นายติยะชัย ชอง กรรมการผู้จัดการ บลจ.ฟิลลิป เปิดเผยว่า บริษัทได้ออกกองทุนใหม่ คือ กองทุนเปิดฟิลลิป ไชน่า กรีน เอ็นเนอร์จี แอนด์ เอ็นไวรอนเมนท์ หรือ P-CGREEN ทั้งนี้ จะเปิดเสนอขายครั้งแรก (IPO) ตั้งแต่วันที่ 16-26 เม.ย.64 โดยลงทุนขั้นต่ำ 1,000 บาท
กองทุน P-CGREEN เป็นกองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนในหน่วยลงทุนกองทุนรวมอีทีเอฟต่างประเทศเพียงกองเดียวไม่น้อยกว่า 80% คือ KraneShares MSCI China Environment ETF (KGRN) ที่อ้างอิงดัชนี MSCI China IMI Environment 10/40 Index ซึ่งเป็นผู้ให้บริการดัชนีและการวิจัย ESG ที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีสินทรัพย์อ้างอิงรวมกว่า 108 พันล้านดอลล่าสหรัฐ โดย KraneShares เป็นพาร์ทเนอร์กับ CICC ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำด้านการเงินของประเทศจีนที่เชี่ยวชาญด้านงานวิจัย
สำหรับ KGRN เป็นอีทีเอฟเน้นลงทุนในตราสารทุนที่มีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีการรักษาสิ่งแวดล้อมทั้งหมดในประเทศจีน ภายใต้ 5 ธีมการลงทุนหลักคือ พลังงานทางเลือก อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า การจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน การป้องกันมลพิษ และอาคารสีเขียว โดยลงทุนทั้ง Value Chain คือลงทุนทั้งธุรกิจหลักและธุรกิจที่สนับสนุนสินค้าหรือบริการที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยงไปในตัวอีกด้วย โดยผลตอบแทนย้อนหลัง 1 ปีอยู่ที่ 134.94% (ข้อมูล ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564)
ปัจจุบันธีมการลงทุนในพลังงานสะอาดเป็นเมกะเทรนด์ที่กำลังเติบโตทั่วโลกมาสักระยะแล้ว แต่หากเจาะลึกเป็นภูมิภาคจะเห็นว่าประเทศจีนมีการเติบโตแบบก้าวกระโดดที่สูงที่สุดในโลก ด้วยเพราะ 2 ปัจจัยหลัก หนึ่งคือ การได้รับแรงสนับสนุนอย่างจริงจังจากรัฐบาลจีน โดยมีนโยบายและเป้าหมายรักษาสิ่งแวดล้อมที่ชัดเจน โดยจีนสามารถทำตามเป้าหมายที่วางไว้ในแผนนโยบาย 5 ปีฉบับที่แล้วได้สำเร็จ (National Five-Year Plan 2016-2020) เช่น การเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน การลดปริมาณการปล่อยคาร์บอน มีปริมาณการใช้พลังงานลดลง เป็นต้น โดย 3 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลจีนได้ทุ่มงบประมาณ 3.6 แสนล้านดอลล่าร์สหรัฐเพื่อลงทุนในพลังงานหมุนเวียน ตั้งเป้าสร้างโรงงานพลังงานแสงอาทิตย์พลังงานลมขนาด 1200 กิกะวัตต์ภายในปี 2030 (เทียบเท่ากำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งระบบของสหรัฐอเมริกา)
ปัจจัยที่สองคือ ภาคธุรกิจของจีนมีศักยภาพเติบโตสูง โดยปัจจุบันจีนเป็นผู้นำในการด้านการผลิตและติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ คิดเป็นสัดส่วน 72% ของโลก และเป็นผู้ผลิตพลังงานจากกังหันลม 50% ของโลก นอกจากนี้ยังมีมูลค่าการลงทุนในธุรกิจรีไซเคิลน้ำเสีย ที่คาดว่าจะเติบโต 8.9-14.1 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐในปี 2021-2025 ด้านธุรกิจอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ประเทศจีนถือว่าเป็นต้นน้ำของชิ้นส่วนสำคัญของรถยนต์ไฟฟ้า โดยเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่ลิเที่ยมกว่า 77% ของโลก และจีนยังเป็นแหล่งแร่ Rare earth ที่สำคัญ ซึ่งแร่เหล่านี้เป็นวัตถุดิบจำเป็นสำหรับมอเตอร์ EV และเครื่องกำเนิดพลังงานหมุนเวียน
นอกจากนี้ สภาพสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะตามเมืองใหญ่ของจีน เช่น เซี่ยงไฮ้เมืองเดียวผลิตขยะมากถึง 26,000 ตันต่อวัน หรือคุณภาพของน้ำบาดาลมีเพียง 14.40% ที่อยู่ในมาตรฐานระดับ 1-3 ที่สามารถใช้สำหรับอุปโภคบริโภคได้ คาดว่ามูลค่าการลงทุนในธุรกิจรีไซเคิลน้ำเสียของทั้งประเทศจีนจะเติบโต 8.9-14.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2021-2025 จากข้อมูลที่กล่าวมานี้ ทำให้ทาง บลจ.ฟิลลิป มีความมั่นใจว่า เทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อมในประเทศจีนจะยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก
"อย่างไรก็ตาม นักลงทุนอาจจะมีความกังวลด้วยช่วงนี้ตลาดหุ้นจีนมีความผันผวนสูง แต่ถ้ามีเป้าหมายลงทุนระยะยาวในธุรกิจที่เป็นเมกะเทรนด์โดยเฉพาะเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อมในประเทศจีน ที่มีพลังขับเคลื่อนทั้งจำนวนประชากร เศรษฐกิจที่กำลังรุ่งเรือง มีทรัพยากรมากพอ มีเทคโนโลยีชั้นสูงที่สามารถเป็นผู้กำหนดมาตรฐานโลกได้ รวมถึงศักยภาพของรัฐบาลจีนที่สนับสนุนเรื่องนี้อย่างจริงจัง ช่วงเวลาที่ตลาดปรับลงมาแล้ว ถือเป็นโอกาสที่น่าเข้าลงทุนในธุรกิจเหล่านี้" นายติยะชัย กล่าว