บมจ.เจมาร์ท (JMART) และ บมจ.ซิงเกอร์ประเทศไทย (SINGER) ออกหุ้นเพิ่มทุนเปิดทางให้กลุ่ม บมจ.บีทีเอส โฮลดิ้งส์ กรุ๊ป (BTS) เข้าถือหุ้นผ่าน บมจ.วีจีไอ โกลบอล (VGI) บมจ.ยูซิตี้ (U)
ทั้งนี้ JMART แจ้งว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทมีมติอนุมัติให้ลดทุนจดทะเบียนจาก 1,159,077,312 บาท เป็น 1,159,060,943 บาท จากนั้นให้เพิ่มทุนจดทะเบียน 384,803,597 บาท เป็น 1,543,864,540 บาท โดยการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 384,803,597 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1.00 บาท
- จัดสรรรจำนวน 342,361,387 หุ้น เพื่อเสนอขายแบบเฉพาะเจาะจงให้แก่บุคคลในวงจำกัด (PP) ในราคาหุ้นละ 30.3370 บาท คิดเป็นมูลค่า 10,386,217,397.42 บาท โดยเสนอขายให้ บมจ.วีจีไอ (VGI) จำนวน 206,241,800 หุ้น คิดเป็นมูลค่า 6,256,757,486.60 บาท และจัดสรรให้ บมจ.ยูซิตี้ (U) จำนวน 136,119,587 หุ้น คิดเป็นมูลค่าไม่น้อยกว่า 4,129,459,910.82 บาท
พร้อมกันนั้น จะออกและเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญของบริษัท ครั้งที่ 6 (JMART-W6) จำนวน 42,060,884 หน่วย จัดสรรให้ VGI จำนวน 25,337,882 หน่วย และ U จำนวน 16,723,002 หน่วย อัตราการใช้สิทธิ 1 หน่วยใบสำคัญแสดงสิทธิ JMART-W6 ต่อ 1 หุ้นสามัญ วันครบกำหนดอายุไม่เกิน 3 ปี 9 เดือนนับแต่วันที่ออก และราคาใช้สิทธิ 30.3370 บาทต่อหุ้น โดยจะจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 42,060,884 หุ้น รองรับการใช้สิทธิ JMART-W6
รวมทั้งจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 381,326 หุ้น รองรับการใช้สิทธิ JMART-W3 และ JMART-W4
ภายหลังจากการออกและจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ผู้ลงทุนแต่ละราย และผู้ลงทุนแต่ละรายได้ใช้สิทธิ JMART-W6 ครบทั้งจำนวน จะทำให้ VGI ถือหุ้น 206,241,800 หุ้น หรือคิดเป็น 15% ของจำนวนหุ้นที่ออกและจำหน่ายได้แล้วทั้งหมด และ U ถือหุ้น 136,119,587 หุ้น หรือคิดเป็น 9.90% พร้อมทั้งจะตัวแทนเข้ามาเป็นกรรมการใหม่ 1 คน คือนายกิติพัฒน์ ชลวุฒิ เพื่อรองรับการขยายตัวของการดำเนินธุรกิจของบริษัท
บริษัทกำหนดการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 2/2564 ในวันที่ 1 พ.ย.กำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิในการเข้าร่วมประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 2/2564 (Record Date) ในวันที่ 10 ก.ย.64
JMARTจะระดมทุนจากการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุน PP ครั้งนี้เพื่อใช้ในการลงทุนโดยการเพิ่มทุนให้บริษัทย่อยของบริษัทตามสิทธิ ได้แก่ บมจ. เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส (JMT) จำนวน 5,384.27 ล้านบาท และ บมจ. ซิงเกอร์ประเทศไทย (SINGER) จำนวน 1,232.09 ล้านบาท และใช้เป็นเงินทุนสำหรับการชำระคืนเงินกู้ยืมบางส่วนให้แก่สถาบันการเงิน จำนวน 3,769.86 ล้านบาท
*SINGER ออกหุ้นเพิ่มทุน-วอร์แรนต์จัดสรร U,เตรียมออกหุ้นกู้ 2 พันลบ.
ขณะที่ SINGER เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทมีมติอนุมัติให้รลดทุนจดทะเบียนจาก 702,000,000.00 บาท เป็น 533,009,737.00 บาท โดยการตัดหุ้นสามัญจดทะเบียนที่ยังไม่ได้จำหน่าย จากนั้นให้เพิ่มทุนจดทะเบียน เป็น 838,017,578.00 บาท โดยการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุน 305,007,841 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้น ละ1.00 บาท
(1) จัดสรรหุ้นเพิ่มทุนเสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วน (Rights Offering) จำนวน 96,341,464 หุ้น อัตราส่วนการจัดสรรจะอยู่ในช่วง 5.171-5.533 หุ้นเดิม ต่อ 1 หุ้นสามัญเพิ่มทุน ราคาเสนอขายหุ้นละ 36.3005 บาท รวมเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 3,497,243,313.93 บาท
(2) จัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนเพื่อเสนอขายให้แก่ PP จำนวนไม่เกิน 197,108,696 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1.00 บาท ราคาเสนอขายหุ้นละ 36.3005 บาท รวมเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 7,155,144,219.15 บาท ให้แก่ U ซึ่งจะทำให้ U เข้าถือหุ้นในสัดส่วน 24.90%
และ (3) จัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนเพื่อรองรับการใช้สิทธิของใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัทฯ ครั้งที่3 (SINGER-W3) จำนวน 11,557,681 หน่วย โดยไม่คิดมูลค่าการเสนอขาย ให้แก่ U อายุใบสำคัญแสดงสิทธิไม่เกิน 1 ปี 6 เดือน อัตราการใช้สิทธิ 1 หน่วยใบสำคัญแสดงสิทธิ ต่อ 1 หุ้นสามัญ ราคาใช้สิทธิ 36.3005 บาทต่อหุ้น
พร้อมกันนั้น คณะกรรมการบริษัทมีมติให้ออกและเสนอขายหุ้นกู้วงเงินเพิ่มเติมไม่เกิน 2,000 ล้านบาท วัตถุประสงค์เพื่อชำระคืนหนี้คงค้างและ/หรือใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน รวมทั้งการขยายธุรกิจ
ขณะที่ U ระบุว่าธุรกรรมการเข้าลงทุนใน JMART และ SINGER จะแล้วเสร็จสมบูรณ์ภายในไตรมาส 4/64 โดย แหล่งเงินทุนที่ใช้จะมาจากเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน 10,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยอยู่ระหว่าง 2-5% ต่อปี ทั้งนี้การกู้ยืมจากสถาบันการเงินดังกล่าว ไม่มีเงื่อนไขที่มีผลกระทบต่อสิทธิของผู้ถือหุ้นแต่อย่างใด และแหล่งเงินทุนส่วนที่เหลือจากกระแสเงินสด ทั้งนี้ การใช้เงินลงทุนดังกล่าวไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของบริษัทฯ และความสามารถในการจ่ายเงินปันผลแก่ผู้ถือหุ้นแต่อย่างใด
*JMART แจง BTS ช่วยปลดล็อกฐานทุน, หนุน Transform-Synergy
สิ่งที่เข้ามาปลดล็อกในครั้งนี้ คือ การปลดล็อกฐานเงินทุนที่จะเพิ่มขึ้น และแผนการ Transform และ Synergy ร่วมกันในทุกรูปแบบ โดยเป็นการมองระยะยาวไปอีก 3 - 5 ปีจากนี้ ด้วยเม็ดเงินระดมทุนก้อนใหญ่ ที่สามารถรองรับการขยายธุรกิจ แม้ภายใต้สถานการณ์โควิด ก็เชื่อมั่นได้ว่า เจมาร์ทมีแหล่งเงินทุนที่เพียงพอ และมีประสิทธิภาพ
สำหรับแผนการ Synergy ร่วมกันในช่วงต่อจากนี้ คาดจะได้เห็นการขยายฐานลูกค้า การขยายผลิตภัณฑ์และบริการในเครือของเจมาร์ท ในธุรกิจค้าปลีก การเงิน ประกัน และเทคโนโลยี ไปสู่ขอบเขตการให้บริการที่เป็นมากกว่า Online-to-Offline (O2O) โซลูชั่นส์ บนแพลตฟอร์มธุรกิจสื่อโฆษณาของ VGI ธุรกิจบริการชำระเงิน และธุรกิจโลจิสติกส์
ในแง่ของช่องทางการจำหน่าย SINGER ยังถือเป็นเบอร์หนึ่งที่สามารถเข้าถึงลูกค้าผ่านตัวแทนขายที่ครอบคลุมทั่วประเทศ โดยปัจจุบันมีร้านสาขาและแฟรนไชส์รวมกว่า 2,800 แห่ง รวมทั้ง ช่องทางร้านค้ากลุ่มสินค้าเทคโนโลยี JAYMART MOBILE และบริษัทในเครือ เป็นเครือข่ายการกระจายสินค้าและเข้าถึงผู้บริโภคที่แข็งแกร่ง ผสานกับ KERRY เพิ่มโอกาสการต่อยอดธุรกิจโลจิสติกส์ในเครือเจมาร์ทได้รวดเร็วยิ่งขึ้น รวมทั้ง ทางด้านเทคโนโลยีทางการเงิน Blockchain รวมทั้งศึกษาเรื่อง Digital Token และการนำเอา JFIN Token มาใช้บนอีโคซิสเต็มของกลุ่ม BTS เป็นโอกาสในการสร้างระบบนิเวศน์ในเครือเจมาร์ทให้ครบวงจร
นอกจากธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตยิ่งขึ้นแล้ว การเพิ่มทุนครั้งนี้จะเสริมความแข็งแกร่งด้านเงินทุนของกลุ่มเจมาร์ท ทำให้มีงบดุลที่แข็งแกร่งขึ้น มีโอกาสที่เครดิตเรทติ้งจะดีขึ้น และการขยายธุรกิจด้วยต้นทุนการเงินที่ลดลงของ SINGER และ JMT จะสะท้อนกลับมาที่ JMART ในแง่ของกำไรที่โดดเด่นชัดเจน โดยตั้งเป้าภาพรวมปีนี้กำไรเติบโตไม่น้อยกว่า 50% ยังไม่นับรวมการผนึกพันธมิตรต่อยอดธุรกิจใหม่ๆ เพิ่มเติมร่วมกับบริษัท VGI และ U ภายในกลุ่ม BTS
ทั้งนี้ VGI และ U เข้ามาซื้อหุ้นเพิ่มทุนแบบ PP ของ JMART รวมสัดส่วน 24.9% ของทุนที่ชำระแล้ว โดย VGI เข้ามาถือสัดส่วน 15% ส่วน U ถือสัดส่วน 9.9%
พร้อมกันนี้ JMART พร้อมนำเงิน PP ครั้งนี้กว่า 1 หมื่นล้านบาท สนับสนุนแผนเพิ่มทุน (RO) ของ SINGER ราว 1,300 ล้านบาท รองรับการขยายโอกาสในธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อและสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน และอีกส่วนหนึ่งใช้จองซื้อหุ้นเพิ่มทุน (RO) ของ JMT ประมาณ 5,300 ล้านบาท รองรับการซื้อหนี้ด้อยคุณภาพเข้ามาบริหาร
ด้าน SINGER เสนอขายหุ้นเพิ่มทุนแบบ RO และ PP รวมได้เงินกว่า 1 หมื่นล้านบาท มีแผนจะนำเงินที่ได้ 7,700 ล้านบาท ใช้สนับสนุนการขยายพอร์ตสินเชื่อให้เติบโตโดดเด่นด้วยต้นทุนทางการเงินในระดับต่ำมาก และเงินส่วนที่เหลือนำไปคืนหนี้หุ้นกู้ในอีก 2 ปีข้างหน้า