เกาะติดกับกระแสความร้อนแรงหุ้น บมจ.ชโย กรุ๊ป (CHAYO) ภายหลังจากมีประเด็นร้อนจากการที่นายสุขสันต์ ยศะสินธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร CHAYO ทำรายการชขายหุ้นบิ๊กล็อตให้กับนายสุระ คณิตทวีกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.คอมเซเว่น (COM7) และผู้ถือหุ้นใหญ่ใน บมจ.เน็คซ์ แคปปิตอล (NCAP) กับ นพ.พงศ์ศักดิ์ ธรรมธัชอารี นักลงทุนรายใหญ่ในจำนวนเท่าๆ กัน คือ 33,500,000 หุ้น คิดเป็น 4.75% ของหุ้นที่ชำระแล้ว ในราคา 7.65 บาท ส่งผลให้นายสุขสันต์ ถือหุ้นเหลือ 42.99% จาก 52.49% และเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการถือหุ้น
นายสุขสันต์ ยศะสินธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร CHAYO เปิดเผยกับ "อินโฟเควสท์" ว่า ภายหลังจากที่บริษัทย้ายเข้ามาจดทะเบียนในกระดาน SET เมื่อปลายปี 63 ทำให้บริษัทเป็นที่รู้จักมากขึ้น สะท้อนจากความสนใจของบรรดาผู้ลงทุนสถาบันรายใหญ่ และบรรดานักวิเคราะห์ของสถาบันใหญ่หลายรายเข้ามาสอบถามข้อมูลของบริษัทเพิ่มขึ้น เป็นประโยชน์ต่อการเติบโตของบริษัทตามที่เจตนาของผู้ถือหุ้นใหญ่และคณะกรรมการบริษัท
สำหรับดีลขายบิ๊กล็อตแม้ว่าจะทำให้ต้องลดสัดส่วนถือหุ้นใหญ่ลงเหลือกว่า 42% แต่ก็ไม่ได้กระทบต่อนโยบายการดำเนินธุรกิจ และในอนาคตหากมีพันธมิตรที่สามารถเข้ามาช่วยต่อยอดสร้างการเติบโตให้บริษัท ก็อาจพิจารณาให้เข้ามาร่วมเป็นผู้ถือหุ้นได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม คงจะไม่ใช้วิธีเพิ่มทุนเสนอขายให้ผู้ลงทุนเป็นการเฉพาะเจาะจง (PP) เพราะจะกระทบต่อผู้ถือหุ้นเดิมที่จะต้องโดนลดสัดส่วนความเป็นเจ้าของ
"ยอมรับว่าคุณสุระเป็นคนเก่ง และคุณหมอพงศ์ศักดิ์ก็เป็นคนเก่ง คือถ้าชี้แนะเรื่องธุรกิจเราก็พร้อมรับฟัง ซึ่งรวมถึงผู้ถือหุ้นใหญ่ท่านอื่นๆ อย่างอาจารย์ไพบูลย์ เสรีวิวัฒนา หรือแม้แต่คุณฤทธิรงค์ ท่านก็ให้คำแนะนำเป็นสิ่งที่ดีกับบริษัท ดังนั้นผมก็มองว่าการขายหุ้นให้กับคุณสุระและคุณหมอพงศ์ศักดิ์ เป็นสิ่งที่ดีช่วยสร้างการเติบโตบริษัทในอนาคต"นายสุขสันต์ กล่าว
โมเดลธุรกิจที่จะมาต่อยอดร่วมกับนายสุระ ในฐานะผู้บริหาร COM7 และ NCAP นั้น เบื้องต้นคงต้องมาดูรายละเอียดว่าธุรกิจของคุณสุระ มีการปล่อยสินเชื่อรูปแบบใดบ้างซึ่งบริษัทก็จะเข้าไปช่วยติดตามหนี้ รวมถึงเติมเต็มในส่วนของใบอนุญาตด้านธุรกิจไฟแนนซ์ทั้งของ COM7 และ NCAP เพื่อให้สามารถบรรลุสู่เป้าหมายการเติบโตร่วมกันในระยะยาว คาดว่าจะเริ่มพิจารณาโมเดลธุรกิจร่วมกันเพื่อหาความชัดเจนอีกครั้งช่วงปลายไตรมาส 1/64
ส่วนแผนการเติบโตปี 64 บริษัทตั้งเป้ารายได้รวมจะเติบโต 25% มาจากการเติบโตในทุกธุรกิจหลัก ประกอบด้วย ธุรกิจรับจ้างติดตามหนี้ ,ธุรกิจสินเชื่อ ,และธุรกิจขายสินค้าออนไลน์ เป็นต้น ปัจจุบันพอร์ตบริหารหนี้ด้อยคุณภาพของบริษัทอยู่ที่ 6.3 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นหนี้ไม่มีหลักประกัน 4-5 หมื่นล้านบาท และอีก 1.6-1.7 หมื่นล้านบาทเป็นหนี้ที่มีหลักประกัน
นอกจากนี้ บริษัทอยู่ระหว่างเตรียมเดินหน้าธุรกิจใหม่ที่จะสร้างการเติบโตให้กับบริษัทอย่างมีนัยสำคัญคือการขยายธุรกิจซื้อหนี้เข้ามาบริหารเพิ่มเติม ด้วยการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนภายใต้ บริษัท ชโย เจวี จำกัด ล่าสุดอยู่ระหว่างรอใบอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เบื้องต้นบริษัทจะถือหุ้นไม่ต่ำกว่า 55% และที่เหลืออีก 45% เป็นกลุ่มผู้ลงทุนทั่วไป โดยแบ่งเป็นเงินลงทุนที่ใช้จัดตั้งบริษัทคาดมีทุนจดทะเบียนประมาณ 200 ล้านบาท และมีเงินลงทุนเพิ่มเติมนำไปใช้ขยายธุรกิจซื้อหนี้เข้ามาบริหารประมาณกว่า 1 พันล้านบาท
ด้านแผนระยะยาว 3 ปี (64-66) ข้างหน้าหากบริษัทเติบโตเฉลี่ย 25-30% ต่อปีก็คาดว่าจะทำให้รายได้ของบริษัทเติบโตเป็น 100% หรือเติบโตเป็นเท่าตัว
"ธุรกิจซื้อหนี้ในบริษัท ชโย เจวี เราจะเน้นซื้อหนี้ที่มีหลักประกันเข้ามาบริหาร ซึ่งหากดำเนินการ ชโย เจวี เสร็จสมบูรณ์แล้วจากเดิมที่ CHAYO จะเติบโต 25% ก็จะสร้างการเติบโตให้กับ CHOYO ได้มากกว่าเป้าหมายอย่างมีนัยสำคัญ"นายสุขสันต์ กล่าว
https://youtu.be/B3c4wuXNtZQ