บมจ.บีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส (BGC) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทอนุมัติให้นำเสนอต่อที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งทีf 1/2564 เพื่อพิจารณาและอนุมัติการปรับโครงสร้างธุรกิจพลังงานของบริษัทฯ
1.บริษัทจะจำหน่ายหุ้นสามัญร้อยละ 100 ของจำนวนหุ้นที่ออกและจำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของ บริษัท โซล่า พาวเวอร์ แมเนจเม้นท์ (ประเทศไทย) จำกัด (SPM) ให้แก่บริษัท บีจี เอ็นเนอร์ยี่ โซลูชั่น จำกัด (BGE) โดยจะได้ชำระเป็นหุ้นเพิ่มทุน BGE จำนวน 7,500,000 หุ้น หรือคิดเป็นสัดส่วน 27.27% ของหุ้นที่ออกและจำหน่ายแล้วทั้งหมดของ BGE มูลค่าชำระราคาจำนวน 1,256.25 ล้านบาท
ทั้งนี้ SPM ดำเนินธุรกิจในลักษณะบริษัทโฮลดิ้ง (Holding Company) โดยถือหุ้น 67% ในบริษัท Phu Khanh Solar Power Joint Stock Company (PKS) จัดตั้งในเวียดนาม ประกอบกิจการโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 2 โครงการในจังหวัดฟูเยี้ยน ได้แก่ โครงการ XT 1 ซึ่งเริ่มต้นจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) วันที่ 11 มิ.ย.62 และ โครงการ XT 2 ซึ่งเริ่มต้น COD วันที่ 12 มิ.ย.62 ขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเป็นเวลา 20 ปีนับจากวัน COD กับ Vietnam Electricity (EVN) รัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าในเวียดนาม รวม 99.216 เมกะวัตต์ (กำลังการผลิตติดตั้งรวม 110.025 เมกะวัตต์)
2. บริษัทจะจำหน่ายหุ้นสามัญจำนวน 27,500,000 หุ้น หรือคิดเป็นสัดส่วน 7.35% ของจำนวนหุ้นที่ออกและจำหน่ายแล้วทั้งหมดของ BGE ให้แก่ บมจ.บางกอกกล๊าส (BG) มูลค่าหุ้นละ 167.50 บาท ซึ่งเท่ากับมูลค่าต่อหุ้นของ BGE ที่จะได้รับตามข้อ (1) ให้กับ BG ในจำนวน 338.35 ล้านบาท เนื่องจากนโยบายของบริษัทฯ ที่จะลงทุนในธุรกิจพลังงานในรูปแบบเชิงรับ (Passive Investment) ในสัดส่วนน้อยกว่า 20% ซึ่งมุ่งผลตอบแทนในรูปแบบเงินปันผลเพื่อให้บริษัทฯ สามารถมุ่งเน้นในการประกอบธุรกิจบรรจุภัณฑ์เป็นธุรกิจหลัก (Core business)
3) การให้ SPM จะเข้าทำสัญญากู้ยืมเงินจาก BGE ในวงเงินไม่เกิน 270.00 ล้านบาท เพื่อให้ SPM มีเงินทุนในการชำระเงินกู้ยืมเดิมและดอกเบี้ยค้างชำระที่มีอยู่กับบริษัทฯ โดยการเข้าทำสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวจะมีต้นทุนทางการเงินไม่เกิน 68.92 ล้านบาท
กำหนดวันประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งทีf 1/2564 ในวันที่f 5 พฤศจิกายน 2564 เวลา 14.00 - 16.00 น.
ทั้งนี้ ปัจจุบัน BGE เป็นบริษัทย่อยของ BG ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทฯ โดย BGE ประกอบกิจการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน ซึ่งมีโครงการโรงไฟฟ้ารวมทั้งหมด 15 โครงการในปัจจุบัน โดยมีรายละเอียดดังนี้
(1) โครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบบนหลังคา (Solar Rooftop) ซึ่งอยู่ภายใต้การบริหารจัดการโดย BGE จำนวน 11 โครงการ มีกำลังการผลิตรวม 18.87 เมกะวัตต์
(2) โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามผ่านการถือหุ้นร้อยละ 70 ใน MYSON 1 Solar Power Joint Stock Company (MY SON 1) และ MY SON 2 Solar Power Joint Stock Company (MY SON 2) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่จดทะเบียนจัดตั้งในเวียดนาม ประกอบกิจการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 2 โครงการ ได้แก่ โครงการ MS1 ซึ่งเริ่ม COD วันที่ 30 มิ.ย.63 และ โครงการ MS2 ซึ่งเริ่ม COD วันที่ 29 มิ.ย.63 ตามลำดับ ขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าให้กับ EVN เป็นเวลา 20 ปีนับจากวัน COD รวม 110 เมกะวัตต์ (กำลังการผลิตติดตั้งรวม 111.776 เมกะวัตต์)
และ (3) โครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบบนหลังคา (Solar Rooftop) จำนวน 1 โครงการ และโครงการผลิตไฟฟ้าจาก พลังงานความร้อนเหลือทิ้งด้วยระบบวัฏจักรแรงดัน Organic Rankine Cycle (ORC) จำนวน 1 โครงการซึ่งมีกำลังการผลิตรวม 3.82 เมกะวัตต์ ผ่านการถือหุ้นร้อยละ 75 ในบริษัท บีจี เอ็นซิส จำกัด (BGES) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ BGE ในประเทศไทย
นายศิลปรัตน์ วัฒนเกษตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BGC กล่าวต่อว่า บริษัทเตรียมนำเงินที่ได้จากการจำหน่ายหุ้น BGE และได้รับคืนเงินกู้ยืมจาก SPM มาใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบกิจการหลัก และชำระคืนเงินกู้ยืมระยะสั้นบางส่วนที่มีอยู่ในปัจจุบัน ทั้งนี้ นับจากเดือน ม.ค.64 ถึงปัจจุบัน บริษัทได้ขยายการลงทุนในธุรกิจบรรจุภัณฑ์และลงทุนเตาหลอมแก้วแล้วกว่า 5,000 ล้านบาท ได้แก่ การเข้าถือหุ้น 100% ในบริษัท บีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (BGP) ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายฟิล์มพลาสติก ฝาพลาสติก ขวด PET หลอดพรีฟอร์ม และเข้าถือหุ้น 100% ในบริษัท บางกอกบรรจุภัณฑ์ จำกัด (BVP) ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายบรรจุภัณฑ์กระดาษ ใช้งบลงทุนรวมประมาณ 1,650 ล้านบาท ซึ่งดำเนินการแล้วเสร็จเป็นที่เรียบร้อย
ส่วนการลงทุนก่อสร้างเตาหลอมแก้วแห่งใหม่ในจังหวัดราชบุรี ใช้งบลงทุน 1,600 ล้านบาท และลงทุนขยายกำลังผลิตโรงงานจังหวัดปราจีนบุรี ใช้งบลงทุนรวม 910 ล้านบาท ซึ่งทั้ง 2 โครงการอยู่ระหว่างดำเนินการ คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 66 ซึ่งทำให้มีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นอีกกว่า 13% เป็น 3,935 ตันต่อวัน จากปัจจุบันอยู่ที่ 3,495 ตันต่อวัน
นอกจากนี้ ได้ขยายกำลังการผลิตถุงบรรจุภัณฑ์พลาสติกชนิดอ่อน (Flexible Packaging) ในบริษัท บีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (BGP) เพื่อตอบสนองความต้องการถุงบรรจุภัณฑ์ในประเทศที่มีอัตราการเติบโตสูงและขยายฐานลูกค้าในอุตสาหกรรมต่าง ๆ รวมถึงต่อยอดเข้าสู่ธุรกิจกลางน้ำ เพื่อผลิตและจำหน่ายบรรจุภัณฑ์พลาสติกชนิดอ่อน โดยใช้งบลงทุนกว่า 180 ล้านบาท คาดว่าจะเริ่มดำเนินการไตรมาส 1/65 และผลิตสินค้าเพื่อจำหน่ายในไตรมาส 1/2566
"จากการที่รัฐบาลได้ผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ให้รับประทานอาหารภายในร้านอาหารได้บางส่วน ตั้งแต่ต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้รับผลดีจากการจำหน่ายขวดบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มและน้ำดื่มเพิ่มขึ้น และถ้าสถานการณ์ยังดีอย่างต่อเนื่อง เราคาดว่ารัฐบาลจะทยอยผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์อย่างต่อเนื่องในไตรมาสสุดท้าย ซึ่งจะทำให้เกิดการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ในช่วงปลายปีและกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกต่อผลประกอบการของบริษัทฯ ในปีนี้ ที่จะมีรายได้และกำไรเติบโตกว่าปีก่อน" นายศิลปรัตน์ กล่าวทิ้งท้าย