บมจ. ปตท. (PTT) แจ้งว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ PTT ครั้งที่ 11/2563 เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2563 ได้อนุมัติการลงทุนในบริษัท โกลบอล รีนิวเอเบิล เพาเวอร์ จำกัด (GRP) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของด้านบมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) และการให้ความช่วยเหลือทางการเงินในรูปแบบเงินกู้ยืมแก่ GRP โดยให้บริษัท ปตท.โกลบอล แมนเนจเมนท์ จำกัด (PTTGM) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ ปตท.เข้าซื้อหุ้นสามัญของ GRP เป็นจำนวน 4,655,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 100 บาท รวมมูลค่าประมาณ 693 ล้านบาท
ภายหลังการซื้อหุ้นดังกล่าว ทำให้ ปตท. ถือหุ้นใน GRP ในสัดส่วน 50% ของทุนจดทะเบียนผ่าน PTTGM และ GPSC ถือหุ้นในสัดส่วน 50% ของทุนจดทะเบียน ภายหลังจากการเข้าทำธุรกรรมการซื้อหุ้นเสร็จสิ้น GRP จะคงสถานะเป็นบริษัทย่อยของ ปตท.
วัตถุประสงค์ในการเข้าซื้อหุ้น GRP เพื่อรองรับการขยายการลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในต่างประเทศ โดยมุ่งเน้นการลงทุนประเภทธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar energy) และธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม (Wind energy)
ทั้งนี้ การเข้าซื้อหุ้นดังกล่าวสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ของกลุ่ม ปตท. ในการเป็นผู้นาในด้านธุรกิจพลังงานหมุนเวียนหรือพลังงานสะอาด ทาให้กลุ่ม ปตท. สามารถขยายธุรกิจ การลงทุน และเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันในธุรกิจพลังงานหมุนเวียน รวมทั้งเพื่อให้กลุ่ม ปตท. บรรลุเป้าหมายกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเป็น 8,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2573
การพิจารณาการดำเนินธุรกิจของ GRP จะอยู่ในอำนาจของคณะกรรมการ GRP ซึ่งแต่งตั้งขึ้นจากตัวแทนร่วมกันของ ปตท. และ GPSC โดยจะปฏิบัติหน้าที่โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของ GRP เป็นสำคัญ ทั้งนี้การเข้าร่วมลงทุนระหว่าง ปตท. และ GPSC ใน GRP นั้นไม่มีผลต่อการดำเนินธุรกิจของ GPSC ในฐานะบริษัทแกนนำธุรกิจไฟฟ้าและสาธารณูปโภค (Power Flagship) ของกลุ่ม ปตท. แต่อย่างใด
นอกจากนี้ คณะกรรมการบริษัทอนุมัติให้ ปตท. ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ GRP ในรูปแบบเงินกู้ยืมผ่านบริษัท ปตท. ศูนย์บริหารเงิน จำกัด (PTT TCC) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ ปตท. ตามสัดส่วนการถือหุ้น ภายหลังจากที่ ปตท. เข้าถือหุ้นใน GRP ในสัดส่วน 50% ผ่าน PTTGM แล้ว โดยมีวงเงินกู้ยืมตามสัดส่วนการถือหุ้นประมาณ 834 ล้านบาท
ด้าน GPSC ระบุว่า ภายใต้ข้อกำหนดในสัญญาซื้อขายหุ้น การซื้อขายหุ้น GRP จะเสร็จสิ้นได้จะขึ้นอยู่กับความสำเร็จของเงื่อนไขบังคับก่อนบางประการ เช่น การที่หน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องได้ยืนยันการรับแจ้งเพื่อทราบ เป็นต้น ซึ่งบริษัทฯ คาดว่าเงื่อนไขบังคับก่อนดังกล่าวจะแล้วเสร็จภายในไตรมาส 1/64 ซึ่งภายหลังจากการเข้าทำธุรกรรมจำหน่ายหุ้นเสร็จสิ้น GRP จะไม่ได้มีสถานะเป็นบริษัทย่อยของบริษัทฯ
การที่ ปตท. เข้าร่วมลงทุนใน GRP จะช่วยสนับสนุนความสามารถของบริษัทฯ ในการลงทุนในธุรกิจพลังงานหมุนเวียน และเพิ่มความแข็งแกร่งของบริษัทฯ ในฐานะแกนนำในการดำเนินธุรกิจไฟฟ้าและสาธารณูปโภคของกลุ่ม ปตท. (PTT Group?s Power Flagship) ในการพัฒนาลงทุนและดำเนินการด้านธุรกิจไฟฟ้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ
นายชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ GPSC กล่าวว่า ความร่วมมือในครั้งนี้ ถือเป็นเป้าหมายในการขับเคลื่อนธุรกิจด้านพลังงานหมุนเวียน ที่จะนำไปสู่การเพิ่มศักยภาพ ความเชี่ยวชาญ และโอกาสในการขยายโครงการใหม่ๆ ในระดับสากล รวมทั้งส่งผลให้ GPSC สามารถบริหารจัดการทางการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีเงินทุนเพื่อใช้ลงทุนในโครงการต่าง ๆ ตามเป้าหมายการเติบโตของบริษัท ที่จะเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหลัก และพลังงานหมุนเวียนทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้ง GPSC ยังคงเป็นแกนนำนวัตกรรมพลังงานไฟฟ้าที่ยั่งยืนของของกลุ่ม ปตท.
ปัจจุบัน GRP ลงทุนในธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และดำเนินธุรกิจบริหารและการบำรุงโรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์ม (Solar Farm) จำนวน 9 โครงการ ตั้งอยู่ในพื้นที่ จังหวัดลพบุรี สุพรรณบุรี พิจิตร และ ขอนแก่น มีกำลังการผลิต 39.5 เมกะวัตต์ โดยมีสัญญาการซื้อขายไฟเป็นระยะเวลา 25 ปี แบ่งเป็น สัญญาซื้อขายไฟฟ้าในรูปแบบส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า หรือ Adder ในอัตรา 8 บาทต่อหน่วย (สำหรับช่วง 10 ปีแรกของสัญญา) ในสัดส่วน 3.6 เมกะวัตต์ และ สัญญาในรูปแบบ Feed-in Tariff หรือ FiT อัตรา 5.66 บาทต่อหน่วย ในสัดส่วน 35.9 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าทั้งหมดมีการเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ไปแล้วตั้งแต่ปี 57-58