นายสุเมธ ตันธุวนิตย์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.อาร์ ซี แอล (RCL) แจ้งงบการเงินของบริษัทฯและบริษัทย่อยสำหรับงวดไตรมาสสามสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2550 ว่า จากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องของภูมิภาคยุโรป และตะวันออกกลางส่งผลให้
การขนส่งจำนวนตู้ประเภทคู่ค้ากับสายเรือใหญ่เพิ่มขึ้นเป็น 371,247 ตู้ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 17 เมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกันของปีที่ผ่านมา ส่วนการขนส่งตู้ประเภทที่กลุ่มเป็นเจ้าของและดำเนินการขนส่งเองเพิ่มขึ้นเป็น 349,068 ตู้หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 7 เมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกันของปีที่ผ่านมา
ในงวดไตรมาสสามสิ้นสุด 30 กันยายน 2550 ระวางบรรทุกตู้สินค้าของกลุ่มโดยรวมมีจำนวน 720,315 ตู้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 12 เมื่อเปรียบเทียบกับงวดไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมา สำหรับงวด 9 เดือนสิ้นสุด 30 กันยายน 2550 ตู้สินค้าประเภทคู่ค้ากับสาย
เรือใหญ่และตู้สินค้าประเภทที่กลุ่มดำเนินการเองมีจำนวน 1,054,429 ตู้ และ 993,910 ตู้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 17 และร้อยละ7 ตามลำดับ หรือเพิ่มขึ้นรวมทั้ง 2 ประเภทเป็น 2,048,339 ตู้ เพิ่มขึ้นโดยรวมร้อยละ 12 เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา
บริษัทฯและบริษัทย่อยมีรายได้รวมก่อนอัตราแลกเปลี่ยน สำหรับงวดไตรมาสสามนี้จำนวน 5,181 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับรายได้รวมก่อนอัตราแลกเปลี่ยนในงวดไตรมาสเดียวกันของ ปี 2549 จำนวน 5,222 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 1 ดังที่ได้เคยกล่าวไว้แล้วว่ารายได้ที่ลดลงเป็นผลจากรายได้ของกลุ่มอยู่ในสกุลเงินเหรียญสหรัฐ ในขณะที่รายงานผลการดำเนินงานเป็นเงินบาท เงินเหรียญสกุลสหรัฐที่อ่อนค่าลงเมื่อเปรียบเทียบกับค่าเงินของภูมิภาคนี้ที่แข็งค่าขึ้นโดยเงินบาทแข็งค่าขึ้นร้อยละ 9 เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา ส่งผลให้รายได้ของกลุ่มเมื่อแปลงค่าเป็นเงินบาทลดลง
นอกจากนี้แล้ว ตู้ขนส่งประเภทคู่ค้ากับสายเรือใหญ่เพิ่มขึ้นในอัตรามากกว่าตู้ขนส่งประเภทที่กลุ่มดำเนินการขนส่งเอง ซึ่งรายได้จากการขนส่งประเภทคู่ค้ากับสายเรือใหญ่จะต่ำกว่า ประเภทที่กลุ่มดำเนินการเองเมื่อเปรียบเทียบราคาระวางตู้ต่อตู้ ทำให้ระวางขนส่งโดยรวมถัวเฉลี่ยต่อตู้ลดลง ท้ายสุดอัตราค่าระวางแถบภูมิภาคเอเซียที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนั้นยังคงต่ำอยู่เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมา
สำหรับงวด 9 เดือนสิ้นสุด 30 กันยายน 2550 บริษัทฯและบริษัทย่อยมีรายได้รวมก่อนอัตราแลกเปลี่ยน 15,081 ล้านบาท ลดลงร้อยละ2 เมื่อเปรียบเทียบกับงวดสิ้นสุดเดียวกันของปี 2549 จำนวน 15,338 ล้านบาท ตรงข้ามกับรายได้สกุลเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นและต้นทุนการเดินเรือที่อยู่ในสกุลเงินเหรียญสหรัฐส่งผลให้ต้นทุนการเดินเรือลดลงทั้งที่ระวางบรรทุกของกลุ่มเพิ่มขึ้นร้อยละ 12 ต้นทุนการเดินเรือสำหรับงวดไตรมาสสามนี้มีจำนวน 4,211 ล้านบาท ลดลงร้อยละ4 เมื่อเปรียบเทียบกับงวดไตรมาสเดียวกันของปี 2549 จำนวน 4,373 ล้านบาท ราคาน้ำมันยังคงพุ่งขึ้นอย่างมากตั้งแต่เดือนมีนาคมและต่อเนื่องตลอดไตรมาสสามนี้ ต้นทุนการเดินเรือในรายการอื่น ๆ นั้นเพิ่มขึ้นตามระวางบรรทุกที่เพิ่มขึ้นและจำนวนเรือที่เพิ่มขึ้น
สำหรับงวด 9เดือนนี้ ต้นทุนการเดินเรือโดยรวมมีจำนวน 12,018 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 4 เมื่อเปรียบเทียบกับงวดสิ้นสุดเดียวกันของปี 2549 จำนวน 12,447 ล้านบาท
สำหรับงวดไตรมาสสามสิ้นสุด 30 กันยายน 2550 บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีผลกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน 95.3 ล้านบาทเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2549 จำนวน 69.8 ล้านบาท สำหรับงวด 9 เดือนสิ้นสุด 30 กันยายน 2550 บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีผลกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนจำนวน 143.5 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับ 9 เดือนแรกของปี 2549 จำนวน 297.7 ล้านบาท เงินสดคงเหลือในมือของบริษัท ฯ และบริษัทย่อย ณ สิ้นสุด 30 กันยายน 2550 มียอดคงเหลือ1,392 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 18เงินสดคงเหลือในมือที่ลดลงเป็นผลจาก บริษัทย่อยแห่งหนึ่งในสิงคโปร์ได้ชำระค่าต่อสร้างเรือจำนวนสองลำที่ได้สั่งซื้อเมื่อต้นปีจากยอดเงินสดในมือของกลุ่มโดยชำระในอัตรา50% ของค่าต่อสร้างเรือและเป็นการยืดระยะเวลาของการรับงวดเงินกู้จำนวน 24.8 ล้าน เหรียญ
โดยรวมแล้ว แม้ระวางบรรทุกจะเพิ่มขึ้น แต่ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นค่าระวางที่คงที่เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2549 และค่าระวางถัวเฉลี่ยต่อตู้ลดลง ส่งผลให้บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิรวมสำหรับงวดไตรมาสสามสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2550 จำนวน 608 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 39 เมื่อเปรียบเทียบกับงวดไตรมาสเดียวกันของปี 2549 ที่มีกำไรสุทธิรวม 439 ล้านบาทสำหรับงวด 9 เดือนสิ้นสุด 30 กันยายน 2550 บริษัท ฯ และบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ 1,877 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 2 เมื่อเปรียบเทียบกับงวดสิ้นสุดเดียวกันของปี 2549 ที่มีกำไรสุทธิ 1,922 ล้านบาท
--อินโฟเควสท์ โดย จำเนียร พรทวีทรัพย์/รัชดา โทร.0-2253-5050 ต่อ 317 อีเมล์: rachada@infoquest.co.th--