บมจ.เอเชีย เอวิเอชั่น (AAV) เปิดเผยว่าในไตรมาส 2 ปี 2564 มีรายได้รวมทั้งสิ้น 1,080.7 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 51 จากไตรมาส 2 ปี 2563 ที่เท่ากับ 2,221.0 ล้านบาท ขณะที่มีค่าใช้จ่ายรวมทั้งสิ้น 3,894.0 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 3 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ใน ไตรมาส 2 ปี 2564 ส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นของบริษัทมีขาดทุนสุทธิจำนวน 1,691.9 ล้านบาท จากขาดทุนสุทธิจำนวน 1,141.3 ล้านบาท ในช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้มีขาดทุนต่อหุ้นขั้นพื้นฐานอยู่ที่ 0.3488 บาท
แต่มีผลกำไรในงบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จอื่นจากการป้องกันความเสี่ยงกระแสเงินสดสุทธิภาษีเงินได้จำนวน 7.0 ล้านบาท ทำให้มีผลขาดทุนในงบกำไรเบ็ดเสร็จรวมในส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นของบริษัทจำนวน 1,688.0 ล้านบาท จากขาดทุนในไตรมาส 2 ปี 2563 ทีเท่ากับ 665.7 ล้านบาท
โดยหลักจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า (โควิด-19) ที่รุนแรง ส่งผลกระทบโดยตรงต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวและสายการบิน ทั้งนี้ในไตรมาส 2 บจ.ไทยแอร์เอเชีย (TAA) มีจำนวนผู้โดยสาร 721,794 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 155 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หนุนจากความต้องการเดินทางในเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ และเป็นผลมาจากการหยุดให้บริการบินชั่วคราวในปีที่แล้ว ส่งผลให้มีอัตราขนส่งผู้โดยสารอยู่ที่ร้อยละ 61 เพิ่มจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่ร้อยละ 52
นายสันติสุข คล่องใช้ยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เอเชีย เอวิเอชั่น และ บจ.ไทยแอร์เอเชีย กล่าวว่า ผลประกอบการไตรมาส 2 ปี 2564 AAV ยังไม่สามารถเติบโตได้ตามแผน โดยหลักมาจากปัจจัยภายนอก เช่น สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศที่รุนแรงเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้ แม้เราจะพยายามทุกวิถีทางในการปรับตัว ไม่ว่าจะเป็นการบริหารจัดการต้นทุนเพื่อรักษากระแสเงินสด รวมทั้งการจัดหาแหล่งเงินทุนจากหลายช่องทาง ทั้งแผนการกู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างกิจการ ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการ และเงินกู้ยืมเพื่อรักษาสภาพการจ้างงานพนักงานจากภาครัฐที่ยังไม่ได้ข้อสรุป
"ในเดือนเมษายน 2564 เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่และสายพันธุ์ที่หลากหลาย ส่งผลต่อการดำเนินงานในเดือนพฤษภาคมและมิถุนายนอย่างชัดเจน ส่งผลให้สายการบินจึงจำเป็นต้องปรับลดและจัดการปริมาณเที่ยวบินอย่างเหมาะสม เพื่อให้มีเงินหมุนเวียนเสริมสภาพคล่องธุรกิจ ควบคู่กับการประคองผลประกอบการทั้งในระยะสั้นและระยะยาว" นายสันติสุขกล่าว
สำหรับผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งปีแรกปี 2564 บมจ. เอเชีย เอวิเอชั่น มีรายได้รวมทั้งสิ้น 2,431.4 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 75 จาก ช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่มีค่าใช้จ่ายรวมทั้งสิ้น 8,451.1 ลดลงร้อยละ 34 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ในครึ่งปีแรกปี 2564 มีขาดทุนสุทธิสำหรับงวดในส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นของบริษัทจำนวน 3,556.5 ล้านบาท จากขาดทุน 1,812.8 ล้านบาท ในครึ่งปีแรกปี 2563 และมีขาดทุนต่อหุ้นขั้นพื้นฐานอยู่ที่ 0.7333 บาท และมีผลกำไรในงบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จอื่นจากการป้องกันความเสี่ยงกระแสเงินสดสุทธิภาษีเงินจำนวน 199.9 ล้านบาท ส่งผลให้มีขาดทุนเบ็ดเสร็จรวมสำหรับงวดในส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นของบริษัทจำนวน 3,446.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากครึ่งปีแรกปี 2563 จำนวน 2,677.6 ล้านบาท
บจ. ไทยแอร์เอเชีย ซึ่งเป็นบริษัทย่อย คาดการณ์ผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งปีหลังจะทรงตัวอย่างประคับประคองจากการที่ภาครัฐบาลได้ ออกมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดอย่างเข้มงวดและสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ได้ประกาศห้ามบินรับส่งผู้โดยสารในประเทศพื้นที่ควบคุมสูงสุด เริ่มตั้งแต่ 21 กรกฎาคม เป็นต้นไปโดยไม่มีกำหนด ดังนั้น บจ.ไทยแอร์เอเชีย จึงประกาศหยุดให้บริการในทุกเส้นทางบิน ภายในประเทศชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 12 - 31 สิงหาคม 2564 เพื่อให้ความร่วมมือกับรัฐบาลในการช่วยกันป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19
อย่างไรก็ดี บจ. ไทยแอร์เอเชีย ยังเน้นการเติบโตในธุรกิจที่ไม่เกี่ยวข้องกับการบิน(Non-airline Business) โดยเพิ่มศักยภาพธุรกิจขนส่งทางอากาศโดยการนำเครื่องบินมาใช้ในการขนส่งทางอากาศอย่างเดียว เพื่อรองรับธุรกิจอีคอมเมิร์ซและความต้องการขนส่งสินค้าโดยรวม นอกจากนี้ หน่วยธุรกิจด้านดิจิทัลภายใต้กลุ่มแอร์เอเชียได้ผนึกกำลังกับโกเจ็กแพลตฟอร์มบริการด้านอีคอมเมิร์ซและการชำระเงินผ่านมือถือชั้นนำของอาเซียนผ่านการเข้าซื้อกิจการของโกเจ็กส่วนที่ดำเนินการอยู่ในประเทศไทย เพื่อที่จะเสริมศักยภาพและสร้างระบบนิเวศธุรกิจของกลุ่มแอร์เอเชีย โดยในประเทศไทยนั้น airasia super app จะเริ่มเปิดตัว airasia food และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ภายในครึ่งปีหลังนี้
นายสันติสุข กล่าวว่า สำหรับครึ่งหลังปี 2564 ในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม เราได้รับสัญญาณที่ดีจากนโยบายในการเริ่มเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ผ่านทาง ภูเก็ต แซนด์บอกซ์ ซึ่งทำให้เราปรับเพิ่มเที่ยวบินเข้าและออกภูเก็ต แต่หลังจากนั้นสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยกลับมารุนแรงมากขึ้น และแผนการกระจายฉีดวัคซีนทั่วประเทศยังช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ นอกจากนี้สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยได้ประกาศให้ทุกสายการบินห้ามทำการบินเข้าและออกในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด สายการบินจึงต้องประกาศหยุดบินชั่วคราวทุกเส้นทางอีกครั้ง ในช่วงกลางเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม พร้อมปรับแผนกลยุทธ์ในการประคองธุรกิจ เสริมด้วยโอกาสใหม่ในธุรกิจอีคอมเมิร์ช และธุรกิจขนส่งทางอากาศ ที่เห็นการเติบโตอย่างโดดเด่น
นายสันติสุขกล่าวว่า การที่กลุ่มแอร์เอเชียได้เข้าซื้อกิจการของ Gojek ประเทศไทย และเริ่มเปิดให้บริการผ่าน airasia super app ถือเป็นการตอกย้ำว่าต่อจากนี้แอร์เอเชียจะไม่ใช่แค่สายการบิน จะมีสินค้าบริการใหม่ๆ ตอบสนองทุกไลฟ์สไตล์ สร้างระบบนิเวศธุรกิจต่อยอดได้หลากหลายมากขึ้น ผ่านแบรนด์แอร์เอเชียที่แข็งแกร่ง รวมทั้งการพัฒนาด้านการขนส่งทางอากาศอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งมีอนาคตที่ดีและสามารถสร้างรายได้หมุนเวียนให้กับธุรกิจน่าพอใจ
"โจทย์สำคัญที่สุดในครึ่งปีหลัง คือการสร้างวินัยทางการเงินและเสริมสภาพคล่องในธุรกิจ พร้อมประเมินความเสี่ยงอยู่ตลอด ซึ่งเราเชื่อว่านโยบายระยะสั้นต่างๆ ที่เราออกไป จะช่วยลดผลกระทบจากสถานการณ์ภายนอกที่เกิดขึ้นได้ดี อย่างไรก็ตาม การท่องเที่ยวเดินทางเป็นสิ่งที่ไม่มีอะไรมาทดแทนได้ ช่วงเวลานี้ทุกคนต้องช่วยกันดูแลตัวเอง และเมื่อโอกาสมาถึง จะมีความต้องการเดินทางจำนวนมาก ซึ่งไทยแอร์เอเชียก็พร้อมกลับมาเติบโตได้อย่างมั่นคงอีกครั้ง" นายสันติสุขกล่าว
จากรายงานเดือนสิงหาคม 2564 ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) คาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2564 มีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 0.7 ลดลงจากประมาณการในเดือนมิถุนายน 2564 ที่ร้อยละ 1.8 จากการระบาดของโควิด-19 รอบที่สามที่ยืดเยื้อและรุนแรงมากกว่าที่ประเมินไว้ มีจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันเร่งสูงขึ้น โดยเฉพาะสายพันธุ์ Delta ที่มีความรุนแรงส่งผลให้มีมาตรการควบคุมที่เข้มงวดขึ้น และทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจ การบริโภคภาคเอกชน และแนวโน้มนักท่องเที่ยวต่างชาติปรับตัวลง
อย่างไรก็ดีภาครัฐได้มีการออกมาตรการสนับสนุน รวมถึงการส่งออกยังขยายตัวได้ดีหนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ อีกทั้ง ธปท. คาดการณ์ภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวช้าโดยประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2564 ไว้ 2 กรณี ในกรณีฐานจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวน 0.15 ล้านคน และกรณีที่แย่ที่สุด จะมีนักท่องเที่ยวเพียงจำนวน 0.10 ล้านคน ภายใต้สมมติฐานที่สถานการณ์แพร่ระบาดในประเทศสามารถควบคุมได้และ ทยอยผ่อนคลายมาตรการในช่วงต้นและช่วงปลายไตรมาส 4 ปีนี้ ตามลำดับ ทั้งนี้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจอาจมีความล่าช้าออกไปจากปัจจัยความเสี่ยง อาทิเช่น สถานการณ์การแพร่ระบาดภายในประเทศ การเลื่อนระยะเวลาการเปิดประเทศ ประสิทธิภาพและความล่าช้าในการกระจายวัคซีน