ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)ขอให้ บมจ.อินเตอร์แนชั่นเนิลเอนจิเนียริง(IEC) ชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการขายเงินลงทุนทั้งหมดที่ถือในบริษัท คริสตัล อะโกร จำกัด(CTA) ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในประเทศกัมพูชา ภายในวันที่ 20 กันยายน 2550
สืบเนื่องจากที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท IEC มีมติอนุมัติให้ขายเงินลงทุนทั้งหมดที่ถือใน CTA โดย IEC และนายสุวิทย์ วิชชาวุธ ซึ่งเป็นบุคคลใกล้ชิดในอดีตกับกรรมการ IEC ท่านหนึ่ง ถือหุ้น CTA ฝ่ายละ 50% ของทุน 1 ล้านเหรียญสหรัฐ ขายให้พันตรีอายุพันธ์ กรรณสูต ในราคาหุ้นละ 1,000 เหรียญสหรัฐ รวม 0.5 ล้านเหรียญสหรัฐ
จากการพิจารณาข้อมูลการขายหุ้น CTA ข้างต้น ตลท.พบว่ายังมีข้อมูลสำคัญที่มิได้เปิดเผยครบถ้วนเพียงพอในประเด็นเกี่ยวกับ
วัตถุประสงค์การขายหุ้น CTA เนื่องจาก IEC เคยแจ้งว่าการลงทุนใน CTA เพื่อลงทุนในธุรกิจเพาะปลูกพืชเพื่อเป็นวัตถุดิบผลิตเอทานอล ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนการลงทุนในธุรกิจพลังงานทดแทนและจะได้ผลกำไรจากการขายต้นไม้
และ ภาระผูกพันธุรกรรมการซื้อขายต้นไม้ระหว่าง IEC CTA และ บริษัทสยามสโตน อาร์คิเทคจำกัด (SSA) กล่าวคือ เมื่อเดือนมิถุนายน 2549 IEC ได้ทำสัญญาซื้อต้นไม้กับ CTA 60 ล้านบาท และในเดือนเดียวกัน IEC ได้ทำสัญญาขายต้นไม้ให้แก่ SSA ในราคา 220 ล้านบาท โดย IEC ได้จ่ายเงินค่าซื้อต้นไม้ให้ CTA ทั้งจำนวนแล้ว ภายใต้เงื่อนไขว่า CTA ได้ส่งมอบต้นไม้ให้ IEC แล้วตั้งแต่ 1 สิงหาคม 2549 ทั้งนี้ IEC ตกลงให้ SSA มีหน้าที่ต้องตัดและชักลากไม้ออกจากพื้นที่สัมปทานให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปีนับจากวันที่ 1 สิงหาคม 2549 โดย SSA ออกค่าใช้จ่ายเอง
อย่างไรก็ตาม SSA ได้จ่ายเงินค่าต้นไม้แก่ IEC เพียง 50 ล้านบาท คงเหลือ 170 ล้านบาท ที่เดิมครบกำหนดชำระภายใน 15 มกราคม 2550 และ IEC จะพิจารณาปรับเปลี่ยนการจ่ายเงินค่าไม้ 170 ล้านบาทต่อไป โดย IEC ให้เหตุผลว่า CTA ยังอยู่ระหว่างจัดทำรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIA)เพื่อขออนุญาตหน่วยงานทางการของกัมพูชาในการตัดและชักลากไม้ออกจากพื้นที่ ซึ่งคาดว่าผล
การศึกษาจะแล้วเสร็จภายในสิงหาคม 2550 และหน่วยงานทางการกัมพูชาจะอนุมัติภายในพฤศจิกายน 2550
ทั้งนี้ IEC ได้จ่ายเงินให้ CTA ในระหว่างปี 2549 รวม 83 ล้านบาท ประกอบด้วย เงินทดรองจ่ายแก่ CTA 20 ล้านบาท ซึ่งต่อมา IEC ได้แปลงเป็นทุน (0.5 ล้านเหรียญสหรัฐ) ค่าซื้อต้นไม้ 60 ล้านบาทและเงินให้กู้ยืมระยะสั้นแก่ CTA 3 ล้านบาท นอกจากนั้น ผู้สอบบัญชีของ IEC แสดงความเห็นอย่างมีเงื่อนไขเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายของ CTA ว่าไม่มีเอกสารประกอบ และไม่สามารถสอบทานความเหมาะสมของต้นทุนสัมปทานป่าไม้ได้ โดยผู้บริหารของ IEC อยู่ระหว่างติดตามเอกสารประกอบที่เกี่ยวข้อง
ดังนั้น ตลท.ถึงขอให้ IEC ชี้แจงเพิ่มในประเด็น เหตุผลและความจำเป็นในการขายหุ้น CTA โดยเปรียบเทียบเหตุผลและความจำเป็นระหว่างความเห็นที่ประชุมคณะกรรมการเมื่อ 14 กันยายน 2550 กับข้อมูลที่ IEC เคยแจ้งว่า IEC ลงทุนใน CTA เพื่อรองรับแผนงานที่จะลงทุนในโครงการสัมปทานเพาะปลูกพืชในกัมพูชา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนลงทุนธุรกิจพลังงานทดแทน และ อธิบายผลกระทบต่อผู้ถือหุ้น IEC และผลกระทบต่อแผนการลงทุนในธุรกิจพลังงานทดแทน
นอกจากนั้น ยังต้องการทราบว่า IEC มีภาระค่าใช้จ่ายอื่นใดในการตกลงขายหุ้น CTA หรือไม่ ในกรณีที่มีค่านายหน้าการซื้อขาย ให้ระบุชื่อ ความสัมพันธ์กับผู้บริหารของบริษัทและ/หรือบริษัท ทั้งในด้านการมีผู้ถือหุ้น กรรมการ หรือผู้บริหารร่วมกัน ชื่อผู้ถือหุ้น (Ultimate Shareholders) สัดส่วนการถือหุ้น และ/หรือตำแหน่งของบุคคลที่มีความสัมพันธ์กับบริษัท
รวมทั้ง ภาระผูกพันการซื้อขายต้นไม้ระหว่าง IEC CTA และ SSA โดยการขายหุ้น CTA มีผลต่อภาระผูกพันการส่งมอบต้นไม้ หรือไม่ อย่างไร ซึ่งรวมถึงการได้รับเงินส่วนที่เหลือจาก SSA 170 ล้านบาท
แนวทางดำเนินการเพื่อรองรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในกรณีที่ SSA ไม่สามารถตัดและชักลากไม้ภายใน 2 ปี หรือภายใน 1 สิงหาคม 2551 ตามแผนงานที่กำหนดไว้ หากเกิดกรณีดังกล่าว IEC ต้องคืนเงินล่วงหน้าค่าขายต้นไม้ให้ SSA 50 ล้านบาท หรือไม่ เพราะเหตุใด และ IEC สามารถเรียกร้องเงินค่าซื้อต้นไม้ 60 ล้านบาท คืนจาก CTA หรือไม่ เพราะเหตุใด
ตลท.ยังขอทราบผลการศึกษา EIA ซึ่ง IEC คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในสิงหาคม 2550 รวมทั้ง การชำระหนี้และภาระค้ำประกันของ CTA ซึ่งงบการเงินไตรมาสที่ 2 ปี 2550 ระบุว่า IEC มีลูกหนี้อื่นและเงินให้กู้ยืมระยะสั้นแก่ CTA 3.78 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 7.5%ต่อปี กำหนดชำระคืนเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยเมื่อทวงถาม ขอให้ชี้แจงความคืบหน้าการชำระเงิน และแนวทางการติดตามการชำระหนี้ รวมทั้ง IEC มีภาระค้ำประกันหรือภาระอื่นใดกับCTA หรือไม่ อย่างไร
--อินโฟเควสท์ โดย ศศิธร ซิมาภรณ์ โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--