บมจ.ทีพีชี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง (TPCH) เปิดเผยว่า โรงไฟฟ้าสยาม พาวเวอร์ โรงไฟฟ้าจากขยะมูลฝอย Landfill ที่ตั้งโครงการ ตำบลคลองขวาง อำเภอไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี ซึ่งเป็นกิจการร่วมค้าของ TPCH ได้เริ่มมีการจำหน่ายกระแสไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) กับการไฟฟ้านครหลวง โดยมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 8 เมกะวัตต์ และกำลังการผลิตติดตั้ง 9.5 เมกะวัตต์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยเป็นโรงไฟฟ้าจากขยะมูลฝอย Landfill โรงที่ 1 ของ TPCH ที่ได้จ่ายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้านครหลวง
นางกนกทิพย์ จันทร์พลังศรี ประธานคณะกรรมการบริหาร TPCH เปิดเผยว่า โรงไฟฟ้าขยะ SP ซึ่งเป็นกิจการร่วมค้าที่ TPCH เข้าไปลงทุนที่ 50% และ กลุ่มนายทวี จงควินิต อีก 50% และยังเป็นโรงไฟฟ้าขยะแห่งแรกของ TPCH ได้ COD เรียบร้อยแล้ว จะทำให้บริษัทมีกำลังการผลิตรวมทั้ง โครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล และโครงการโรงไฟฟ้าขยะเพิ่มขึ้นเป็น 116.3 เมกะวัตต์ จากเดิมที่มีกำลังการผลิตรวมเฉพาะโรงไฟฟ้าชีวมวล 10 แห่ง อยู่ที่ 106.8 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าชีวมวล CRB, MWE, MGP, TSG, PGP, SGP, PTG, TPCH 5, TPCH 1 และ TPCH 2 ในส่วนของโรงไฟฟ้าประชารัฐชีวมวล แม่ลานและโรงไฟฟ้าประชารัฐชีวมวล บันนังสตา อยู่ระหว่างการก่อสร้างซึ่งมีแผนกำหนด COD ในปีหน้า
นายทวี จงควินิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สยาม พาวเวอร์ จำกัด (SP) กล่าวว่า โรงไฟฟ้า สยาม พาวเวอร์ (SP) ได้นำเทคโนโลยีที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพสูง เพื่อนำมาคัดแยกเชื้อเพลิงขยะจากหลุมฝังกลบเดิมของอบจ.นนทบุรี เพื่อนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ด้วยเตาเผาระบบฟลูอิดไดซ์เบดแบบหมุนเวียน(CFB) มีระบบบำบัดอากาศจากการเผาไหม้ (FlueGas Treatment) และมีระบบควบคุมการบำบัดอากาศอย่างต่อเนื่อง (CEMs) ที่จะทำการตรวจวัดคุณภาพอากาศตลอด 24 ชั่วโมง ก่อนระบายออกสู่ปล่องระบายอากาศ
นอกจากนี้ อยู่ระหว่างการศึกษาและพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าขยะเพิ่มเติมภายใต้ สยาม พาวเวอร์ จำกัด อีกประมาณ 4-6 แห่ง โดยจะเป็นโรงไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) ที่คาดว่าจะได้รับอัตราค่าไฟฟ้ารับซื้อที่สูง และคาดว่าจะเห็นความชัดเจนภายในปี 65
ขณะเดียวกัน เมื่อมีการ COD โรงไฟฟ้าขยะ สยาม พาวเวอร์แล้ว ยังได้จัดตั้งเป็นศูนย์การเรียนรู้เพื่อแบ่งปันองค์ความรู้และนำเสนอสาระดีๆ ที่เกี่ยวกับขั้นตอนการจัดการขยะเพื่อนำไปเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้า โดยนำขยะจากหลุมฝังกลบขยะมูลฝอยเดิมขององค์การบริหารส่วนจังหวัดนนทบุรีมาใช้ประโยชน์เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตพลังงานไฟฟ้า ทั้งนี้ เพื่อสนองนโยบายรัฐบาลในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมให้เติบโตควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อม
"ภายในศูนย์การเรียนรู้ฯ จะทำให้ทราบถึงขั้นตอนต่างๆ ในการจัดการขยะเพื่อเปลี่ยนเป็นเชื้อเพลิงขยะ ไปจนถึงกระบวนการนำเชื้อเพลิงขยะมาผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้า โดยมีการนำสื่อเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาประกอบการเรียนรู้เพื่อให้เข้าใจมากยิ่งขึ้น และยังสามารถมองเห็นการปฏิบัติงานจริงของเครื่องจักร และเจ้าหน้าที่ภายในอาคารได้แบบ 180 องศา อีกด้วย คาดว่าการก่อสร้างจะแล้วเสร็จและสามารถเปิดให้เข้าชมได้ภายในต้นเดือนเมษายน 2565"นายทวี กล่าว
ทั้งนี้ TPCH ยังมองหาโอกาสการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าใหม่ๆ เพิ่มเติม โดยเฉพาะโครงการของภาครัฐ ซึ่ง TPCH มีความพร้อมในการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้า ทั้งชีวมวล ขยะ เนื่องจากบริษัทมีความชำนาญ และมีประสบการณ์ในการดำเนินงานอยู่แล้ว และหากภาครัฐเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าขยะชุมชนเพิ่มเติม ตามแผน PDP 2022 ฉบับใหม่ บริษัทมีความพร้อมเข้าร่วมโครงการ เพื่อเป้าหมายการมีกำลังการผลิตโรงไฟฟ้าขยะ 50 เมกะวัตต์ โดยมีเป้าหมายการมีกำลังการผลิตโรงไฟฟ้าประเภทชีวมวล ชีวภาพ ขนาด 200 เมกะวัตต์ และจะทำให้บริษัทฯ มีกำลังการผลิตไฟฟ้าทุกประเภทรวมอยู่ที่ 250 เมกะวัตต์ภายในปี 66