บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) หรือ ปตท.สผ. แจ้งว่าปตท.สผ. ได้รับการอนุมัติสิทธิ์การพัฒนาโครงการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติในเมียนมาและได้ลงนามในหนังสืออนุญาตให้เริ่มดำเนินงาน (Notice to Proceed) กับกระทรวงไฟฟ้าและพลังงานเมียนมา (Ministry of Electricity and Energy : MOEE) เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2563
โครงการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติในเมียนมาเป็นการลงทุนด้านพลังงานแบบครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงการผลิตกระแสไฟฟ้า ซี่งประกอบด้วย การสำรวจและการพัฒนาแหล่งผลิตปิโตรเลียม ธุรกิจโรงไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ โครงข่ายระบบท่อส่งก๊าซ ซึ่งจะช่วยเพิ่มความมั่นคงด้านพลังงานแก่ประเทศเมียนมา โดยโครงการดังกล่าวนับเป็นก้าวแรกที่สำคัญของ ปตท.สผ. ที่เป็นการต่อยอดและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจสำรวจและผลิต ซึ่งสอดคล้องกับแผนกลยุทธ์เพื่อความยั่งยืนในระยะยาวของบริษัท
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวมีมูลค่าการลงทุนประมาณ 2 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยเป็นการลงทุนในการพัฒนาแหล่งก๊าซธรรมชาติ โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม (Combined Cycle) ขนาดกำลังการผลิต 600 เมกะวัตต์ (MW) ในเขตไจลัท ภูมิภาคอิรวดี และระบบท่อขนส่งก๊าซฯ ทั้งนอกชายฝั่งและบนบกจากเมืองกันบก-เมืองดอร์เนียน-เมืองไจลัท รวมระยะทางประมาณ 370 กิโลเมตร และการวางระบบสายส่งไฟฟ้าแรงสูงจาก เขตไจลัท ไปยัง เขตลานทายา ในภูมิภาคย่างกุ้ง
โรงไฟฟ้าดังกล่าวจะใช้ก๊าซจากแหล่งก๊าซธรรมชาติที่ ปตท.สผ. มีการลงทุนอยู่แล้ว ได้แก่ โครงการซอติก้า และโครงการเมียนมา เอ็ม 3 โดยกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้ จะจำหน่ายให้กับหน่วยงานด้านไฟฟ้าของประเทศเมียนมา (Electric Power Generation Enterprise หรือ EPGE) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจภายใต้ MOEE โดยสัญญาซื้อขายก๊าซฯ มีระยะเวลา 20 ปี และสามารถต่ออายุสัญญาได้ 5 ปี นับจากวันเริ่มขายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD)
ปตท.สผ. คาดว่าจะสามารถประกาศการตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้าย (FID) ของโครงการได้ภายในปี 2565 กำลังการผลิตไฟฟ้าจากโครงการนี้จะสามารถรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าคิดเป็นสัดส่วน 10% ของกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมในประเทศเมียนมา
นายพงศธร ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ปตท.สผ. กล่าวว่า การลงนามในหนังสืออนุญาตให้เริ่มดำเนินงานของโครงการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติในเมียนมา เพื่อนำก๊าซธรรมชาติจากโครงการผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวเมาะตะมะ ซึ่ง ปตท.สผ. เป็นผู้ดำเนินการมาใช้ในการผลิตไฟฟ้าในราคาที่เหมาะสมให้กับประเทศเมียนมา โดยเริ่มแรกจะนำก๊าซฯ จากโครงการซอติก้า และโครงการเมียนมา เอ็ม 3 มาใช้ในการผลิตไฟฟ้าในโครงการดังกล่าว
"การได้รับสิทธิ์ให้ดำเนินการในโครงการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติในเมียนมา ถือเป็นก้าวสำคัญของบริษัทในการเข้าไปลงทุนธุรกิจก๊าซธรรมชาติครบวงจรในเมียนมา ตามแผนกลยุทธ์ "Execute & Expand" ซึ่งจะสร้างการเติบโตอย่างมั่นคงให้กับ ปตท.สผ. ในระยะยาว โครงการนี้ยังช่วยเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับเมียนมาตามแผนการพัฒนาอย่างยั่งยืนและแผนแม่บทด้านพลังงานของรัฐบาลเมียนมาที่ต้องการให้ทุกครัวเรือนสามารถเข้าถึงไฟฟ้าได้ภายในปี 2573"นายพงศธร กล่าว