บมจ.การบินไทย (THAI) ได้นำส่งงบการเงินสำหรับงวดเก้าเดือนสิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย.64 ซึ่งผู้สอบบัญชีได้สอบทานและรับรองงบการเงิน โดยไม่แสดงความเห็นด้วยเหตุที่ให้พิจารณาสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อความไม่แน่อนต่อการดำเนินงานของบริษัท ดังนี้ 1.การขาดสภาพคล่องทางการเงินและการผิดนัดชำระหนี้ โดยฐานะการเงินของกลุ่มบริษัทและบริษัทฯ ณ วันที่ 30 ก.ย.64 กลุ่มบริษัทมีหนี้สินหมุนเวียนสูงกว่าสินทรัพย์หมุนเวียนอย่างมีนัยสำคัญ จำนวน 36,715 ล้านบาท และมีผลขาดทุนเกินทุนจำนวน 76,493 ล้านบาท ในงบการเงินรวม และบริษัทมีหนี้สินหมุนเวียนสุงกว่าสินทรัพย์หมุนเวียนจำนวน 32,779 ล้านบาท และมีผลขาดทุนเกินทุนจำนวน 71,910 ล้านบาท ในงบการเงินเฉพาะกิจการ
2. ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ต่อการดำเนินงานของกลุ่มบริษัท โดยมีผลกระทบต่อธุรกิจและอุตสากรรมส่วนใหญ่ โดยเฉพาะธุรกิจการบิน
3. การเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ
ทั้งนี้ บริษัทชี้แจงว่า การที่ผู้สอบบัญชีไม่แสดงความเห็นต่องบการเงินรวมของบริษัทฯ และบริษัทย่อย และงบการเงินเฉพาะกิจการของบริษัทฯ สำหรับงวดเก้าเดือนสิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย.64 ไม่ได้มีสาเหตุจากการถูกจำกัดขอบเขตโดยผู้บริหารหรือการไม่สามารถหาหลักฐานการตรวจสอบงบการเงินได้
แต่เกิดจากผลกระทบต่อความไม่แน่นอนตามสถานการณ์ดังกล่าวข้างต้น ซึ่งการเข้าสู่ศาลล้มละลายกลางเป็นกระบวนการตามปกติของการฟื้นฟูกิจการตามกฎหมายสำหรับกิจการที่ยังมีโอกาสในทางธุรกิจที่จะดำเนินงานต่อไปได้ในระยะยาว
ในส่วนการดำเนินงานตามปกติที่หยุดทำการชั่วคราวจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นั้น บริษัทฯได้ให้บริการเที่ยวบินระหว่างประเทศบางส่วนโดยบริษัทฯได้ปรับเพิ่มเส้นทางบินที่ให้บริการเริ่มตั้งแต่วันที่ 31 ต.ค.64- 26 มี.ค.65 รวมถึงการให้บริการเที่ยวบินพิเศษในการรับคนไทยและต่างชาติกลับประเทศ
และบริษัทฯยังคงมีแนวทางดำเนินธุรกิจเพื่อสร้างรายได้ในหลายด้าน เช่น การขนส่งสินค้า บริการด้านภัตตาคาร บริการภาคพื้นอื่นๆ ทั้งนี้บริษัทฯ ได้ดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการอย่างเต็มที่ พร้อมให้บริษัทเต็มรูปแบบ อีกทั้งช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศ
สำหรับผลการดำเนินการในงวดเกาเดือนแรกของปี 2564 บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิในงวดเก้าเดือนแรกของ ปี 2564 จำนวน 51,115 ล้านบาท ในขณะที่บริษัทฯ และบริษัทย่อย ปีก่อนขาดทุนสุทธิ 49,561 ล้านบาท โดยเป็นกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ 51,121 ล้านบาท คิดเป็นกำไรต่อหุ้น 23.42 บาท ในขณะที่ปีก่อนขาดทุนต่อหุ้น 22.70 บาท โดยมี EBITDA เป็นลบ จำนวน 9,639 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 5,044 ล้านบาท EBITDA Margin เท่ากับ -64.2% เปรียบเทียบกับปีก่อนที่เท่ากับ -10.4%
มีรายได้รวมทั้งสิ้น 14,990 ล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อน 29,230 ล้านบาท หรือ 66.1% สาเหตุหลักเกิดจากรายได้จากการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าลดลง 29,185 ล้านบาท (76.5%) รายได้จากการบริการอื่นๆ ลดลง 1,288 ล้านบาท (24.1%) เนื่องจากมาตรการจำกดการเดินทางระหว่างประเทศทั้งของประเทศไทยและประเทศต่าง ๆ แต่มีรายได้อื่นเพิ่มขึ้น 1,243 ล้านบาท มีสาเหตุหลักจากการรับรู้รายได้ที่เกิดจากการหักกลบลบหนี้ ค่าบริการรายเดือนและการซ่อมบำรุงตามสัญญาที่ค้างชำระตามข้อตกลงระงับข้อพิพาทเรียกร้องค่าเสียหายที่เกี่ยวข้องกับการชำรุดของเครื่องยนต์
สำหรับค่าใช้จ่ายรวมทั้งสิ้น 36,481 ล้านบาท ต่ำว่าปี ก่อน 41,695 ล้านบาท (53.3%) เนื่องจากค่าใช้จ่ายดำเนินงานที่แปรผันตามปริมาณการผลิตและ/หรือปริมาณการขนส่งลดลง และถึงแม้จะมีการดำเนินมาตรการเพื่อลดค่าใช้จ่ายที่เข้มงวดอย่างต่อเนื่อง แต่ยังไม่เพียงพอที่จะชดเชยรายได้ที่สูญเสียไปจากการที่ไม่สามารถทำการบินได้ตามปกติ ส่งผลให้ขาดทุนจากการดำเนินงานไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว 21,491 ล้านบาท แต่ขาดทุนลดลงจากปี ก่อน 12,465 ล้านบาท (36.7%)
ในงวดเก้าเดือนแรกของปี 2564 บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว-สุทธิ เป็นรายได้รวม 73,084 ล้านบาท ประกอบด้วย
- กำไรจากการขายเงินลงทุน 2,202 ล้านบาท
- กำไรจากการขายทรัพย์สินจำนวน 628 ล้านบาท
- กำไรจากการปรับโครงสร้างหนี้ จำนวน 60,730 ล้านบาท
- เงินชดเชยโครงการร่วมใจจากองค์กร 4,936 ล้านบาท
- เงินชดเชยกรณีเลิกจ้างพนักงาน 1,222 ล้านบาท
- การปรับปรุงรายการผลประโยชน์พนักงาน ลดลง 8,323 ล้านบาท จากการปรับโครงสร้างองค์กร และผลประโยชน์ของพนักงาน
- ผลขาดทุนจากการด้อยค่าของเครื่องบินและสินทรัพย์สิทธิการใช้และอุปกรณ์การบินหมุนเวียน (กลับรายการ) จำนวน 18,440 ล้านบาท
- ผลขาดทุนจากการด้อยค่าซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 (กลับรายการ)จำนวน 116 ล้านบาท
- ขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศจำนวน 11,197 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการตีมูลค่าทางบัญชีของหนี้สินที่เป็นเงินตราต่างประเทศ รวมหนี้สินตามสัญญาเช่าดำเนินงานเครื่องบิน ตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 16