บมจ.เสริมสร้าง พาวเวอร์ คอร์ปอเรชั่น (SSP) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 3/2565 เมื่อวันที่ 20 พ.ค.65 มีมติการจำหน่ายโครงการฮิดากะ ซึ่งเป็นโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศญี่ปุ่น มีกำลังการผลิตติดตั้ง 21 เมกะวัตต์ โดย Surge Energy Corporation Limited (SEG) (ซึ่งเป็นบริษัทย่อยในต่างประเทศของบริษัทที่ S.Global Power Limited ถือหุ้นจำนวน 100%) ดำเนินการจำหน่ายสัดส่วนการลงทุนทีเค ทั้งหมด (TK Investor) จำนวน 86.91% ใน SS Hidake No Mori G.K.(SSH) ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการฮิดาเกะ ให้กับ ZEC1 Godo Kaisha เป็นผู้ซื้อ ซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจพลังงานทดแทนในประเทศญี่ปุ่น มูลค่า 2,800 ล้านเยน หรือเทียบเท่ากับ 718.18 ล้านบาท
โครงการฮิดากะ ตั้งอยู่ในฮอกไกโด กำลังการผลิต 21 เมกะวัตต์ /17 เมกะวัตต์ มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 20 ปี กับบริษัทไฟฟ้าฮอกไกโด ที่สิ้นสุดสัญญา มี.ค.81 ซึ่งโครงการดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้วตั้งแต่ 1 มี.ค.61
นายวรุตม์ ธรรมาวรานุคุปต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เสริมสร้าง พาวเวอร์ คอร์ปอเรชั่น (SSP) กล่าวว่า บริษัทฯ ได้ทำสัญญาขายโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ฮิดากะ ในประเทศญี่ปุ่นขนาด 17 เมกะวัตต์ มูลค่าประมาณ 718 ล้านบาท ให้กับกลุ่มทุนญี่ปุ่น โดยบริษัทฯ จะรับรู้กำไรเข้ามาในไตรมาส 2/65 ทันที และเตรียมนำเงินที่ได้ไปใช้ขยายการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) ทุกรูปแบบ เพื่อไปสู่เป้าหมายกำลังการผลิตไฟฟ้าแตะ 500 เมกะวัตต์ ภายในปี 2568
"ดีลนี้ทำให้เราได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนในโครงการนี้เพิ่มขึ้นมาก เพราะผู้ลงทุนใหม่ให้ความสำคัญกับธุรกิจพลังงานสะอาดที่มีส่วนช่วยลด Carbon Emission โดยเรามีแผนที่จะนำเงินที่ได้รับบางส่วนย้อนกลับไปลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าใหม่ในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งคาดว่าจะเริ่มปลายปีนี้ และเป็นทุนที่เตรียมไว้ลงทุนโครงการอื่นๆที่มีอยู่ในมืออีกมากในปัจจุบัน" นายวรุตม์ กล่าว
ทั้งนี้ในช่วงที่ผ่านมา SSP ได้มีการขยายการลงทุนในธุรกิจพลังงานทดแทนที่หลากหลายมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างโอกาสในการเพิ่มผลตอบแทน และกระจายความเสี่ยงธุรกิจ ซึ่งไม่ได้มีเฉพาะแค่โซลาร์ฟาร์มในประเทศ และต่างประเทศเพียงเท่านั้น แต่ที่ผ่านมาบริษัทยังประสบความสำเร็จในการลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล ขนาดกำลังการผลิต 9.9 เมกะวัตต์ ,โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมในประเทศเวียดนาม ขนาดกำลังการผลิต 48 เมกะวัตต์ และวินด์ชัยฟาร์มขนาดกำลังการผลิต 45 เมกะวัตต์ ในสัดส่วน 25%
เห็นได้ชัดว่าพอร์ตโรงไฟฟ้าของ SSP ไม่ได้มีเฉพาะโซลาร์ฟาร์มเพียงเท่านั้น ตลอดช่วงเวลา 1 ปีที่ผ่านมา บริษัทฯ ประสบความสำเร็จในการขยายการลงทุนทำให้ SSP เป็นผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนเต็มรูปแบบ โดยใช้กลยุทธ์ทำ M&A strategy มากขึ้น รวมถึงการลงทุนใน brown field โดยการเข้าซื้อโครงการใหม่ที่ให้ผลตอบแทนที่สูงอย่างโครงการพลังงานลมและชีวมวล และขายโครงการโซลาร์ฟาร์มโครงการนี้เพื่อหมุนเงินทุนมาต่อยอดโครงการใหม่ๆ ต่างจากในอดีตที่เราทำแต่ green field โดยเชื่อว่าหลังจากนี้จะได้เห็นพัฒนาการในการเติบโตอย่างชัดเจนของบริษัทฯ
ปัจจุบันบริษัทฯ มีฐานะทางการเงินที่มีความแข็งแกร่ง และการขายโรงไฟฟ้าญี่ปุ่นในครั้งนี้ ยิ่งเป็นแรงหนุนให้ฐานเงินทุนมีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้น รองรับแผนการขยายพอร์ตโรงไฟฟ้า Renewable ทุกรูปแบบ โดยวางเป้าปี 68 มีกำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มเป็นเท่าตัว แตะที่ระดับ 500 เมกะวัตต์ โดยมีสัดส่วนจากแหล่งพลังงานใหม่ๆ เช่นพลังงานลม หรือ ชีวมวล เพิ่มมากขึ้นจากเดิมที่กระจุกตัวอยู่แต่พลังงานจากแสงอาทิตย์ ซึ่งจะทำให้ภาพรวมผลการดำเนินงานของบริษัทฯ เติบโตอย่างมีเสถียรภาพ สร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ถือหุ้น