเป็นจังหวะที่เหมาะสมหลังจากการปรับหลังบ้านเรียบร้อยแล้ว ทำให้บริษัทสามารถรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 ได้เป็นอย่างดี ผลเชิงบวกต่อการปรับกระบวนการภายในก็สะท้อนจากระดับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ยังทรงตัวได้ระดับกว่า 2% เป็นอัตราที่ต่ำกว่าภาพรวมอุตสาหกรรม
"นอกเหนือจากการปรับกระบวนการทำงานหลังบ้านแล้ว บริษัทก็มามุ่งพัฒนาการกระบวนการหน้าบ้านด้วย เช่น การทำการตลาด ,การให้เครดิตกับลูกค้า โดยดำเนินการควบคู่ไปกับการรักษาคุณภาพสินเชื่อของลูกค้า เป็นที่มาของการลงทุนการทำระบบ Credit Scoring คาดว่าจะสามารถเริ่มใช้อย่างเป็นทางการได้ช่วงต้นปี 64 นั้นแปลว่าการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อจะไม่ได้ถูกตามมาด้วยความเสี่ยงการเร่งตัวของหนี้ NPL อย่างแน่นอน"นายสมชัย กล่าว
*ตลาดมอเตอร์ไซค์ใหม่หดตัวเล็กน้อย
นายสมชัย กล่าวว่า แนวโน้มยอดขายรถจักรยานยนต์ตลอดทั้งปี 63 คาดว่าจะลดลงมาเหลือ 1.5 ล้านคัน จากปีก่อน 1.6 ล้านคัน หรือลดลงราว 7-8% คิดเป็นอัตราการลดลงไม่มากนักหากเปรียบเทียบกับอุตสาหกรรมเช่าซื้อประเภทอื่น โดยเฉพาะตลาดรถยนต์ที่หดตัวอย่างมีนัยสำคัญ
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มทรงตัวในระดับปัจจุบันมีโอกาสยอดขายรถจักรยานยนต์แต่ละปีน่าจะทรงตัวได้ประมาณ 1.6 ล้านคันต่อปี จากในอดีตที่เคยเพิ่มขึ้นไปถึง 2 ล้านคันต่อปี ดังนั้น กลยุทธ์หลักเพื่อรองรับการเติบโตภายใต้สถานการณ์ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ บริษัทจะมุ่งเน้นขยายพื้นที่ให้บริการของกลุ่มลูกค้าใหม่
"โควิด-19 สร้างผลกระทบหลายภาคส่วน ซึ่งต้องยอมรับว่ากระทบต่อยอดการเพิ่มขึ้นของสินเชื่ออย่างมากในเดือน เม.ย. แต่เริ่มเห็นการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วตั้งแต่เดือน พ.ค.เป็นต้นมาถึงปัจจุบัน ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากค่างวดการผ่อนชำระไม่ได้สูงประมาณกว่า 2,000 บาทเท่านั้น และกลุ่มลูกค้าไม่อยากทิ้งรถจักรยานยนต์ของตัวเองที่เป็นเครื่องมือใช้ทำมาหากิน เช่น ธุรกิจขนส่งสินค้าและอาหารที่กำลังเป็นที่นิยมกันอย่างมากในเวลานี้"นายสมชัย กล่าว
https://youtu.be/W8ia7CfFVSQ